คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

การจัดอบรมความรู้เรื่องนมแม่ช่วยความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ความรู้เป็นพื้นฐานของงความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อการปฎิบัติของมารดา ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรส่งเสริมให้สตรีที่มีความรู้พื้นฐานความรู้ในเกณฑ์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือมากกว่า เพื่อเป็นพื้นฐานความเข้าใจในการดูแลการให้นมลูก นอกจากนี้ การจัดอบรมความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ยังมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย โดยการจัดอบรมความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยเรื่องความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 เพราะเมื่อมีความเข้าใจถึงความประโยชชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวและเป็นประโยชน์ต่อทั้งมารดาและทารก ดังนั้นนี่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะส่งเสริมที่มารดามีความพร้อมในการให้นมแม่แก่ลูก

เอกสารอ้างอิง

  1. Parry KC, Tully KP, Hopper LN, Schildkamp PE, Labbok MH. Evaluation of Ready, Set, BABY: A prenatal breastfeeding education and counseling approach. Birth 2019;46:113-20.

ทารกที่กินนมขวดอาจเสี่ยงต่ออาการวิตกกังวลผิดปกติในวัยเด็ก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              อาการวิตกกังวลผิดปกติในวัยเด็กมีการศึกษามาก่อนว่าอาจจะมีความสัมพันธ์กับอาหารที่กินในวัยทารก เมื่อเร็ว ๆ นี้จึงมีการศึกษาต่อยอดเปรียบเทียบทารกที่กินนมแม่กับทารกที่กินนมขวดกับอาการวิตกกังวลผิดปกติในวัยเด็ก ซึ่งพบว่าทารกที่กินนมขวดมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการวิตกกังวลผิดปกติในวัยเด็กมากกว่าทารกที่กินนมแม่ หรืออีกนัยหนึ่งคือทารกที่กินนมขวดมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการวิตกกังวลผิดปกติในวัยเด็กมากกว่า1 ดังนั้น นี่อาจเป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการกินนมแม่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดอาการวิตกกังวลผิดปกติในวัยเด็กน้อยกว่าทารกที่กินนมขวดที่บุคลากรทางการแพทย์อาจจะให้คำแนะนำในมารดาที่มีความวิตกกังวลในเรื่องนี้ได้ ซึ่งการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องเหล่านี้จะให้ความรู้ที่ชัดเจนในเรื่องนี้ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Orengul AC, Tarakcioglu MC, Gormez V, et al. Duration of Breastfeeding, Bottle-Feeding, and Parafunctional Oral Habits in Relation to Anxiety Disorders Among Children. Breastfeed Med 2019;14:57-62.

การจัดอบรมความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เรื่องความรู้เกี่ยวกับนมแม่นั้นมีความสำคัญซึ่งส่งผลต่อทัศนคติและการปฏิบัติของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการจัดอบรมความรู้เรื่องนมแม่แก่มารดาในระหว่างการฝากครรภ์ การคลอดและหลังคลอดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยสร้างทัศนคติที่ดีของมารดาและครอบครัวต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาเกี่ยวกับการจัดอบรมให้ความรู้แก่มารดาในกลุ่มมารดาที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยพบว่า การจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดา 4-8 ครั้งในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้1 สิ่งนี้ช่วยยืนยันถึงความสำคัญของการจัดอบรมให้ความรู้แก่มารดา ดังนั้น บุคลาการทางการแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับการดูแลมารดาระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดควรจัดให้มีกระบวนการการอบรมมารดาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อช่วยในการรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะช่วยสร้างให้มารดาและทารกมีสุขภาพดีจากการให้ลูกได้กินนมแม่โดยที่องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าหมายไว้อย่างน้อยร้อยละ 50 ของมารดาจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยต่อเนื่องจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Olufunlayo TF, Roberts AA, MacArthur C, et al. Improving exclusive breastfeeding in low and middle-income countries: A systematic review. Matern Child Nutr 2019:e12788.

ยาดมสลบมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า การผ่าตัดคลอดเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยทำให้มารดาเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า ซึ่งในระหว่างการผ่าตัด หากมีการให้ยาดมสลบ ยาเหล่านี้อาจมีผลต่อการรับรู้และสติของมารดาหลังคลอดหากมารดามีอาการง่วงหลับหรือทำให้มารดาไม่ได้สติหลังจากคลอด อย่างไรก็ตาม ยาที่เลือกใช้ในระหว่างการดมสลบมักจะออกฤทธิ์สั้น จึงมีผลเสียน้อย ควรหลีกเลี่ยงยาดมสลบที่ออกฤทธิ์ยาวบางตัว เช่น diazepam และ meperidine นอกจากนี้ หากทารกคลอดก่อนกำหนด หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วย ความเสี่ยงจากการใช้ยาจะเพิ่มขึ้น1 ดังนั้น การป้องกันที่ดี ควรฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มทราบว่าตั้งครรภ์ ดูแลครรภ์ร่วมกับแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือความเสี่ยงที่ต้องผ่าตัดคลอด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้ยาดมสลบได้ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะทำให้การเริ่มการกินนมแม่เริ่มได้เร็ว โอกาสที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จก็จะสูง

เอกสารอ้างอิง

  1. Oliveira MRE, Santos MG, Aude DA, Lima RME, Modolo NSP, Lima L. [Should maternal anesthesia delay breastfeeding? A systematic review of the literature]. Rev Bras Anestesiol 2019.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวช่วยเรื่องพัฒนาการทางด้านภาษาของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันของทารก ช่วยลดการเสียชีวิตของทารกและเด็กเล็กและยังช่วยเรื่องความเฉลียวฉลาดของทารกด้วย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวกับพัฒนาการทางด้านภาษาของทารก ซึ่งพบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวช่วยพัฒนาการทางด้านภาษาของทารกโดยช่วยให้ทารกเริ่มพูดคำเดี่ยว และการใช้คำปฏิเสธ แม้ว่าในการศึกษานี้จะมีกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดน้อย แต่ก็เป็นจุดเรื่มต้นของการให้ความสนใจในเรื่องพัฒนาการทางด้านภาษากับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1 ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของความสัมพันธ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวว่าจะต้องมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อยกี่เดือน และนอกจากพัฒนาการทางด้านภาษาในการเริ่มพูดคำเดี่ยวแล้ว ยังมีพัฒนาการด้านใดที่มีความสัมพันธ์กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีก บุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจจึงอาจจะทบทวนความรู้และทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อนำผลมาใช้ในการให้คำปรึกษามารดาและครอบครัวถึงรายละเอียดของความสำคัญและประโยชน์ของนมแม่ที่มีต่อทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Novayelinda R, Rahmadhani N, Hasanah O. Does exclusive breastfeeding correlate with infant’s early language milestone? Enferm Clin 2019.