คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

การกินนมแม่ช่วยการเรียนรู้ของทารกได้ดีกว่า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 การที่ได้กินนมแม่เป็นการช่วยในการเรียนรู้ของทารก โดยพบว่า ทารกที่คลอดครบกำหนดและคลอดก่อนกำหนดที่กินนมแม่นานกว่าจะมีคะแนนด้านการเรียนรู้สูงกว่า1 ซึ่งทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวนาน 4 เดือนพบว่ามีการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์กับสังคมในช่วงขวบปีแรกดีกว่า2 มีความฉลาดสูงกว่า โดยเปรียบเทียบการวัดคะแนนการเรียนรู้ของทารกที่อายุ 8 ปีครึ่งและ 11 ปีครึ่ง และพบว่าทารกที่กินนมแม่จะมีการเรียนรู้ทางด้านภาษาดีกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่3 นอกจากนี้ ยังมีรายงานผลการศึกษาว่า ทารกที่กินนมแม่ประสบความสำเร็จในการศึกษาและมีรายได้ที่ได้รับเมื่อเจริญเติบโตขึ้นมากกว่าด้วย4 นี่น่าจะเป็นหลักฐานอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยยืนยันว่า “การที่มารดาให้ลูกได้กินนมแม่เป็นการสร้างโอกาสให้ลูกได้เฉลียวฉลาดและประสบความสำเร็จตั้งแต่การเริ่มต้นของชีวิต” แล้วทำไมจะไม่ให้ลูกกินนมแม่ล่ะ!!!

เอกสารอ้างอิง

  1. Daniels MC, Adair LS. Breast-feeding influences cognitive development in Filipino children. J Nutr 2005;135:2589-95.
  2. Choi HJ, Kang SK, Chung MR. The relationship between exclusive breastfeeding and infant development: A 6- and 12-month follow-up study. Early Hum Dev 2018;127:42-7.
  3. Horwood LJ, Darlow BA, Mogridge N. Breast milk feeding and cognitive ability at 7-8 years. Arch Dis Child Fetal Neonatal Ed 2001;84:F23-7.
  4. Victora CG, Horta BL, Loret de Mola C, et al. Association between breastfeeding and intelligence, educational attainment, and income at 30 years of age: a prospective birth cohort study from Brazil. Lancet Glob Health 2015;3:e199-205.

การกินนมแม่ของทารกช่วยพัฒนาการของสมอง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  การกินนมแม่ของทารกจะช่วยพัฒนาการของของทั้งทารกคลอดที่ก่อนกำหนดและทารกที่คลอดครบกำหนด ทารกคลอดก่อนกำหนดที่กินนมแม่จะมีพัฒนาการที่ดีกว่าทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเมื่อเปรียบเทียบที่อายุหนึ่งปีครึ่ง เจ็ดปีครึ่งและแปดปี1 ทารกที่คลอดครบกำหนดจะมีพัฒนาการทางการมองเห็นได้ดีกว่าทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก2 ทารกที่กินนมแม่หรือกินนมแม่อย่างเดียวจะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวโดยทั่วไปในช่วงวัยเด็กตอนปลายและช่วงวัยรุ่นดีกว่า3,4 และมีการพัฒนาการของสมองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเนื้อสมองสีขาวได้ดีกว่าด้วย5 ซึ่งเนื้อสมองส่วนที่เป็นสีขาวจะสัมพันธ์กับความฉลาดนั่นเอง จึงสามารถอ้างได้ว่า “การที่มารดาให้ลูกได้กินนมแม่เป็นการสร้างโอกาสให้ลูกได้เฉลียวฉลาดและประสบความสำเร็จตั้งแต่การเริ่มต้นของชีวิต”

เอกสารอ้างอิง

  1. Lucas A, Morley R, Cole TJ, Lister G, Leeson-Payne C. Breast milk and subsequent intelligence quotient in children born preterm. Lancet 1992;339:261-4.
  2. Jorgensen MH, Hernell O, Lund P, Holmer G, Michaelsen KF. Visual acuity and erythrocyte docosahexaenoic acid status in breast-fed and formula-fed term infants during the first four months of life. Lipids 1996;31:99-105.
  3. Grace T, Oddy W, Bulsara M, Hands B. Breastfeeding and motor development: A longitudinal cohort study. Hum Mov Sci 2017;51:9-16.
  4. Bouwstra H, Boersma ER, Boehm G, Dijck-Brouwer DA, Muskiet FA, Hadders-Algra M. Exclusive breastfeeding of healthy term infants for at least 6 weeks improves neurological condition. J Nutr 2003;133:4243-5.
  5. Isaacs EB, Fischl BR, Quinn BT, Chong WK, Gadian DG, Lucas A. Impact of breast milk on intelligence quotient, brain size, and white matter development. Pediatr Res 2010;67:357-62.

