รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ภาวะน้ำตาลต่ำในทารกแรกเกิดมักพบในมารดาที่เป็นเบาหวาน ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่พบบ่อยในทารกหลังคลอดและจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ในกระบวนการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยให้ทารกอบอุ่นและรู้สึกปลอดภัย การใช้พลังงานในร่างกายทารกไม่เพิ่มขึ้น จึงช่วยป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ มีการศึกษาการป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำในทารกแรกเกิดที่มีมารดาเป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ที่ควบคุมระดับน้ำตาลโดยการควบคุมอาหารพบว่า การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและการเริ่มให้นมแม่เร็วและบ่อยตั้งแต่ระยะแรกเป็นวิธีที่ได้ผลดีและมีความปลอดภัย 1 ซึ่งเมื่อดูแนวทางปฏิบัติในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บุคลากรทางการแพทย์จะส่งเสริมให้มารดาได้โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและเริ่มกินนมแม่เร็วตั้งแต่ระยะแรกอยู่แล้ว หากทราบว่าทารกมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ การกระตุ้นให้ทารกกินนมบ่อยขึ้น ก็สามารถที่จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้แล้ว จึงเป็นวิธีพื้นฐานที่ไม่ต้องพึ่งพายาหรือสารน้ำอื่น ๆ ในการรักษา ปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
เอกสารอ้างอิง
Dalsgaard BT, Rodrigo-Domingo M, Kronborg H, Haslund H. Breastfeeding and skin-to-skin contact as non-pharmacological prevention of neonatal hypoglycemia in infants born to women with gestational diabetes; a Danish quasi-experimental study. Sex Reprod Healthc 2019;19:1-8.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทารกที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลย้ายไปที่หอทารกป่วยวิกฤตจะมีอัตราการเลี้ยงลูด้วยนมแม่อย่างเดียวต่ำ สาเหตุอาจเป็นจากการที่ทารกและมารดาต้องแยกจากกัน ทารกป่วย ทารกได้รับน้ำเกลือหรือยาเพื่อการดูแลรักษา การที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกป่วยหรือจำเป็นต้องดูแลที่หอทารกป่วยวิกฤตมีการแนะนำให้ใช้บันไดสิบขึ้นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่ป่วย 1 นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่า การจัดโปรแกรมให้บิดาและมารดาเยี่ยมทารกที่หอทารกป่วยวิกฤตจะช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อติดตามการกินนมแม่ของทารกก่อนได้รับการอนุญาตให้กลับบ้านได้2 ดังนั้น จะเห็นว่าการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือในส่วนต่าง ๆ ของสถานพยาบาล และยังมีความจำเป็นต้องมีเครือข่ายช่วยในการดูแลทารกอย่างต่อเนื่องหลังจากทารกได้กลับไปอยู่ที่บ้านแล้ว รวมทั้งการสนับสนุนจากครอบครัวและสังคมที่จะช่วยส่งเสริมในปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้อและเพิ่มโอกาสให้ทารกได้กินนมแม่ยาวนานตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก
เอกสารอ้างอิง
Spatz DL. Beyond BFHI: The Spatz 10-Step and Breastfeeding Resource Nurse Model to Improve Human Milk and Breastfeeding Outcomes. J Perinat Neonatal Nurs 2018;32:164-74.
