มารดาที่อายุน้อยมักมีอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เมื่อพูดถึงมารดาที่อายุน้อย กลุ่มที่พบปัญหาเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่ มารดาวัยรุ่น ซึ่งการตั้งครรภ์ในมารดาวัยรุ่นนั้นพบมีภาวะแทรกซ้อนสูง โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบ ได้แก่ การตั้งครรภ์หลังการพยายามทำแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจมีผลเสียต่อทารก การใช้ยาเสพติด การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การมีภาวะเครียดของมารดาในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด ซึ่งหากจัดกลุ่มปัญหาอาจมองภาพเป็นกลุ่มได้ดังนี้

  • ปัญหาความพร้อมทางร่างกาย หากมารดาตั้งครรภ์อายุน้อยมาก (โดยทั่วไปต่ำกว่า 13 ปี) มารดามักมีปัญหาด้านสรีรวิทยาที่ยังไม่มีความพร้อมในด้านรูปร่างที่จะมีพัฒนาการเพื่อรองรับการคลอด ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับการผ่าตัด คลอดสูง
  • ปัญหาทางด้านจิตใจ มารดาวัยรุ่นมักมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ได้ง่าย ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ การตั้งครรภ์และการคลอดถือเป็นประสบการณ์ครั้งใหญ่ที่สร้างภาวะเครียดให้กับมารดา
  • ปัญหาทางด้านสังคม มารดาวัยรุ่นมักมีการตั้งครรภ์ในวัยเรียน มารดายังขาดความรู้และขาดการวางแผนที่จะมีบุตร มีความวิตกกังวลเรื่องการถูกมองไม่ดี อาจมีปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหายาเสพติด ปัญหาการถูกข่มขืน ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างภาวะเครียดให้แก่มารดา
  • ปัญหาทางด้านเศรษฐานะ มารดามักยังไม่ได้อยู่ในวัยทำงาน ทำให้ไม่ดีรายได้ ขาดการดูแลตนเอง ขาดการบำรุงครรภ์และดูแลทารกอย่างเหมาะสมหลังการคลอด จึงมักส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพของมารดาและทารกและเพิ่มความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์และการคลอด

           จากปัญหาที่กล่าวมาในข้างต้นในมารดาอายุน้อย บุคลากรทางการแพทย์จะเห็นว่าปัญหาหรืออุปสรรคของมารดาอายุน้อยมีในหลากหลายด้านและหลายระดับ1 การทำความเข้าใจกับความคิดและรู้สึกของมารดากับปัญหาที่ต้องเผชิญในหลายด้านจะทำให้สามารถให้คำปรึกษาได้อย่างเหมาะสมโดยควรมีการติดตามอย่างต่อเนื่องในมารดากลุ่มนี้ เนื่องจากปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ที่มารดาพบจะนำไปสู่การหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาวะของประชากรของประเทศรวมถึงเพิ่มภาระของค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการดูแลสุขภาพในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Chopel A, Soto D, Joiner B, et al. Multilevel Factors Influencing Young Mothers’ Breastfeeding: A Qualitative CBPR Study. J Hum Lact 2019;35:301-17.