การกินนมแม่ของทารกช่วยป้องกันการเกิดปัสสาวะรดที่นอน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  กระบวนการที่ลูกกินนมแม่นั้น จะมีการส่งเสริมพัฒนาการของระบบประสาทจากที่ทารกได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อกับมารดาขณะอยู่บนอก ผิวสัมผัสกันของมารดาและทารกจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของระบบประสาทให้มีการเชื่อมโยงกันที่ดี การขยับร่างกายที่พยายามให้เกิดท่าที่เหมาะสมที่สุดในการอมหัวนมและลานนมจะช่วยในการพัฒนาการของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ขณะที่ระหว่างการดูดนมสายตามารดาและทารกที่สบกันจะช่วยในการสร้างความรักความผูกพันกันระหว่างมารดาและทารก การที่มารดาสื่อสารพูดคุยกับลูกขณะที่ลูกกินนมจะช่วยพัฒนาการทางด้านการสื่อสารของทารกด้วย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะพบว่า ทารกที่กินนมแม่จะมีความเฉลียวฉลาดมากกว่า และมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วสูงกว่า นอกเหนือจากนี้ ยังพบว่าการให้ทารกได้กินนมแม่อย่างเดียวนานหกเดือน อาจช่วยลดการเกิดการปัสสาวะรดที่นอนชนิดปฐมภูมิในวัยเด็ก (primary enuresis) โดยมีการศึกษาทารกที่กินนมแม่น้อยกว่า 4 เดือนมีความสัมพันธ์กับการพบการเกิดการปัสสาวะรดที่นอนสูงกว่า1

เอกสารอ้างอิง

  1. de Oliveira DM, Dahan P, Ferreira DF, et al. Association between exclusive maternal breastfeeding during the first 4 months of life and primary enuresis. J Pediatr Urol 2016;12:95 e1-6.

 

 

ทารกลดการเสียชีวิตลงได้จากการกินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  โดยทั่วไป เรามักทราบกันดีว่า นมแม่มีประโยชน์ แต่เราทราบกันหรือไม่ว่า การกินนมแม่นั้นช่วยลดการเสียชีวิตของทารกได้ ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการติดเชื้อต่ำกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่อย่างเดียว1 โดยทารกที่กินนมแม่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหาร จึงพบการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ที่ผิดปกติและอาการท้องเสียน้อยกว่า ทารกที่ไม่ได้กินนมแม่มีอัตราการเสียชีวิตจากปอดบวมสูงกว่าทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว 14 เท่า (95%CI 0.67-332.74)2 และการเริ่มกินนมแม่ของทารกเร็วภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดได้3 นอกจากนี้ในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่สามารถจะเลี้ยงลูกด้วยนมผงดัดแปลงสำหรับทารกตลอดหกเดือน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวยังเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของทารก4

เอกสารอ้างอิง

  1. Khan J, Vesel L, Bahl R, Martines JC. Timing of Breastfeeding Initiation and Exclusivity of Breastfeeding During the First Month of Life: Effects on Neonatal Mortality and Morbidity-A Systematic Review and Meta-analysis. Matern Child Health J 2014.
  2. Lamberti LM, Zakarija-Grkovic I, Fischer Walker CL, et al. Breastfeeding for reducing the risk of pneumonia morbidity and mortality in children under two: a systematic literature review and meta-analysis. BMC Public Health 2013;13 Suppl 3:S18.
  3. Boccolini CS, Carvalho ML, Oliveira MI, Perez-Escamilla R. Breastfeeding during the first hour of life and neonatal mortality. J Pediatr (Rio J) 2013;89:131-6.
  4. Natchu UC, Liu E, Duggan C, et al. Exclusive breastfeeding reduces risk of mortality in infants up to 6 mo of age born to HIV-positive Tanzanian women. Am J Clin Nutr 2012;96:1071-8.

 

นมแม่ช่วยป้องกันการสบฟันที่ผิดปกติของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การที่ทารกดูดนมจากเต้านมของมารดาได้ จะต้องมีความพร้อมของการทำงานของระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และระบบประสาทที่จะช่วยให้เกิดการประสานงานของการทำงานของระบบกล้ามเนื้อให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นขั้นตอนที่มีความจำเพาะและเหมาะสม ซึ่งในทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักพบการทำงานของระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และระบบประสาทที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้การเข้าเต้าของทารกที่ต้องประกอบด้วยการอ้าปากกว้าง เพื่ออมหัวนมและลานนม ซึ่งเป็นการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูกขากรรไกร ร่วมกับการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อของลิ้นเป็นคลื่นจากทางด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่สามารถกดไล่น้ำนมจากท่อน้ำนมในเต้านมของมารดาและสร้างแรงดูดในช่องปากและลำคอ เพื่อช่วยให้น้ำนมที่ไหลออกมาจากเต้านมได้รับการส่งผ่านเข้าสู่หลอดอาหารและลงไปในกระเพาะของทารก จะเห็นว่าในขณะเดียวกัน การทำงานระบบกล้ามเนื้อและกระดูกจากการเข้าเต้าของทารก จะช่วยสร้างให้เกิดการเคลื่อนไหวของขากรรไกรของทารกที่เหมาะสม ซึ่งส่งผลให้เกิดการป้องกันการสบฟันที่ผิดปกติของทารก โดยมีการศึกษาพบว่า ทารกที่กินนมแม่จะพบการสบฟันที่ผิดปกติทางด้านหลัง (posterior crossbites malocclusion) และการสบฟันที่ผิดปกติชนิดที่ 2 (class 2 malocclusion) ได้น้อยกว่า1 

เอกสารอ้างอิง

  1. Borrie F. Breastfeeding and occlusal development. Evid Based Dent 2018;19:5.