การเรียนการสอนการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของแพทย์ยังไม่เพียงพอ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในหลักสูตรการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับแพทย์ที่จะให้คำปรึกษาเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาและครอบครัว1 ผลที่เกิดขึ้นทำให้ไม่มีการให้คำปรึกษาโดยแพทย์หรือมีการยกภาระการให้คำปรึกษาให้เป็นหน้าที่ของพยาบาล ทั้ง ๆ ที่ควรจะมีการร่วมกันปฏิบัติงานเป็นทีม เมื่อมีการวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดของการเรียนการสอนการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหลักสูตรของการเรียนแพทย์พบว่า แม้ว่าจะมีเนื้อหาเรื่องนมแม่และการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการประกอบวิชาชีพของแพทยสภา แต่ในการจัดรูปแบบการสอนเรื่องนมแม่และการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่วนใหญ่ยังมีแต่การจัดการให้ความรู้โดยการบรรยาย ขาดการฝึกทักษะและการเรียนรู้ภาคปฏิบัติในหน่วยงาน นอกจากนี้ ความรู้ที่นักศึกษาแพทย์ได้รับยังมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับขณะที่วนรอบการศึกษานั้น เจอกับอาจารย์ท่านใด และอาจารย์ท่านนั้นมีความสนใจในเรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากน้อยเพียงใด ดังนั้น การพัฒนาการเรียนการสอนเรื่องนมแม่และการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีความจำเป็น และควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการกำหนดว่า แพทย์ที่เรียนจบหลักสูตรแล้วควรมีสมรรถนะ (competency) อะไรบ้าง เพื่อที่จะนำเป้าหมายไปกำหนดเป็นวัตถุประสงค์ในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

1.        Moukarzel S, Mamas C, Farhat A, Abi Abboud A, Daly AJ. A qualitative examination of barriers against effective medical education and practices related to breastfeeding promotion and support in Lebanon. Med Educ Online 2020;25:1723950.