รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
การที่มีการให้มารดาลาพักหลังคลอด จุดประสงค์เพื่อให้มารดาได้พักฟื้นปรับสภาพร่างกายให้กลับมาเป็นเหมือนก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาราว 6 สัปดาห์หลังคลอด และอีกส่วนที่มีความสำคัญคือให้มารดาสามารถให้ลูกกินนมแม่ ซึ่งแนะนำให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนแรกหลังคลอด โดยทั่วไป การอนุญาตให้ลาพักหลังคลอดมักจะครอบคลุมในช่วงหกสัปดาห์หลังคลอดที่เป็นช่วยที่ร่างกายมารดาจะกลับมาเป็นปกติอยู่แล้ว แต่สำหรับการที่จะให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนหลังคลอดยังอาจจะมีอุปสรรคอยู่ ในประเทศไทยส่วนใหญ่สิทธิในการลาพักหลังคลอดมักจะให้ลาพักได้ประมาณ 3 เดือนหลังคลอด ซึ่งทำให้พบว่าการกลับไปทำงานเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้มารดาหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้ง ๆ ที่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า หากมารดาได้รับการลาพักหลังคลอดนานขึ้นจะช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 การตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อออกกฎหมายสนับสนุนการลาพักหลังคลอดเพิ่มขึ้นจึงควรนำมาทบทวนพิจารณา เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพพื้นฐานของประชาชน ซึ่งหากได้มีการสนับสนุนในเรื่องนี้แล้วในหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
1. Grandahl M, Stern J, Funkquist EL. Longer shared parental
leave is associated with longer duration of breastfeeding: a cross-sectional
study among Swedish mothers and their partners. BMC Pediatr 2020;20:159.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
เป็นที่ทราบกันดีว่า มารดาที่มีลูกคนแรกหรือมารดาครรภ์แรกจะมีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร อาจมีสาเหตุจากการขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ และขาดผู้ที่จะให้คำปรึกษาอย่างเหมาะเมื่อเกิดปัญหาหรืออุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การที่บุคลากรให้ความสำคัญและระลึกอยู่เสมอว่า มารดาที่มีลูกคนแรกอาจจะต้องมีการจัดระบบการดูแลที่มีการติดตามเอาใจใส่มากขึ้นกว่ามารดาที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ซึ่งมีการศึกษาพบว่า การจัดระบบสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีลูกคนแรกสามารถเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หกเดือนได้ถึง 3 เท่า1 จึงถือว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
1. Gonzalez-Darias A, Diaz-Gomez NM, Rodriguez-Martin S,
Hernandez-Perez C, Aguirre-Jaime A. ‘Supporting a first-time mother’: Assessment
of success of a breastfeeding promotion programme. Midwifery 2020;85:102687.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ คือ นักศึกษาแพทย์ที่จบมาขาดทักษะในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ควรจัดควรมีรูปแบบเพื่อสนับสนุนการสร้างทักษะ ซึ่งการที่จะสร้างให้เกิดทักษะนั้น นักศึกษาต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้โดยการ “ดูตัวอย่าง ศึกษาขั้นตอน เลียนแบบการปฏิบัติกับหุ่นจำลอง ฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยภายใต้การควบคุมดูแล และสุดท้ายเมื่อผู้ควบคุมดูแลประเมินว่า นักศึกษาได้ผ่านการปฏิบัติจริงจนมีความชำนาญแล้ว จึงมีการรับรองว่า นักศึกษาสามารถจะปฏิบัติการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ด้วยตนเองโดยมีความมั่นใจได้”
ดังนั้น รูปแบบการจัดการเรียนการสอนจึงต้องมึความสอดคล้องกันกับกระบวนการเรียนรู้
คือ นักศึกษาต้องได้เห็นตัวอย่าง โดยการจัดให้นักศึกษาต้องผ่านที่ที่มีการให้คำปรึกษาในเรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
นั่นคือ หน่วยฝากครรภ์ ห้องคลอด หอผู้ป่วยหลังคลอด คลินิกทารกสุขภาพดี และคลินิกนมแม่
สำหรับการศึกษาขั้นตอน
การเลียนแบบปฏิบัติกับหุ่นจำลอง การออกแบบ checklist เพื่อช่วยให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติซ้ำ ๆ ในห้องฝึกหัตถการและฝึกการปฏิบัติโดยอาจจะมีอาจารย์เป็นผู้ประเมิน ในขั้นตอนการฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยภายใต้การควบคุมดูแล
