คลังเก็บหมวดหมู่: นมแม่

นมแม่

การให้การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยมารดาเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ (skin-to-skin contact) ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดเป็นประโยชน์ต่อทารกในหลาย ๆ  ด้าน  จากการศึกษาพบว่าการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยกระตุ้นการหลั่งออกซิโตซินและเป็นผลดีต่อการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรก1 การหลั่งออกซิโตซินจะช่วยในการสร้างความผูกผันระหว่างมารดาและทารก ซึ่งจะช่วยลดการทอดทิ้งทารก และการหลั่งออกซิโตซินยังช่วยกระบวนการเกิดการไหลของน้ำนมจากเต้านมของมารดาได้ดีขึ้น นอกจากนี้การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อยังมีผลดีความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่ามีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ 1-4 เดือนหลังคลอดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและเพิ่มระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ2

เอกสารอ้างอิง

  1. Singh K, Khan SM, Carvajal-Aguirre L, Brodish P, Amouzou A, Moran A. The importance of skin-to-skin contact for early initiation of breastfeeding in Nigeria and Bangladesh. J Glob Health 2017;7:020505.
  2. Moore ER, Bergman N, Anderson GC, Medley N. Early skin-to-skin contact for mothers and their healthy newborn infants. Cochrane Database Syst Rev 2016;11:CD003519.

 

 

ผลของการใช้ยาแก้ปวดและยาระงับความรู้สึกต่อการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การใช้ยาแก้ปวดและยาระงับความรู้สึกในระหว่างการเจ็บครรภ์คลอดของมารดา ผลของการให้ยาแก้ปวดและยาระงับความรู้สึกจะมีต่อทารกโดยทำให้ทารกง่วงซึม ไม่พร้อมที่จะดูดนมในระยะแรกหลังคลอด การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ช้า และส่งผลทำให้น้ำนมมาช้า1 นอกจากนี้ วิธีระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัดคลอดยังมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย โดยมารดาที่ใช้วิธีระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัดคลอดโดยการดมสลบ (general anesthesia) จะเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช้ากว่ามารดาที่ใช้วิธีระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง (spinal anesthesia)2 ดังนั้น หากมารดาสามารถคลอดปกติทางช่องคลอดได้จะเป็นผลดีต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น

เอกสารอ้างอิง

  1. Lind JN, Perrine CG, Li R. Relationship between use of labor pain medications and delayed onset of lactation. J Hum Lact 2014;30:167-73.
  2. Kocaoz FS, Destegul D, Kocaoz S. Comparison of the breastfeeding outcomes and self-efficacy in the early postpartum period of women who had given birth by cesarean under general or spinal anesthesia. J Matern Fetal Neonatal Med 2019:1-5.

 

การดูแลระหว่างคลอดมีผลอย่างไรต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                กระบวนการการดูแลระหว่างการคลอด หากดูแลอย่างเหมาะสม จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งได้แก่ การให้อาหารว่างและน้ำกับมารดาในช่วงการคลอดระยะเริ่มต้น การให้อิสระกับมารดาในการเคลื่อนไหวในระหว่างการรอคลอด และการให้การสนับสนุนด้านจิตใจและอารมณ์กับมารดาระหว่างการคลอด ส่งผลทำให้มารดาเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เร็วกว่า เนื่องจากช่วยลดความเครียดและความอ่อนเพลียในระหว่างการรอคลอดซึ่งมีผลทำให้น้ำนมมาช้าด้วย1-3 ขณะที่การผ่าตัดคลอดเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม สำหรับมารดาที่นัดผ่าตัดคลอด การให้คาร์โบไฮเดรตชนิดน้ำรับประทานก่อนผ่าตัดจะช่วยให้มารดาเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เร็วกว่าการงดน้ำงดอาหาร4

เอกสารอ้างอิง

  1. Grajeda R, Perez-Escamilla R. Stress during labor and delivery is associated with delayed onset of lactation among urban Guatemalan women. J Nutr 2002;132:3055-60.
  2. Dewey KG, Nommsen-Rivers LA, Heinig MJ, Cohen RJ. Risk factors for suboptimal infant breastfeeding behavior, delayed onset of lactation, and excess neonatal weight loss. Pediatrics 2003;112:607-19.
  3. Chapman DJ, Perez-Escamilla R. Identification of risk factors for delayed onset of lactation. J Am Diet Assoc 1999;99:450-4; quiz 5-6.
  4. Fard RK, Tabassi Z, Qorbani M, Hosseini S. The Effect of Preoperative Oral Carbohydrate on Breastfeeding After Cesarean Section: A Double-Blind, Randomized Controlled Clinical Trial. J Diet Suppl 2018;15:445-51.

