รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ปัจจุบัน การให้มารดานอนพักอยู่ที่โรงพยาบาลหลังจากการคลอดบุตรจะเป็นช่วงเวลาที่สั้น โดยทั่วไปจะเป็น 1-2 วัน หากมารดาและทารกปกติ ก็จะได้รับการอนุญาตให้กลับบ้าน ซึ่งในมารดาครรภ์แรกหรือมารดาที่ขาดประสบการณ์ในการให้นมลูกจะได้รับการฝึกให้นมลูก แต่ช่วงเวลาที่ฝึกยังสั้น อาจขาดความมั่นใจในตนเองว่าจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้หรือไม่ ดังนั้น การให้การสนับสนุนและให้คำปรึกษามารดาหลังจากที่กลับไปอยู่ที่บ้านแล้วจึงมีความสำคัญ สำหรับรูปแบบการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังจากมารดากลับไปอยู่ที่บ้านแล้ว อาจทำโดยการมีบุคลากรทางการแพทย์ไปเยี่ยมบ้าน หรืออาจมีการนัดติดตามมาฝึกปฏิบัติเพิ่มเติมที่คลินิกนมแม่เพื่อให้มารดามีความมั่นใจในการให้นมลูกดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีการพัฒนารูปแบบการให้คำปรึกษามารดาผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การจัดระบบให้มีการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทางสื่อสังคมออนไลน์จะช่วยให้มารดามีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเพิ่มขึ้นและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาวนานขึ้นได้1
เอกสารอ้างอิง
Cavalcanti DS, Cabral CS, de Toledo Vianna RP, Osorio MM. Online participatory intervention to promote and support exclusive breastfeeding: Randomized clinical trial. Matern Child Nutr 2019:e12806.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การที่ทารกต้องย้ายไปที่หอทารกป่วยวิกฤต (neonatal intensive care unit หรือ NICU) นั้น มีผลทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความลำบากและอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงได้ เนื่องจากมารดาและทารกต้องแยกจากกัน ทารกต้องมีการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม มีการให้น้ำเกลือและยาต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้มักเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งสิ้น มีการศึกษาการใช้เกณฑ์การวินิจฉัยการติดเชื้อในกระแสเลือดของทารกตั้งแต่ระยะแรก (Kaiser Neonatal Early-Onset Sepsis Calculator (NEOSC)) เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่า ทารกมีความจำเป็นต้องย้ายไปดูแลที่หอทารกป่วยวิกฤตหรือไม่ในทารกที่มีความเสี่ยงของการติดเชื้อในน้ำคร่ำ (chorioamnionitis) พบว่าการใช้เกณฑ์การวินิจฉัยนี้ช่วยลดการย้ายทารกไปหอทารกป่วยวิกฤต ลดการเจาะเลือด ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ และเป็นผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 โดยไม่มีทารกคนใดต้องกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนั้น การมีเกณฑ์การย้ายไปหอทารกวิกฤตที่เหมาะสมที่ช่วยลดการย้ายทารกที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยการดูแลที่หอทารกป่วยวิกฤต อาจเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
Bridges M, Pesek E, McRae M, Chabra S. Use of an Early Onset-Sepsis Calculator to Decrease Unnecessary NICU Admissions and Increase Exclusive Breastfeeding. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2019.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การเริ่มต้นสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบุคลากรทางการแพทย์สามารถเริ่มต้นที่สถานพยาบาลก่อนได้ ได้จัดการให้ความรู้และบริการที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยในการจัดการบริการนั้นมีการศึกษาพบว่า การให้ทารกได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อ การเริ่มต้นให้ทารกได้กินนมแม่ตั้งแต่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด การให้มารดาและทารกอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง การให้นมแม่ตามความต้องการของทารก การมีบุคลากรทางการแพทย์ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือให้มารดาให้นมแม่ในระยะหลังคลอด การไม่สนับสนุนให้มารดาใช้นมผงเลี้ยงทารกหรือใช้หัวนมหลอก ปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว จากการติดตามในระยะหนึ่งเดือนแรกได้ โดยแต่ละปัจจัยมีผลต่อการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวราวร้อยละ 201 ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตรงไหน อาจจะทำการเริ่มต้นที่การให้บริการที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สถานพยาบาล ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้
