รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ปัจจุบันมีความสนใจเรื่องพันธุกรรมที่มีผลต่อการตอบสนองของยามากขึ้น ซึ่งช่วยตอบคำถามว่า การรักษาด้วยยาในคน ๆ หนึ่งตอบสนองต่อยาดี ขณะที่การตอบสนองของยาชนิดเดียวกันในอีกคนหนึ่งตอบสนองได้น้อยหรือไม่ตอบสนอง พันธุกรรมของผู้ที่ใช้ยามีส่วนเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของยา ในเรื่องของการผ่านของยาในมารดาไปยังน้ำนมก็เช่นเดียวกัน มีตัวอย่างการศึกษาในมารดาที่มีความดันโลหิตสูงที่รักษาด้วยยา nifedipine พบว่ามารดาที่มีโปรตีน ABCG2 c.421C>A polymorphism จะมีการผ่านของยาจากมารดาไปยังน้ำสูง1 ดังนั้น การเลือกใช้ยาในมารดาที่ให้นมลูกในอนาคตนอกจากต้องคำนึงถึงลักษณะเภสัชจลนศาสตร์แล้ว ยังต้องมีการคำนึงถึงพันธุกรรมของมารดาด้วย
เอกสารอ้างอิง
Malfara BN, Benzi JRL, de Oliveira Filgueira GC, et al. ABCG2 c.421C>A polymorphism alters nifedipine transport to breast milk in hypertensive breastfeeding women. Reprod Toxicol 2019;85:1-5.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในปัจจุบัน กระแสการรณรงค์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้รับการยอมรับมากกว่าในสมัยก่อน ซึ่งมีส่วนช่วยในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผลของการสนับสนุนทางสังคม ได้แก่ การจัดพื้นที่ให้มารดาเก็บน้ำนมในที่ทำงาน การมีมุมนมแม่ในที่สาธารณะ การให้การยอมรับการให้นมลูกในที่สาธารณะ ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เช่นกัน โดยมีการศึกษาพบว่าการสนับสนุนทางสังคมช่วยให้มารดามีความมั่นใจและสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยตนเองได้ดีขึ้น 1 ซึ่งการที่มารดามีความมั่นใจและความสามารถที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยตนเองจะสามารถเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้น การช่วยให้มีการสนับสนุนทางสังคมจึงเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
Maleki-Saghooni N, Amel Barez M, Karimi FZ. Investigation of the relationship between social support and breastfeeding self-efficacy in primiparous breastfeeding mothers. J Matern Fetal Neonatal Med 2019:1-6.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในมารดาหลังคลอด มารดามักมีน้ำหนักขึ้นมากกว่าน้ำหนักปกติก่อนการตั้งครรภ์ แม้ว่าการที่มารดาให้นมลูกจะมีส่วนช่วยให้มารดาน้ำหนักลดลงได้ดีกว่า แต่พฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายก็มีความสำคัญ ซึ่งหากมีการดูแลในเรื่องพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายร่วมด้วย การที่มารดาจะมีน้ำหนักกลับเข้าสู่ระยะก่อนการตั้งครรภ์ก็จะดีขึ้น มีการศึกษาพบว่าในกลุ่มที่มารดามีรายได้ต่ำ มารดาจะสนใจในการให้ความรู้และคำปรึกษาเรื่องพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายของมารดาหลังคลอดในกรณีที่การการให้ความรู้นั้นมีผลต่อสุขภาพทั้งมารดาและทารกมากกว่าในกรณีที่มีผลต่อสุขภาพมารดาอย่างเดียว 1 ดังนั้น การเน้นให้เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการให้ความรู้ที่มีต่อทารกด้วย อาจช่วยให้มารดาสนใจและใส่ใจในการรับรู้และเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อมารดาและทารกอย่างเต็มที่
เอกสารอ้างอิง
MacMillan Uribe AL, Olson BH. Exploring Healthy Eating and Exercise Behaviors Among Low-Income Breastfeeding Mothers. J Hum Lact 2019;35:59-70.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในการศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว การเก็บข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะใช้การสอบถามข้อมูลจากมารดาเป็นหลักหรือหากละเอียดกว่านั้น จะจดบันทึกรายมื้อหรือรายวันเพื่อลดอคติจากการจดจำ อย่างไรก็ตาม หากมารดามีอคติในการให้ข้อมูล ความถูกต้องของข้อมูลจะมีความผิดพลาดได้ ในการศึกษาวิจัยที่ต้องการข้อมูลที่มีความถูกต้องสูง จึงได้มีการพัฒนาและศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้ข้อมูลที่ได้ถูกต้องและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ วิธีนี้ทำโดยใช้สาร deuterium oxide ให้มารดากินสารนี้ สารนี้จะได้รับการดูดซึมเข้ากระแสเลือด จากนั้นจะผ่านไปยังน้ำนม เมื่อทารกกินนมแม่ สารนี้ก็จะผ่านไปยังทารก การตรวจระดับสารนี้จะสะท้อนถึงการกินสารน้ำอื่นที่นอกเหนือจากกินนมแม่ โดยค่าที่ใช้ตัดสินผลคือหากค่าสารน้ำที่ทารกกินสูงกว่า 86.6 กรัมต่อวัน 1 จะแปลผลว่าทารกได้รับสารน้ำอื่นนอกจากนมแม่หรือทารกไม่ได้กินนมแม่อย่างเดียว ดังนั้น หากมีความต้องการจะได้ข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่มีความถูกต้องสูง การใช้การตรวจด้วย deuterium oxide เป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยลดอคติของข้อมูลได้
เอกสารอ้างอิง
Liu Z, Diana A, Slater C, et al. Development of a nonlinear hierarchical model to describe the disposition of deuterium in mother-infant pairs to assess exclusive breastfeeding practice. J Pharmacokinet Pharmacodyn 2019;46:1-13.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
อาการผิวหนังอักเสบ (atopic dermatitis) จากภูมิแพ้สามารถป้องกันได้ด้วยการให้ลูกได้กินนมแม่ และถือเป็นประโยชน์อย่างหนึ่งของการให้ลูกกินนมแม่ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวกับอาการผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ในขณะที่ทารกมีอาการผิวหนังอักเสบพบว่า การปรับให้ทารกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกชนิดที่มีโปรตีนจำเพาะ (partial partially hydrolyzed whey formula (pHF-W)) หรือ ให้เฉพาะนมผงที่มีเฉพาะ pHF-W อย่างเดียว อาจจะลดเวลารักษาอาการผิวหนังอักเสบลงได้ 1 คำอธิบายของผลการศึกษานี้ยังไม่ชัดเวนว่าเหตุผลใดที่ทำให้เกิดผลเช่นนี้ การศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคตจึงจำเป็น เพื่อสร้างความชัดเจนและนำความรู้นี้มาให้คำปรึกษามารดาอย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
Lin HP, Chiang BL, Yu HH, et al. The influence of breastfeeding in breast-fed infants with atopic dermatitis. J Microbiol Immunol Infect 2019;52:132-40.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)