รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มีการสำรวจอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศในแถบทวีปยุโรปพบว่า มีความหลากหลายของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอดตั้งแต่ร้อยละ 56-98 อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หกเดือนร้อยละ 38-71 ขณะที่ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่หกเดือนพบร้อยละ 13-39 ซึ่งภาพรวมก็ยังต่ำกว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนที่มีเป้าหมายร้อยละ 50 ที่องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าไว้ โดยพ บว่ามี 6 ประเทศจาก 11 ป ระเทศมีแผนการปกป้องและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ในแผนพัฒนาประเทศ 1 การติดตามดู วิเคราะห์ และใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อมาเปรียบเทียบในเรื่องแนวทางการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศในทวีปยุโรป อาจนำมาปรับใช้ในประเทศไทยที่ยังมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่ยังต่ำ ซึ่งการนำมาใช้ต้องคำนึงถึงพื้นฐานเชื้อชาติ สังคมและวัฒนธรรมของประชชากรในประเทศไทยที่อยู่ในทวีปเอเซียที่ยังมีความแตกต่างกันด้วย
เอกสารอ้างอิง
Theurich MA, Davanzo R, Busck-Rasmussen M, et al. Breastfeeding Rates and Programs in Europe: A Survey of 11 National Breastfeeding Committees and Representatives. J Pediatr Gastroenterol Nutr 2019;68:400-7.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ผู้ที่ให้การช่วยเหลือการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งสำคัญ ขั้นตอนการฝึกทักษะของบุคลากรต้องการประสบการณ์การฝึกทักษะกับผู้ป่วยหรือมารดาที่มีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการพัฒนารูปแบบการฝึกทักษะของบุคลากรทางการแพทย์โดยใช้ผู้ป่วยมาตรฐานในการฝึกทักษะการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม ยังพบช่องว่างระหว่างความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วย 1 ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาในรายละเอียดเพื่อพัฒนารูปแบบการฝึกทักษะการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ดีขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะเป็นพื้นฐานในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Tanis SL, Quinn P, Bischoff M. Breastfeeding Simulation With the Standardized Patient. Nurs Womens Health 2019.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยทั่วไปมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยหากมารดาให้นมลูกอย่างเดียวหกเดือน มักพบว่ามีโอกาสจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนครบสองปีมากกว่า อย่างไรก็ตาม บางการศึกษาพบว่า พฤติกรรม ความรู้ และความเชื่อของมารดามีผลต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยหากมารดาเข้าร่วมโปรแกรมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานขึ้น ขณะทีมารดาที่เชื่อว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่าสองปีเป็นเรื่องปกติหรือมารดาที่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่าสองปีจะมีโอกาสที่จะมีระยะเวลาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้นกว่าที่ควรจะเป็น 1 ดังนั้น การสอบถามข้อมูลความรู้ ความเชื่อ ความตั้งใจของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะให้คำปรึกษามารดาและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม และอาจใช้ข้อมูลเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาพฤติกรรมของมารดาที่มีความเสี่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนระยะเวลาที่กำหนดได้
เอกสารอ้างอิง
Susiloretni KA, Hadi H, Blakstad MM, Smith ER, Shankar AH. Does exclusive breastfeeding relate to the longer duration of breastfeeding? A prospective cohort study. Midwifery 2019;69:163-71.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เป็นที่ทราบกันดีว่า การให้ความรู้แก่มารดาจะช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องประโยขน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะช่วยเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย การสอนให้บุคลากรมีความรู้และความมั่นใจในการให้คำปรึกษาและสอนมารดาและครอบครัว จะทำให้เกิดกระบวนการการเรียนการสอนมารดาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น รวมทั้งการจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ จะช่วยเพิ่มให้มีการปฏิบัติการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 1 ซึ่งผลลัพธ์คือจะช่วยอัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นได้ การส่งเสริมให้มีการสอนบุคลากรและมารดาเป็นกระบวนการที่ง่าย มีค่าใช้จ่ายที่น้อย จึงมีความคุ้มค่าที่จะลงทุนให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ เพื่อเป็นการช่วยให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปตามเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้
เอกสารอ้างอิง
Sanchez-Espino LF, Zuniga-Villanueva G, Ramirez-GarciaLuna JL. An educational intervention to implement skin-to-skin contact and early breastfeeding in a rural hospital in Mexico. Int Breastfeed J 2019;14:8.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การที่ทารกมีเลือดแม่และลูกไม่เข้ากันจากหมู่เลือด Rh นั้นพบไม่บ่อย แต่จะเกิดในครรภ์หลังที่แม่มีหมู่เลือด Rh ลบ ขณะที่ลูกมีหมู่เลือด Rh บวก อาการจากการที่เลือดแม่และลูกไม่เข้ากัน จะมีอาการที่รุนแรง ทารกเกิดเม็ดเลือดแดงแตก เกิดภาวะตัวเหลืองและทำให้ทารกเกิดภาวะซีดในครรภ์จนต้องมีการให้เลือดในครรภ์ได้ การให้นมแม่อาจทำให้ทารกเกิดภาวะตัวเหลือง อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่า การให้ทารกกินนมแม่หลังสองเดือนจะลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนแก่ทารก 1 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะให้นมแม่ในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การศึกษาเพิ่มเติมรายละเอียดในอนาคต จะทำให้ทารกที่มีเลือดแม่และลูกไม่เข้ากันมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการกินนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Schonewille H, van Rood JJ, Verduin EP, et al. Exposure to non-inherited maternal antigens by breastfeeding affects antibody responsiveness. Haematologica 2019;104:263-8.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)