เอกสารอ้างอิง
Bizon A, Giugliani C, Castro de Avilla Lago J, et al. Combined pro-breastfeeding practices are advantageous in facilities providing maternity and newborn services. Matern Child Nutr 2019:e12822.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยเฉพาะปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว อย่างไรก็ตามในพื้นที่ที่มีบริบทแตกต่างกัน ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคอาจมีความแตกต่างกันด้วย มีการศึกษาถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในพื้นที่ที่เป็นชนบทในประเทศอินเดียพบว่า การที่บิดามารดาแต่งงานเร็ว มีการศึกษาน้อย มีจำนวนครั้งของการฝากครรภ์น้อย มีการคลอดโดยใช้หัตถการ มีการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า มารดาต้องกลับไปทำงานหลังการคลอด มีการคลอดบุตรชาย และมารดานับถือศาสนาคริสต์1 ปัจจัยเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว แน่นอนอาจมีความแตกต่างกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในประเทศไทยบ้าง แต่นำปัจจัยที่มีการศึกษาแล้วว่าเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่เคยศึกษามาก่อนจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มองเห็นกรอบของปัญหาหรือจำนวนปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการที่จะทำการศึกษาในอนาคตในพื้นที่ที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปและทำให้สามารถวางแผนเก็บขนาดกลุ่มตัวอย่างที่น่าจะเพียงพอในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ซึ่งจะทำให้การศึกษาวิจัยมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Bhanderi DJ, Pandya YP, Sharma DB. Barriers to exclusive breastfeeding in rural community of central Gujarat, India. J Family Med Prim Care 2019;8:54-61.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ภาวะลิ้นติดเป็นปัญหาที่มีการถกเถียงกันว่า เป็นมากแค่ไหนจึงต้องทำการรักษา และการรักษาด้วยการผ่าตัดจำเป็นหรือไม่ จากข้อมูลการศึกษาที่ผ่านมาพบภาวะลิ้นติดสัมพันธ์กับการเจ็บหัวนมของมารดาขณะทารกดูดนม การเข้าเต้าที่เหมาะสมยากลำบาก1 ทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ สำหรับคำถามแรกที่ว่า “เป็นมากแค่ไหนจึงต้องทำการรักษา” คำตอบคือต้องดูว่าเป็นปัญหาในมารดาและทารกแต่ละคู่หรือไม่ โดยดูจากปัญหาการเจ็บหัวนมของมารดา ปัญหาการกินนมและการเข้าเต้าของทารก หากพบว่ามีปัญหา การให้คำปรึกษาในแนวทางการรักษาก็มีความจำเป็น (ซึ่งส่วนใหญ่มากสัมพันธ์กับการประเมินขนาดความรุนแรงของภาวะลิ้นติดโดยใช้ Siriraj’s tongue tie score หรือจากการใช้เครื่องมือ MED SWU TONGUE-TIE DIRECTOR ประเมินพบว่ามีภาวะลิ้นติดปานกลางหรือรุนแรง) สำหรับคำถามที่สอง “การผ่าตัดจำเป็นหรือไม่” คำตอบคือต้องดูว่าความเหมาะสมในการแก้ปัญหาในมารดาและทารกแต่ละคู่และความต้องการของมารดาและครอบครัวในการตัดสินใจเลือกทางเลือกในการรักษา เนื่องจากการผ่าตัดไม่ใช่หนทางเดียวในการรักษาทารกที่มีภาวะลิ้นติดและมีปัญหาเรื่องการดูดนมแม่ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า หากผ่านพ้นหลังคลอดระยะแรกไปได้ (ส่วนใหญ่ราว 1 เดือนแรก) ทารกจะเข้าเต้าและดูดนมแม่ได้ดีขึ้น จากการที่ทารกเจริญเติบโตขึ้น อมหัวและลานนมได้ลึกขึ้น ทำให้การเข้าเต้าดีขึ้น พังผืดใต้ลิ้นก็มักจะยืดหยุ่นขึ้นและมารดาก็เจ็บหัวนมลดลง ปัญหาของการรักษาจึงมักอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้ทารกยังคงกินนมแม่ได้ในช่วงเดือนแรก ซึ่งจุดนี้จึงมีแนวทางที่บุคลากรทางการแพทย์จะนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับมารดาและทารกแต่ละคู่นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
Campanha SMA, Martinelli RLC, Palhares DB. Association between ankyloglossia and breastfeeding. Codas 2019;31:e20170264.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)