คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

มารดาที่ผ่าตัดเสริมเต้านมมีโอกาสให้นมแม่ได้น้อยลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          ค่านิยมเรื่องการเสริมเต้านมในสตรีนั้นในปัจจุบันได้รับการยอมรับทางสังคมและมีการผ่าตัดเสริมเต้านมสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเสริมเต้านมในมารดาในทางการแพทย์อาจมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น มีการศึกษาในประเทศฝรั่งเศสที่มีการผ่าตัดเสริมเต้านมสตรีจำนวน 1073 ราย มีสตรีที่ตั้งครรภ์และคลอดจำนวน 75 ราย มี 51 รายที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า มารดาที่มีการผ่าตัดเสริมเต้านมโดยใส่วัสดุเสริมเต้านมหลังต่อมน้ำนม (retroglandular implant) จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้น้อยกว่ามารดาที่มีการผ่าตัดเสริมเต้านมโดยใส่วัสดุเสริมเต้านมหลังกล้ามเนื้อหน้าอก (retromuscular implant)1 ดังนั้นในมารดาที่วางแผนตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมและควรเลือกวิธีที่เกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Bompy L, Gerenton B, Cristofari S, et al. Impact on Breastfeeding According to Implant Features in Breast Augmentation: A Multicentric Retrospective Study. Ann Plast Surg 2019;82:11-4.

 

 

การมีธนาคารนมแม่ช่วยลดการเสียชีวิตของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            นมแม่นั้นมีประโยชน์ที่ทราบกันอยู่แล้วว่า จะช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันของทารกซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิตของทารกได้ ในกรณีที่ทารกป่วยแล้วจำเป็นต้องการการดูแลเป็นพิเศษที่หอทารกวิกฤต หากมีการเตรียมให้มารดาบีบหรือปั๊มนมให้มาให้แก่ทารก จะช่วยป้องกันการเกิดการอับเสบเน่าของลำไส้ (necrotizing enterocolitis) และช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย อย่างไรก็ตาม ในมารดาบางคนอาจมีปัญหาในการเริ่มต้นการกระตุ้นนมแม่ช้าหรือขาดการส่งเสริมที่จะให้มารดาได้บีบหรือปั๊มนมหากมารดาจำเป็นต้องแยกจากทารกตั้งแต่ในระยะแรก ทำให้มารดาขาดน้ำนมที่จะมาให้แก่ทารก แม้ว่าการให้นมของมารดาแก่ทารกของตนเองน่าจะดีที่สุด แต่การมีการรับบริจาคนม ตรวจคัดกรอง และสร้างให้เกิดธนาคารนมแม่ที่จะรองรับมารดาในกลุ่มที่มีความจำเป็นที่ไม่สามารถจะให้ลูกกินนมของตนเองได้ ก็ยังเกิดประโยชน์แก่ทารก โดยมีการศึกษาพบว่าสามารถช่วยลดการเสียชีวิตของทารก ลดการเกิดการอักเสบเน่าของลำไส้ และช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกกลุ่มนี้ด้วย1

เอกสารอ้างอิง

  1. Adhisivam B, Vishnu Bhat B, Banupriya N, Poorna R, Plakkal N, Palanivel C. Impact of human milk banking on neonatal mortality, necrotizing enterocolitis, and exclusive breastfeeding – experience from a tertiary care teaching hospital, south India. J Matern Fetal Neonatal Med 2019;32:902-5.