สามารถทำได้โดยกระบวนการจัดให้นักศึกษาแพทย์เก็บ case ที่ได้ให้คำปรึกษาด้วยตนเองภายใต้การดูแลกำกับลงในสมุด
logbook และสุดท้ายควรมีการจัดการประเมินทักษะในรูปแบบ
OSCE โดยใช้ผู้ป่วยจำลอง
เพื่อให้มั่นใจว่า นักศึกษาแพทย์ที่ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนนี้แล้วจะสามารถให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่และการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้จริงด้วยความมั่นใจ
อย่างไรก็ตาม
ในระหว่างการจัดการเรียนการสอน อาจารย์ควรส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
และเสริมทักษะในเรื่องการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตให้กับนักศึกษาแพทย์ด้วย
เพื่อจะช่วยให้นักศึกษามีทักษะที่จะปรับปรุงคุณภาพการเรียนรู้ของตนเองให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในหลักสูตรการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับแพทย์ที่จะให้คำปรึกษาเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาและครอบครัว1 ผลที่เกิดขึ้นทำให้ไม่มีการให้คำปรึกษาโดยแพทย์หรือมีการยกภาระการให้คำปรึกษาให้เป็นหน้าที่ของพยาบาล ทั้ง ๆ ที่ควรจะมีการร่วมกันปฏิบัติงานเป็นทีม เมื่อมีการวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดของการเรียนการสอนการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหลักสูตรของการเรียนแพทย์พบว่า แม้ว่าจะมีเนื้อหาเรื่องนมแม่และการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการประกอบวิชาชีพของแพทยสภา แต่ในการจัดรูปแบบการสอนเรื่องนมแม่และการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่วนใหญ่ยังมีแต่การจัดการให้ความรู้โดยการบรรยาย ขาดการฝึกทักษะและการเรียนรู้ภาคปฏิบัติในหน่วยงาน นอกจากนี้ ความรู้ที่นักศึกษาแพทย์ได้รับยังมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับขณะที่วนรอบการศึกษานั้น เจอกับอาจารย์ท่านใด และอาจารย์ท่านนั้นมีความสนใจในเรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากน้อยเพียงใด ดังนั้น การพัฒนาการเรียนการสอนเรื่องนมแม่และการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีความจำเป็น และควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการกำหนดว่า แพทย์ที่เรียนจบหลักสูตรแล้วควรมีสมรรถนะ (competency) อะไรบ้าง เพื่อที่จะนำเป้าหมายไปกำหนดเป็นวัตถุประสงค์ในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
1. Moukarzel S, Mamas C, Farhat A, Abi Abboud A, Daly AJ.
A qualitative examination of barriers against effective medical education and
practices related to breastfeeding promotion and support in Lebanon. Med Educ
Online 2020;25:1723950.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจะมีอุปสรรคต่าง ๆ ที่พบบ่อยที่รบกวนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวทั้งในระหว่างการคลอด และในระยะแรกหลังคลอด ได้แก่ การผ่าตัดคลอด การที่มารดามีการตกเลือดหลังคลอด การเจ็บหัวนม ภาวะลิ้นติด อิทธิพลของความเชื่อเรื่องการให้น้ำแก่ทารก การเริ่มอาหารเสริมเร็ว การที่มารดาหรือทารกป่วย และการกลับไปทำงานของมารดา อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่มีแนวโน้มจะเพิ่มเรื่อย ๆ และส่งผลเสียต่อสุขภาพของมารดาและทารก คือ การผ่าตัดคลอด ทั้ง ๆ ที่มีการรณรงค์เพื่อลดการผ่าตัดคลอดให้เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ แต่อัตราการผ่าตัดคลอดก็ยังคงสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว มีการศึกษาพบว่ามารดาที่ผ่าตัดคลอด หากสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนครบ 2 เดือน โอกาสที่มารดาจะสามารถให้ลูกได้กินนมแม่จนครบ 6 เดือนจะสูงขึ้น1 ดังนั้นการเอาใจใส่ดูแลและมีการนัดติดตามมารดาและทารกอย่างใกล้ชิดของบุคลากรทางการแพทย์ในระยะแรกหลังคลอดจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญที่จะช่วยให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวดีขึ้นได้
เอกสารอ้างอิง
1. Lagerberg D, Wallby T, Magnusson M. Differences in
breastfeeding rate between mothers delivering by caesarean section and those
delivering vaginally. Scand J Public Health 2020:1403494820911788.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)