การผ่าตัดคลอด อุปสรรคของการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               วิธีการคลอดบุตรเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาที่คลอดปกติทางช่องคลอดจะสามารถเริ่มกระบวนการส่งเสริมให้ลูกได้กินนมแม่ได้เร็วกว่ามารดาที่ผ่าตัดคลอด ดังนั้นเมื่อมีการผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้น การผ่าตัดคลอดจึงถือเป็นอุปสรรคที่พบบ่อยในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น เนื่องจากกระบวนการในการดูแลการผ่าตัดคลอดมักทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ช้ากว่า1 และต้องการการช่วยเหลือในการจัดท่าให้นมลูกมากกว่ามารดาที่คลอดทางช่องคลอด นอกจากนี้การผ่าตัดคลอดยังมีความเสี่ยงในการมีน้ำนมมาช้า 2.40 เท่า (95%CI 1.28-4.51)2 อย่างไรก็ตาม เมื่อมารดาสามารถเริ่มให้นมลูกได้แล้ว วิธีการคลอดพบว่าไม่มีผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่3-5

เอกสารอ้างอิง

  1. Chen C, Yan Y, Gao X, et al. Influences of Cesarean Delivery on Breastfeeding Practices and Duration: A Prospective Cohort Study. J Hum Lact 2018;34:526-34.
  2. Scott JA, Binns CW, Oddy WH. Predictors of delayed onset of lactation. Matern Child Nutr 2007;3:186-93.
  3. Dennis CL. Breastfeeding initiation and duration: a 1990-2000 literature review. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2002;31:12-32.
  4. Scott JA, Landers MC, Hughes RM, Binns CW. Factors associated with breastfeeding at discharge and duration of breastfeeding. J Paediatr Child Health 2001;37:254-61.
  5. Cernadas JM, Noceda G, Barrera L, Martinez AM, Garsd A. Maternal and perinatal factors influencing the duration of exclusive breastfeeding during the first 6 months of life. J Hum Lact 2003;19:136-44.

การตรวจหัวนมและเต้านมของมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ในระหว่างฝากครรภ์ควรมีการตรวจเต้านมและหัวนมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทั่วไปแล้วแม้ว่าเต้านมของมารดาจะมีความแตกต่างกันในขนาด ความยาวของหัวนม และความกว้างของลานนม แต่มารดาส่วนใหญ่สามารถให้ลูกกินนมแม่ได้ หากมารดากังวลว่าเต้านมหรือหัวนมจะเหมาะสมสำหรับการให้นมแม่หรือไม่? บุคลากรทางการแพทย์ควรตรวจเต้านมและหัวนมพร้อมให้ความมั่นใจกับมารดาถึงขั้นตอนการดูแลและส่งเสริมให้มารดาให้นมลูกได้

             องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำในเรื่องการตรวจความยาวหัวนมในระหว่างการฝากครรภ์เนื่องจากการตัดสินว่ามารดามีความยาวหัวนมสั้นอาจลดความเชื่อมั่นของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และความยาวของหัวนมมารดาสามารถเพิ่มขึ้นได้ระหว่างการเริ่มตั้งครรภ์จนถึงใกล้คลอดประมาณ 2 มิลลิเมตร1 ร่วมกับในการดูดนมทารกจะอ้าปากอมหัวนมและลานนมซึ่งลานนมที่นุ่มจะยืดยาวเข้าไปในปากทารก ทำให้ทารกสามารถดูดนมแม่จากเต้าได้แม้จะมีหัวนมที่สั้น      แต่ในประเทศไทยยังมีการตรวจประเมินเต้านมและความยาวหัวนมในขั้นตอนมาตรฐานของการฝากครรภ์ของกระทรวงสาธารณสุข   ซึ่งมีการศึกษาพบว่า    หากหัวนมมารดาในระยะหลังคลอดมากกว่า 7 มิลลิเมตรจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า2     การใช้อุปกรณ์ช่วยดึงหัวนม (nipple puller) สามารถเพิ่มความยาวหัวนมได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มความยาวหัวนมจากในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์จนถึงระยะหลังคลอดได้ราว 4 เซนติเมตรโดยไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการใช้อุปกรณ์ช่วยดึงหัวนม3      นอกจากนี้ การใช้ปทุมแก้วใส่ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ในมารดาที่มีหัวนมสั้นกว่า 7 มิลลิเมตรจะทำให้ความยาวหัวนมเพิ่มขึ้นได้โดยมีความปลอดภัยและมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้น4 และ ดังนั้นการตรวจเต้านมและหัวนมทำได้ในระหว่างการฝากครรภ์ แต่ไม่ควรตัดสินมารดาว่ามารดามีปัญหาหรือความผิดปกติของหัวนม ควรให้ความเห็นว่ามารดาอาจสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้       แต่จะมีโอกาสสำเร็จสูงขึ้นหากมีการเตรียมตัวและการปฏิบัติที่เหมาะสมหากพบมารดาที่มีหัวนมสั้นหรือหัวนมบอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Thanaboonyawat I, Chanprapaph P, Lattalapkul J, Rongluen S. Pilot study of normal development of nipples during pregnancy. J Hum Lact 2013;29:480-3.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Paritakul P, Ketsuwan S, Wongin S. Nipple length and its relation to success in breastfeeding. J Med Assoc Thai 2013;96 Suppl 1:S1-4.
  3. Baiya N, Ketsuwan S, Thana S, Puapompong P. Outcome of nipple puller use during antenatal care in short nipple pregnant women. Thai J Obstet and Gynaecol 2018;26:96-102.
  4. Chanprapaph P, Luttarapakul J, Siribariruck S, Boonyawanichkul S. Outcome of non-protractile nipple correction with breast cups in pregnant women: a randomized controlled trial. Breastfeed Med 2013;8:408-12.