รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
คนทั่วไปมักเคยได้ยินคำว่า “ออทิสติก” โดยเข้าใจกันว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมแปลก ๆ ทำให้การเข้าสังคมยาก ซึ่งก็ถือว่าเป็นความเข้าใจเบื้องต้นที่มีความถูกต้อง แต่ถ้าจะอธิบายถึงออทิสติกในความหมายที่ชัดเจนขึ้น ควรอธิบายว่า เด็กกลุ่มนี้จะมีความผิดปกติของทักษะในด้านการสื่อสารและการเข้าสังคม โดยที่ตัวโรคออทิสติกมักพบความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน จึงมักใช้คำว่า “กลุ่มอาการของออทิสติก” (autism spectrum disorder) ในการเรียกเด็กที่มีความผิดปกติกลุ่มนี้ ลักษณะของเด็กกลุ่มนี้เด็กจะไม่สามารถสื่อสารผ่านการพูด อ่าน เขียน หรือเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ จนบางครั้งจะสังเกตได้ว่า เด็กอาจไม่เข้าใจภาษาท่าทาง เช่น ชี้นิ้ว โบกมือ ขาดความรู้เรื่องทิศทาง ไม่สามารถแปลสัญลักษณ์ มีการเรียนรู้ภาษาได้ช้ากว่าเด็กอื่น อ่านออกแต่ไม่เข้าใจความหมายของคำ บางครั้งอาจพบเด็กพูดเลียนแบบซ้ำไปซ้ำมา และอาละวาดเมื่อไม่พอใจรือไม่สามารถสื่อสารบอกความต้องการของตัวเองได้ เด็กกลุ่มจะเข้าสังคมลำบาก ไม่สังสรรค์หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ แลกเปลี่ยนกับผู้อื่น ไม่เล่นหรือแบ่งปันของเล่นกับเด็กอื่น รวมทั้งเด็กอาจไม่รู้วิธีเล่นกับเด็กอื่น ไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่คุยด้วย จนไม่สามารถจะสร้างสัมพันธภาพกับผู้คนรอบข้างได้ ซึ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องการความเข้าใจและการดูแลที่มีความจำเพาะมากกว่าเด็กทั่วไป แม้สาเหตุของกลุ่มอาการออทิสติกยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจจะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น มารดาใช้ยาเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยากันชัก เป็นโรคอ้วนหรือเป็นเบาหวาน อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นมแม่ช่วยลดการเกิดกลุ่มอาการออทิสติก โดยพบกลุ่มอาการออทิสติกในทารกที่กินนมแม่ในระยะเวลาที่สั้นมากกว่าทารกที่กินนมแม่ในระยะเวลาที่ยาวนานกว่า1
เอกสารอ้างอิง
Soke GN, Maenner M, Windham G, et al. Association Between Breastfeeding Initiation and Duration and Autism Spectrum Disorder in Preschool Children Enrolled in the Study to Explore Early Development. Autism Res 2019;12:816-29.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นโรคที่พบบ่อยในวัยเด็ก ซึ่งพบราว 1 ใน 3 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในวัยเด็ก สำหรับอาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาว ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย ซีด มีไข้ มีภาวะเลือดออกง่าย มีจ้ำเลือด หรือจุดเลือดออกตามตัว หรืออาจพบเลือดออกตามไรฟัน มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องอืด ตับและม้ามโต สำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งที่พบได้น้อยกว่าในวัยเด็ก อาการจะพบต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้เป็นก้อนบวม แข็ง ไม่รู้สึกเจ็บ มักพบเป็นก้อนแข็งที่ลำคอนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่อาจพบที่รักแร้หรือขาหนีบ หรือพบพร้อมกันหลาย ๆ ที่ก็ได้ การให้ลูกกินนมแม่จะป้องกันการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในวัยเด็ก โดยระยะเวลาที่กินนมแม่นาน จะมีผลดีในการช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก (ชนิด acute lymphocytic leukemia) และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (ชนิด Hodgkin’s lymphoma)1
เอกสารอ้างอิง
Bener A, Hoffmann GF, Afify Z, Rasul K, Tewfik I. Does prolonged breastfeeding reduce the risk for childhood leukemia and lymphomas? Minerva Pediatr 2008;60:155-61.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
กลุ่มโรคเมตาบอลิก (metabolic syndrome) เกิดจากภาวะที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารหรือเมตาบอลิซึมของร่างกายที่ผิดปกติไป ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง ซึ่งต่อมาภาวะเหล่านี้จะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจ เกิดหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง เกิดอัมพฤกษ์และอัมพาตได้ การให้ทารกกินนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดกลุ่มโรคเมตาบอลิก1 โดยการป้องกันกลุ่มโรคนี้ ส่วนหนึ่งอธิบายจากการตั้งโปรแกรมการเผาพลาญอาหาร (metabolic programming) จากอาหารที่ทารกได้รับในระยะแรกหลังคลอด ซึ่งเป็นกลไกการควบคุมเหนือพันธุกรรม (epigenetic modification)2
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ไขมันในเลือดสูงเป็นได้ทั้งในส่วนของโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ที่สูง การให้ทารกจะช่วยป้องกันการเกิดไขมันในเลือดจากโคเลสเตอรอลที่สูงเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น โดยมีการศึกษาพบว่า การกินนมแม่จะมีความสัมพันธ์กับระดับโคเลสเตอรอลที่ต่ำกว่าเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกินนมแม่อย่างเดียว 1 กลไกที่อธิบายเรื่องนี้เชื่อว่าเกิดจากการที่ในนมแม่มีโคเลสเตอรอลที่สูง ทำให้ร่างกายทารกถูกตั้งระบบการเผาพลาญหรือเมตาบอลิซึมที่ดีของไขมันนี้ไว้ตั้งแต่ในระยะทารก เพื่อควบคุมให้ระดับโคเลสเตอรอลมีระดับที่เหมาะสม และระบบนี้ทำงานอย่างต่อเนื่องเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Owen CG, Whincup PH, Kaye SJ, et al. Does initial breastfeeding lead to lower blood cholesterol in adult life? A quantitative review of the evidence. Am J Clin Nutr 2008;88:305-14.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ เส้นเลือดในสมองแตกที่ทำให้เกิดอัมพฤกษ์และอัมพาตได้ การให้ทารกได้กินนมแม่จะป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น โดยมีการศึกษาพบว่า การกินนมแม่จะช่วยป้องกันความดันโลหิตขึ้นสูงในเด็กอายุ 7 ปี1 ซึ่งการกินนมแม่จะมีผลต่อดีต่อความดันโลหิตทั้งในขณะที่หัวใจบีบตัวและคลายตัว2 ,3 สำหรับกลไกการป้องกันการเกิดความดันโลหิตสูงเชื่อว่าเกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
Hosaka M, Asayama K, Staessen JA, et al. Breastfeeding leads to lower blood pressure in 7-year-old Japanese children: Tohoku Study of Child Development. Hypertens Res 2013;36:117-22.
Amorim Rde J, Coelho AF, de Lira PI, Lima Mde C. Is breastfeeding protective for blood pressure in schoolchildren? A cohort study in northeast Brazil. Breastfeed Med 2014;9:149-56.
Martin RM, Gunnell D, Smith GD. Breastfeeding in infancy and blood pressure in later life: systematic review and meta-analysis. Am J Epidemiol 2005;161:15-26.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)