ภาวะลิ้นติดสัมพันธ์กับการเข้าเต้ายาก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ภาวะลิ้นติดเป็นปัญหาที่มีการถกเถียงกันว่า เป็นมากแค่ไหนจึงต้องทำการรักษา และการรักษาด้วยการผ่าตัดจำเป็นหรือไม่ จากข้อมูลการศึกษาที่ผ่านมาพบภาวะลิ้นติดสัมพันธ์กับการเจ็บหัวนมของมารดาขณะทารกดูดนม การเข้าเต้าที่เหมาะสมยากลำบาก1 ทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ สำหรับคำถามแรกที่ว่า  “เป็นมากแค่ไหนจึงต้องทำการรักษา” คำตอบคือต้องดูว่าเป็นปัญหาในมารดาและทารกแต่ละคู่หรือไม่ โดยดูจากปัญหาการเจ็บหัวนมของมารดา ปัญหาการกินนมและการเข้าเต้าของทารก หากพบว่ามีปัญหา การให้คำปรึกษาในแนวทางการรักษาก็มีความจำเป็น (ซึ่งส่วนใหญ่มากสัมพันธ์กับการประเมินขนาดความรุนแรงของภาวะลิ้นติดโดยใช้ Siriraj’s tongue tie score หรือจากการใช้เครื่องมือ MED SWU TONGUE-TIE DIRECTOR ประเมินพบว่ามีภาวะลิ้นติดปานกลางหรือรุนแรง) สำหรับคำถามที่สอง “การผ่าตัดจำเป็นหรือไม่” คำตอบคือต้องดูว่าความเหมาะสมในการแก้ปัญหาในมารดาและทารกแต่ละคู่และความต้องการของมารดาและครอบครัวในการตัดสินใจเลือกทางเลือกในการรักษา เนื่องจากการผ่าตัดไม่ใช่หนทางเดียวในการรักษาทารกที่มีภาวะลิ้นติดและมีปัญหาเรื่องการดูดนมแม่ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า หากผ่านพ้นหลังคลอดระยะแรกไปได้ (ส่วนใหญ่ราว 1 เดือนแรก) ทารกจะเข้าเต้าและดูดนมแม่ได้ดีขึ้น จากการที่ทารกเจริญเติบโตขึ้น อมหัวและลานนมได้ลึกขึ้น ทำให้การเข้าเต้าดีขึ้น พังผืดใต้ลิ้นก็มักจะยืดหยุ่นขึ้นและมารดาก็เจ็บหัวนมลดลง  ปัญหาของการรักษาจึงมักอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้ทารกยังคงกินนมแม่ได้ในช่วงเดือนแรก ซึ่งจุดนี้จึงมีแนวทางที่บุคลากรทางการแพทย์จะนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับมารดาและทารกแต่ละคู่นั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

  1. Campanha SMA, Martinelli RLC, Palhares DB. Association between ankyloglossia and breastfeeding. Codas 2019;31:e20170264.