Cuttini M, Croci I, Toome L, et al. Breastfeeding outcomes in European NICUs: impact of parental visiting policies. Arch Dis Child Fetal Neonatal Ed 2019;104:F151-F8.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การคลอดก่อนกำหนด มักเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยจะมีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาของการกินนมแม่ของทารกแม้ในทารกที่คลอดใกล้ครบกำหนดแล้วก็ตาม1 อุปสรรคที่พบอาจเกิดจากความการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของทารกที่ยังขาดความพร้อมที่จะสามารถทำการดูดนมแม่จากเต้านมได้ ซึ่งพบปัญหามากน้อยขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ที่คลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนที่เป็นเหตุทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด ได้แก่ โรคแทรกซ้อนในมารดา ความพิการของทารก และการติดเชื้อ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพทารก ทำให้โอกาสที่ทารกต้องย้ายไปหอทารกป่วยวิกฤตสูง ต้องมีการแยกมารดาและทารก ต้องมีการให้น้ำเกลือและยาในการดูแลรักษาทารก การพัฒนาและสร้างระบบสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่ป่วยหรือขาดความพร้อมในการกินนมแม่จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในทารกเหล่านี้ให้มีโอกาสที่จะได้กินนมแม่เพิ่มขึ้นและยาวนานขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Crippa BL, Colombo L, Morniroli D, et al. Do a Few Weeks Matter? Late Preterm Infants and Breastfeeding Issues. Nutrients 2019;11.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาเป็นเบาหวาน มักพบภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดเพิ่มขึ้น ได้แก่ ทารกตัวโต คลอดยาก มีการใช้หัตถการและผ่าตัดคลอดบ่อยขึ้น ตกเลือดหลังคลอดพบมากขึ้น โดยหากพบมีความเสื่อมของหลอดเลือดร่วมด้วย จะพบความพิการของทารก ทารกน้ำหนักตัวน้อย ภาวะน้ำคร่ำมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ การหลั่งอินซุลินที่เพิ่มขึ้น ยังมีผลทำให้น้ำนมมาช้า จากภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ทำให้ทารกมีโอกาสที่จะต้องย้ายไปดูแลที่หอทารกป่วยวิกฤติเพิ่มขึ้น โอกาสที่ทารกที่ได้นมผงเสริมในระยะแรกหลังคลอดจึงมีสูง มารดาเหล่านี้จึงถือเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มหนึ่งที่จะไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่หรือหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้คำปรึกษาและดูแลมารดาอย่างใกล้ชิด ไม่หมดหวังที่จะเริ่มต้นการกินนมแม่ใหม่แม้หลังจากทารกกินนมผงไปแล้ว รวมทั้งช่วยประคับประคองติดตามดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง 1 ให้มารดามีความเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญในการปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Cordero L, Stenger MR, Landon MB, Nankervis CA. In-hospital formula supplementation and breastfeeding initiation in infants born to women with pregestational diabetes mellitus. J Neonatal Perinatal Med 2019.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เมื่อพูดถึงมารดาที่อายุน้อย กลุ่มที่พบปัญหาเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่ มารดาวัยรุ่น ซึ่งการตั้งครรภ์ในมารดาวัยรุ่นนั้นพบมีภาวะแทรกซ้อนสูง โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบ ได้แก่ การตั้งครรภ์หลังการพยายามทำแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจมีผลเสียต่อทารก การใช้ยาเสพติด การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การมีภาวะเครียดของมารดาในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด ซึ่งหากจัดกลุ่มปัญหาอาจมองภาพเป็นกลุ่มได้ดังนี้
ปัญหาความพร้อมทางร่างกาย หากมารดาตั้งครรภ์อายุน้อยมาก (โดยทั่วไปต่ำกว่า 13 ปี) มารดามักมีปัญหาด้านสรีรวิทยาที่ยังไม่มีความพร้อมในด้านรูปร่างที่จะมีพัฒนาการเพื่อรองรับการคลอด ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับการผ่าตัด คลอดสูง
ปัญหาทางด้านจิตใจ มารดาวัยรุ่นมักมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ได้ง่าย ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ การตั้งครรภ์และการคลอดถือเป็นประสบการณ์ครั้งใหญ่ที่สร้างภาวะเครียดให้กับมารดา
ปัญหาทางด้านสังคม มารดาวัยรุ่นมักมีการตั้งครรภ์ในวัยเรียน มารดายังขาดความรู้และขาดการวางแผนที่จะมีบุตร มีความวิตกกังวลเรื่องการถูกมองไม่ดี อาจมีปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหายาเสพติด ปัญหาการถูกข่มขืน ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างภาวะเครียดให้แก่มารดา
ปัญหาทางด้านเศรษฐานะ มารดามักยังไม่ได้อยู่ในวัยทำงาน ทำให้ไม่ดีรายได้ ขาดการดูแลตนเอง ขาดการบำรุงครรภ์และดูแลทารกอย่างเหมาะสมหลังการคลอด จึงมักส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพของมารดาและทารกและเพิ่มความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์และการคลอด
จากปัญหาที่กล่าวมาในข้างต้นในมารดาอายุน้อย บุคลากรทางการแพทย์จะเห็นว่าปัญหาหรืออุปสรรคของมารดาอายุน้อยมีในหลากหลายด้านและหลายระดับ1 การทำความเข้าใจกับความคิดและรู้สึกของมารดากับปัญหาที่ต้องเผชิญในหลายด้านจะทำให้สามารถให้คำปรึกษาได้อย่างเหมาะสมโดยควรมีการติดตามอย่างต่อเนื่องในมารดากลุ่มนี้ เนื่องจากปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ที่มารดาพบจะนำไปสู่การหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาวะของประชากรของประเทศรวมถึงเพิ่มภาระของค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการดูแลสุขภาพในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
Chopel A, Soto D, Joiner B, et al. Multilevel Factors Influencing Young Mothers’ Breastfeeding: A Qualitative CBPR Study. J Hum Lact 2019;35:301-17.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)