 

 

นมแม่ช่วยป้องกันโรคไขมันเกาะตับ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            เป็นที่ทราบกันดีว่า การให้ลูกได้กินนมแม่จะมีประโยชน์ต่อภูมิคุ้มกันของทารก ทารกที่กินนมแม่จะมีโอกาสติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อได้น้อยกว่า นอกจากนี้ผลดีของการที่ลูกได้กินนมแม่ยังส่งผลต่อโรคไม่ติดต่อหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับโรคทางเมตาบอลิก (metabolic disease) เบาหวาน และโรคอ้วน ซึ่งเป็นโรคอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตเมื่อทารกเจริญเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และเช่นเดียวกันกับโรคทางเมตาบอลิกอื่น ๆ การให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนจะช่วยป้องกันการเกิดโรคไขมันเกาะตับ (non-alcoholic  fatty liver disease) เมื่อทารกเจริญเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นได้1 นอกจากการให้ลูกได้กินนมแม่เพื่อป้องกันโรคไขมันเกาะตับแล้ว การเตรียมตัวของมารดาที่ดีที่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์คือ ควบคุมให้ดัชนีมวลกายก่อนการตั้งครรภ์ของมารดาปกติ ไม่อยู่ในภาวะอ้วน จะช่วยป้องกันการเกิดโรคไขมันเกาะตับในทารกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Nobili V, Schwimmer JB, Vajro P. Breastfeeding and NAFLD from the maternal side of the mother-infant dyad. J Hepatol 2019;70:13-4.

บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลนมแม่จำเป็นต้องมีการศึกษาต่อเนื่อง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ความรู้และเทคโนโลยีในการรักษาพยาบาลในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ข้อมูลที่เคยใช้แนะนำมารดาและทารกในอดีต ปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่เคยผ่านการอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาตรฐานมาแล้ว ก็ควรมีการอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องเพื่อรับข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยอย่างน้อยทุก 3 ปี มีตัวอย่างการศึกษาถึงความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติในการดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบุคลากรที่ดูแลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่แผนกผู้ป่วยนอกทารกสุขภาพดี (well baby clinic) ในเม็กซิโกพบว่า บุคลากรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลปัญหาเกียวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทัศนคติและการปฏิบัติที่เอาใจใส่ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อย โดยพบบุคลากรทางการแพทย์เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับการอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องภายใน 3 ปี1 สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรที่ผู้บริหารโรงพยาบาลควรเอาใจใส่ เพราะสมรรณะ (competency) ของบุคลากรเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีของการรักษาพยาบาลและปัจจัยนี้ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Ramos MM, Sebastian RA, Sebesta E, McConnell AE, McKinney CR. Missed Opportunities in the Outpatient Pediatric Setting to Support Breastfeeding: Results From a Mixed-Methods Study. J Pediatr Health Care 2019;33:64-71.

 

บทบาทของจิตแพทย์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีมากขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ปัจจุบันการดูแลรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ มักอาศัยความร่วมมือของแพทย์ในหลากหลายสาขาหรือที่เรียกว่า สหสาขา ซึ่งไม่เว้นในเรื่องของการสนับสน นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทั่วไปแพทย์ที่มักเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ สูติแพทย์ กุมารแพทย์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และแพทย์เวชศาสตร์ชุมชน นอกจากนี้ยังมีแพทย์เฉพาะด้านในกรณีที่มีปัญหาเฉพาะ ได้แก่ ทารกที่มีภาวะลิ้นติด แพทย์ที่ร่วมดูแลอาจเป็นกุมารศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ หรือแพทย์โสต ศอ นาสิก และลาริงซ์วิทยา  แต่ปัญหาหรืออุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีส่วนของสภาวะจิตใจเกี่ยวข้อง โดยร่วมกับความจำเป็นการใช้จิตวิทยาวิเคราะห์เพื่อช่วยในการให้คำปรึกษาให้มารดาเห็นประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้เกิดความเหมาะสมกับบุคลิกภาพของมารดา แพทย์ที่จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นก็คือ จิตแพทย์1 เนื่องจากต้องอาศัยความรู้ความชำนาญจำเพาะด้าน ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของแพทย์ในสาขาต่าง ๆ ที่จะช่วยวางแผนกำหนดแนวทางในการร่วมดูแลมารดาและทารกอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Rowold K. ‘If We Are to Believe the Psychologists …’: Medicine, Psychoanalysis and Breastfeeding in Britain, 1900-55. Med Hist 2019;63:61-81.