การตรวจหัวนมและเต้านมของมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ในระหว่างฝากครรภ์ควรมีการตรวจเต้านมและหัวนมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทั่วไปแล้วแม้ว่าเต้านมของมารดาจะมีความแตกต่างกันในขนาด ความยาวของหัวนม และความกว้างของลานนม แต่มารดาส่วนใหญ่สามารถให้ลูกกินนมแม่ได้ หากมารดากังวลว่าเต้านมหรือหัวนมจะเหมาะสมสำหรับการให้นมแม่หรือไม่? บุคลากรทางการแพทย์ควรตรวจเต้านมและหัวนมพร้อมให้ความมั่นใจกับมารดาถึงขั้นตอนการดูแลและส่งเสริมให้มารดาให้นมลูกได้

             องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำในเรื่องการตรวจความยาวหัวนมในระหว่างการฝากครรภ์เนื่องจากการตัดสินว่ามารดามีความยาวหัวนมสั้นอาจลดความเชื่อมั่นของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และความยาวของหัวนมมารดาสามารถเพิ่มขึ้นได้ระหว่างการเริ่มตั้งครรภ์จนถึงใกล้คลอดประมาณ 2 มิลลิเมตร1 ร่วมกับในการดูดนมทารกจะอ้าปากอมหัวนมและลานนมซึ่งลานนมที่นุ่มจะยืดยาวเข้าไปในปากทารก ทำให้ทารกสามารถดูดนมแม่จากเต้าได้แม้จะมีหัวนมที่สั้น      แต่ในประเทศไทยยังมีการตรวจประเมินเต้านมและความยาวหัวนมในขั้นตอนมาตรฐานของการฝากครรภ์ของกระทรวงสาธารณสุข   ซึ่งมีการศึกษาพบว่า    หากหัวนมมารดาในระยะหลังคลอดมากกว่า 7 มิลลิเมตรจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า2     การใช้อุปกรณ์ช่วยดึงหัวนม (nipple puller) สามารถเพิ่มความยาวหัวนมได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มความยาวหัวนมจากในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์จนถึงระยะหลังคลอดได้ราว 4 เซนติเมตรโดยไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการใช้อุปกรณ์ช่วยดึงหัวนม3      นอกจากนี้ การใช้ปทุมแก้วใส่ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ในมารดาที่มีหัวนมสั้นกว่า 7 มิลลิเมตรจะทำให้ความยาวหัวนมเพิ่มขึ้นได้โดยมีความปลอดภัยและมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้น4 และ ดังนั้นการตรวจเต้านมและหัวนมทำได้ในระหว่างการฝากครรภ์ แต่ไม่ควรตัดสินมารดาว่ามารดามีปัญหาหรือความผิดปกติของหัวนม ควรให้ความเห็นว่ามารดาอาจสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้       แต่จะมีโอกาสสำเร็จสูงขึ้นหากมีการเตรียมตัวและการปฏิบัติที่เหมาะสมหากพบมารดาที่มีหัวนมสั้นหรือหัวนมบอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Thanaboonyawat I, Chanprapaph P, Lattalapkul J, Rongluen S. Pilot study of normal development of nipples during pregnancy. J Hum Lact 2013;29:480-3.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Paritakul P, Ketsuwan S, Wongin S. Nipple length and its relation to success in breastfeeding. J Med Assoc Thai 2013;96 Suppl 1:S1-4.
  3. Baiya N, Ketsuwan S, Thana S, Puapompong P. Outcome of nipple puller use during antenatal care in short nipple pregnant women. Thai J Obstet and Gynaecol 2018;26:96-102.
  4. Chanprapaph P, Luttarapakul J, Siribariruck S, Boonyawanichkul S. Outcome of non-protractile nipple correction with breast cups in pregnant women: a randomized controlled trial. Breastfeed Med 2013;8:408-12.