นมแม่ช่วยป้องกันการสบฟันที่ผิดปกติของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การที่ทารกดูดนมจากเต้านมของมารดาได้ จะต้องมีความพร้อมของการทำงานของระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และระบบประสาทที่จะช่วยให้เกิดการประสานงานของการทำงานของระบบกล้ามเนื้อให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นขั้นตอนที่มีความจำเพาะและเหมาะสม ซึ่งในทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักพบการทำงานของระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และระบบประสาทที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้การเข้าเต้าของทารกที่ต้องประกอบด้วยการอ้าปากกว้าง เพื่ออมหัวนมและลานนม ซึ่งเป็นการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูกขากรรไกร ร่วมกับการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อของลิ้นเป็นคลื่นจากทางด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่สามารถกดไล่น้ำนมจากท่อน้ำนมในเต้านมของมารดาและสร้างแรงดูดในช่องปากและลำคอ เพื่อช่วยให้น้ำนมที่ไหลออกมาจากเต้านมได้รับการส่งผ่านเข้าสู่หลอดอาหารและลงไปในกระเพาะของทารก จะเห็นว่าในขณะเดียวกัน การทำงานระบบกล้ามเนื้อและกระดูกจากการเข้าเต้าของทารก จะช่วยสร้างให้เกิดการเคลื่อนไหวของขากรรไกรของทารกที่เหมาะสม ซึ่งส่งผลให้เกิดการป้องกันการสบฟันที่ผิดปกติของทารก โดยมีการศึกษาพบว่า ทารกที่กินนมแม่จะพบการสบฟันที่ผิดปกติทางด้านหลัง (posterior crossbites malocclusion) และการสบฟันที่ผิดปกติชนิดที่ 2 (class 2 malocclusion) ได้น้อยกว่า1 

เอกสารอ้างอิง

  1. Borrie F. Breastfeeding and occlusal development. Evid Based Dent 2018;19:5.