นมแม่ช่วยลดการเกิดออทิสติก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 คนทั่วไปมักเคยได้ยินคำว่า “ออทิสติก” โดยเข้าใจกันว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมแปลก ๆ ทำให้การเข้าสังคมยาก ซึ่งก็ถือว่าเป็นความเข้าใจเบื้องต้นที่มีความถูกต้อง แต่ถ้าจะอธิบายถึงออทิสติกในความหมายที่ชัดเจนขึ้น ควรอธิบายว่า เด็กกลุ่มนี้จะมีความผิดปกติของทักษะในด้านการสื่อสารและการเข้าสังคม โดยที่ตัวโรคออทิสติกมักพบความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน จึงมักใช้คำว่า “กลุ่มอาการของออทิสติก” (autism spectrum disorder) ในการเรียกเด็กที่มีความผิดปกติกลุ่มนี้ ลักษณะของเด็กกลุ่มนี้เด็กจะไม่สามารถสื่อสารผ่านการพูด อ่าน เขียน หรือเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ จนบางครั้งจะสังเกตได้ว่า เด็กอาจไม่เข้าใจภาษาท่าทาง เช่น ชี้นิ้ว โบกมือ ขาดความรู้เรื่องทิศทาง ไม่สามารถแปลสัญลักษณ์ มีการเรียนรู้ภาษาได้ช้ากว่าเด็กอื่น อ่านออกแต่ไม่เข้าใจความหมายของคำ บางครั้งอาจพบเด็กพูดเลียนแบบซ้ำไปซ้ำมา และอาละวาดเมื่อไม่พอใจรือไม่สามารถสื่อสารบอกความต้องการของตัวเองได้ เด็กกลุ่มจะเข้าสังคมลำบาก ไม่สังสรรค์หรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ แลกเปลี่ยนกับผู้อื่น ไม่เล่นหรือแบ่งปันของเล่นกับเด็กอื่น รวมทั้งเด็กอาจไม่รู้วิธีเล่นกับเด็กอื่น ไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่คุยด้วย จนไม่สามารถจะสร้างสัมพันธภาพกับผู้คนรอบข้างได้ ซึ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องการความเข้าใจและการดูแลที่มีความจำเพาะมากกว่าเด็กทั่วไป แม้สาเหตุของกลุ่มอาการออทิสติกยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจจะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น มารดาใช้ยาเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยากันชัก เป็นโรคอ้วนหรือเป็นเบาหวาน อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นมแม่ช่วยลดการเกิดกลุ่มอาการออทิสติก โดยพบกลุ่มอาการออทิสติกในทารกที่กินนมแม่ในระยะเวลาที่สั้นมากกว่าทารกที่กินนมแม่ในระยะเวลาที่ยาวนานกว่า1

เอกสารอ้างอิง

  1. Soke GN, Maenner M, Windham G, et al. Association Between Breastfeeding Initiation and Duration and Autism Spectrum Disorder in Preschool Children Enrolled in the Study to Explore Early Development. Autism Res 2019;12:816-29.