สิ่งที่ควรมีการเปลี่ยนแปลงในการจัดการเรียนการสอนการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ คือ นักศึกษาแพทย์ที่จบมาขาดทักษะในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ควรจัดควรมีรูปแบบเพื่อสนับสนุนการสร้างทักษะ ซึ่งการที่จะสร้างให้เกิดทักษะนั้น นักศึกษาต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้โดยการ “ดูตัวอย่าง ศึกษาขั้นตอน เลียนแบบการปฏิบัติกับหุ่นจำลอง ฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยภายใต้การควบคุมดูแล และสุดท้ายเมื่อผู้ควบคุมดูแลประเมินว่า นักศึกษาได้ผ่านการปฏิบัติจริงจนมีความชำนาญแล้ว จึงมีการรับรองว่า นักศึกษาสามารถจะปฏิบัติการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ด้วยตนเองโดยมีความมั่นใจได้”

             ดังนั้น รูปแบบการจัดการเรียนการสอนจึงต้องมึความสอดคล้องกันกับกระบวนการเรียนรู้ คือ นักศึกษาต้องได้เห็นตัวอย่าง โดยการจัดให้นักศึกษาต้องผ่านที่ที่มีการให้คำปรึกษาในเรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นั่นคือ หน่วยฝากครรภ์ ห้องคลอด หอผู้ป่วยหลังคลอด คลินิกทารกสุขภาพดี และคลินิกนมแม่  สำหรับการศึกษาขั้นตอน การเลียนแบบปฏิบัติกับหุ่นจำลอง การออกแบบ checklist เพื่อช่วยให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติซ้ำ ๆ ในห้องฝึกหัตถการและฝึกการปฏิบัติโดยอาจจะมีอาจารย์เป็นผู้ประเมิน  ในขั้นตอนการฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยภายใต้การควบคุมดูแล สามารถทำได้โดยกระบวนการจัดให้นักศึกษาแพทย์เก็บ case ที่ได้ให้คำปรึกษาด้วยตนเองภายใต้การดูแลกำกับลงในสมุด logbook และสุดท้ายควรมีการจัดการประเมินทักษะในรูปแบบ OSCE โดยใช้ผู้ป่วยจำลอง เพื่อให้มั่นใจว่า นักศึกษาแพทย์ที่ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนนี้แล้วจะสามารถให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่และการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้จริงด้วยความมั่นใจ

            อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการจัดการเรียนการสอน อาจารย์ควรส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเสริมทักษะในเรื่องการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตให้กับนักศึกษาแพทย์ด้วย เพื่อจะช่วยให้นักศึกษามีทักษะที่จะปรับปรุงคุณภาพการเรียนรู้ของตนเองให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา