คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

การให้ทารกนอนร่วมเตียงกับมารดาต้องระวังในมารดาที่มีความเสี่ยง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การที่ให้ทารกนอนร่วมเตียงกับมารดาในระยะหลังคลอดมีรายงานการศึกษาว่าช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น เนื่องจากมารดาสามารถจะสังเกตอาการหิวของทารกได้ดีกว่า และทำการให้นมแม่ได้ตามที่ทารกต้องการ อย่างไรก็ตามในระยะหลังมีการศึกษาพบว่าในมารดาที่มีความเสี่ยง ได้แก่ มารดาวัยรุ่น มารดาที่มีการใช้ยาเสพติดหรือติดบุหรี่ มารดาที่มีความเจ็บป่วยหรือใช้ยานอนหลับ และหากเตียงที่ให้ทารกมีความไม่ปลอดภัยเสี่ยงต่อการพลัดตกหรือมีพื้นที่คับแคบเกินไปเสี่ยงต่อการที่มารดาจะเบียดทับทารก1 ในกรณีเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่บุคลาการทางการแพทย์ควรให้ความสนใจและหากไม่สามารถให้การดูแลได้อย่างใกล้ชิด ควรหลีกเลี่ยงที่จะให้มารดาและทารกนอนเตียงเดียว เพื่อลดความเสี่ยงที่ทารกจะตกเตียง ตกร่องข้างเตียง หรือถูกมารดาทับจนเกิดอันตรายได้ ซึ่งการพิจารณาควรชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยทางการแพทย์มักดูแลตามหลักความปลอดภัยไว้ก่อนอันเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรคำนึงถึงเสมอ

เอกสารอ้างอิง

  1. Hughes Driscoll CA, Pereira N, Lichenstein R. In-hospital Neonatal Falls: An Unintended Consequence of Efforts to Improve Breastfeeding. Pediatrics 2019;143.

นมแม่ป้องกันเบาหวานได้มากหรือน้อยเท่าไหร่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                มีการศึกษาที่มีการทบทวนอย่างเป็นระบบถึงประโยชน์ของนมแม่ในการป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าทารกที่กินนมแม่จะลดการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ร้อยละ 35 ซึ่งกลุ่มที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น แต่หากแยกวิเคราะห์ในกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่พบว่าลดการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ร้อยละ 231 ซึ่งจะป้องกันได้น้อยกว่าในกลุ่มวัยรุ่น ที่เป็นเช่นนี้เพราะปัจจัยเสี่ยงในผู้ใหญ่มีหลากหลายขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นผลลัพธ์จากปัจจัยนมแม่ในระยะทารกแรกเกิดจึงส่งผลน้อยลง สรุปแล้วหากจะป้องกันเบาหวานให้มีประสิทธิผลสูงควรป้องกันตั้งแต่การให้ทารกได้กินนมแม่จนกระทั่งการป้องกันปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นร่วมด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Horta BL, de Lima NP. Breastfeeding and Type 2 Diabetes: Systematic Review and Meta-Analysis. Curr Diab Rep 2019;19:1.

ทารกที่กินนมผงเสี่ยงต่อเบาหวาน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ทารกที่กินนมแม่จะลดการเกิดเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ขณะที่ทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเสี่ยงต่อเบาหวาน สาเหตุเนื่องจากการกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจะทำให้ในทารกเติบโตรวดเร็วกว่าปกติตั้งแต่ในระยะหลังคลอด ซึ่งจะกำหนดการตั้งโปรแกรมการเผาพลาญอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ความผิดปกติของการเผาพลาญอาหารรวมทั้งเบาหวาน โดยทำให้ความเข้มข้นของ insulin ในเลือดทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกสูง ตับอ่อนต้องทำงานหนัก สุดท้ายการทำงานของเบต้าเซลล์ของตับอ่อนที่สร้าง insulin ล้มเหลวทำให้เกิดโรคเบาหวาน1

เอกสารอ้างอิง

  1. Horta BL, de Lima NP. Breastfeeding and Type 2 Diabetes: Systematic Review and Meta-Analysis. Curr Diab Rep 2019;19:1.


นมแม่ลดการเกิดเบาหวานได้อย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 นมแม่ลดการเกิดเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ในทารก โดยกลไกในการลดการเกิดเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากนมแม่มีสารที่ช่วยให้เกิดความสมบูรณ์และสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะป้องกันการเกิดเบาหวานชนิดที่ 11 สำหรับการป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2 กลไกของป้องกันเบาหวาน ในทารกที่กินนมแม่จะมีกรดไขมันชนิดที่ไม่อิ่มตัวแบบสายยาว (long-chain polyunsaturated fatty acids หรือใช้คำย่อว่า LCPUFAs) มาก ปริมาณ LCPUFAs หากอยู่ในเยื่อบุเซลล์กล้ามเนื้อมากจะมีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในช่วงที่งดน้ำและอาหาร (fasting glucose)2 นอกจากนี้ นมแม่ยังมีสารที่ออกฤทธิ์ช่วยควบคุมความอิ่มและสมดุลของพลังงาน3   ป้องกันภาวะน้ำหนักเกินและปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย ดังนั้นด้วยกลไกเหล่านี้จึงทำให้พบเบาหวานได้น้อยลงในทารกที่กินนมแม่ 

เอกสารอ้างอิง

  1. Patelarou E, Girvalaki C, Brokalaki H, Patelarou A, Androulaki Z, Vardavas C. Current evidence on the associations of breastfeeding, infant formula, and cow’s milk introduction with type 1 diabetes mellitus: a systematic review. Nutr Rev 2012;70:509-19.
  2. Horta BL, de Lima NP. Breastfeeding and Type 2 Diabetes: Systematic Review and Meta-Analysis. Curr Diab Rep 2019;19:1.
  3. Pereira PF, Alfenas Rde C, Araujo RM. Does breastfeeding influence the risk of developing diabetes mellitus in children? A review of current evidence. J Pediatr (Rio J) 2014;90:7-15.

 

แพทย์ประจำบ้านสูตินรีเวชมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ปัจจุบัน แพทย์ทั่วไปนิยมที่จะมีการฝึกอบรมเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทางสูง ซึ่งการจะจบเป็นแพทย์เฉพาะทางต้องผ่านการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน แม้ว่าขณะที่ทำการฝึกอบรม จะไม่นิยมที่จะมีการตั้งครรภ์ แต่จากข้อมูลในต่างประเทศพบว่ามีการตั้งครรภ์ในระหว่างการอบรมแพทย์ประจำบ้านสูงขึ้น มีการศึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มแพทย์ประจำบ้านในหลากหลายสาขาในสหรัฐอเมริกาพบว่า ในกลุ่มแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านสูตินรีเวชมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงโดยพบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับแพทย์ประจำบ้านสาขาอื่น และยังพบว่าแพทย์ประจำบ้านสูตินรีเวชมีปัญหาอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่าแพทย์ประจำบ้านสาขาอื่น1 สิ่งนี้น่าจะสะท้อนถึงความรู้ ทัศนคติที่มีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีอยู่ในหลักสูตรการฝึกอบรมที่อาจส่งผลต่อการปฏิบัติในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม บทบาทที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจต้องอาศัยแพทย์ในหลากหลายสาขา เนื่องจากในบางพื้นที่อาจไม่มีแพทย์เฉพาะทางสูตินรีเวช ดังนั้น การเพิ่มหัวข้อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลงในพื้นฐานหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านที่ควรต้องทราบจึงน่าจะมีส่วนช่วยในการรณรงค์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Gupta A, Meriwether K, Hewlett G. Impact of Training Specialty on Breastfeeding Among Resident Physicians: A National Survey. Breastfeed Med 2019;14:46-56.