คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

จุกนมหลอกมีประโยชน์หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การใช้จุกนมหลอกให้ทารกแรกเกิดดูด โดยทั่วไปจะไม่แนะนำให้ใช้ เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับการลดอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ซึ่งการดูดจุกนมหลอกแล้ว ไม่มีน้ำนมออกมา อาจมีผลต่อพฤติกรรมการดูดนมของทารก อย่างไรก็ตาม ในมารดาที่มีภาวะซึมเศร้า มีการศึกษาพบว่า การใช้จุกนมหลอกในทารกอาจช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1 ซึ่งในกรณีนี้ ความพยายามในการอธิบายเหตุผลคือ ทารกที่ดูดจุกนมหลอก แม้ว่าไม่ได้น้ำนม แต่ทารกจะคุ้นเคยกับการดูดหรืออมจุกนม โดยอาจมีผลในมารดาที่มีภาวะซึมเศร้าที่มีโอกาสจะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนระยะเวลาอันควร อย่างไรก็ตาม การศึกษาถึงคำตอบที่ชัดเจนต้องการการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงประโยชน์ในการใช้จุกนมหลอกในมารดาที่มีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกรณีอื่น ๆ

เอกสารอ้างอิง

  1. Sipsma HL, Kornfeind K, Kair LR. Pacifiers and Exclusive Breastfeeding: Does Risk for Postpartum Depression Modify the Association? J Hum Lact 2017:890334417725033.

 

 

ยิ่งเริ่มให้นมลูกช้าโอกาสที่ลูกจะเสียชีวิตจะมากขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ความใกล้ชิดหรือสายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารกจะเป็นสิ่งที่ปกป้องและช่วยในการรอดชีวิตสูงขึ้น ซึ่งพบในธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้เกิดความผูกพันระหว่างแม่และลูกได้ดีก็คือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จะสร้างความสัมพันธ์จากการสัมผัสเนื้อแนบเนื้อของทารกและมารดา การสบตา การพูดคุย และผ่านกระบวนการทางฮอร์โมนแห่งความรัก ได้แก่ ออกซิโทซิน ที่จะผ่านกลไกการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทในสมอง ความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารกจะช่วยในการพัฒนาการที่ดี นอกจากนี้ แบคทีเรียที่ผิวกายและเต้านมของมารดายังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในลำไส้ของทารกเพิ่มเติมจากแบคทีเรียในช่องคลอดที่ทารกได้รับผ่านการคลอดทางช่องคลอด ดังนั้นการเริ่มให้นมลูกเร็วก็เป็นเสมือนการเริ่มสร้างเกราะคุ้มกันทารกที่ดีและแข็งแกร่ง ดังที่พบจากข้อมูลการศึกษาที่ว่า หากให้ทารกได้เริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้ากว่าในวันแรก ทารกจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากขึ้นกว่าการเริ่มให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในวันแรกถึงร้อยละ 851

เอกสารอ้างอิง

  1. Smith ER, Hurt L, Chowdhury R, et al. Delayed breastfeeding initiation and infant survival: A systematic review and meta-analysis. PLoS One 2017;12:e0180722.

 

 

 

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกเพิ่มมากขึ้นในมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกเหนือจากการที่ทารกได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อที่เป็นการกระตุ้นพัฒนาการของระบบประสาทแล้ว ระหว่างที่มารดาให้นมลูก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก การหลอกล้อ พูดคุย การเล่าเรื่องหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่มารดาทำร่วมกับทารกขณะที่ให้นมลูกจะกระตุ้นพัฒนาการของทารกในด้านต่าง ๆ มีการศึกษาโดยการเก็บข้อมูลกิจกรรมระหว่างที่มารดาให้นมลูกจากเต้ากับมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมผงดัดแปลงสำหรับทารกพบว่า มารดาที่ให้นมลูกจากเต้ามีปฏิสัมพันธ์กับทารกมากกว่ามารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมผงดัดแปลงสำหรับทารก1 ซึ่งกิจกรรมหรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารกน่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่อธิบายถึงการพัฒนาการทางสมองที่ดีกว่าที่พบในทารกที่กินนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Smith JP, Forrester R. Maternal Time Use and Nurturing: Analysis of the Association Between Breastfeeding Practice and Time Spent Interacting with Baby. Breastfeed Med 2017;12:269-78.

โรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การที่มารดาตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การเลือกโรงพยาบาลที่จะฝากครรภ์และคลอดมีความสำคัญและมีผลต่อความสำเร็จในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับการให้เอาหารตามวัยต่อไปจนกระทั่งถึงสองปีหรือนานกว่านั้น ที่ผ่านมามีการศึกษาพบว่า การที่โรงพยาบาลกำหนดบทบาทและปฏิบัติตามนโยบายของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกนั้นเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ และเมื่อศึกษาถึงอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในโรงพยาบาลที่ปัจจุบันได้รับการรับรองว่าเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก โรงพยาบาลที่เคยเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก และโรงพยาบาลที่ไม่ได้เป็นหรือไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายสายสัมพันธ์แม่ลูก พบว่า โรงพยาบาลที่ปัจจุบันได้รับการรับรองว่าเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกจะช่วยป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีกว่าโรงพยาบาลที่เคยเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกและดีกว่าโรงพยาบาลที่ไม่ได้เป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก โดยจะช่วยป้องกันการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนเวลาอันควรได้ถึงร้อยละ 401 เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลที่ไม่ได้เป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ดังนั้น มารดาควรหาข้อมูลของโรงพยาบาลที่จะฝากครรภ์และคลอดว่าได้ปฏิบัติหรือได้รับรองว่าเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกหรือไม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Spaeth A, Zemp E, Merten S, Dratva J. Baby-Friendly Hospital designation has a sustained impact on continued breastfeeding. Matern Child Nutr 2017.

 

ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอดทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัจจุบันเราหันมาสนใจและใส่ใจต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ระยะแรกหลังคลอดมากขึ้น เนื่องจากหากเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะสัมพันธ์กับการลดการเสียชีวิตของทารก อย่างไรก็ตาม พบว่าอัตราการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดพบเพียงร้อยละ 50 ในประเทศที่กำลังพัฒนา ดังนั้น การที่จะส่งเสริมให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกิดได้ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจำเป็นต้องทราบปัจจัยที่มีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการคลอด การผ่าตัดคลอด และการขาดแนวทางการดูแลทารกหลังคลอดที่ชัดเจนเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ1 ดังนั้น การฝากครรภ์และดูแลครรภ์เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอด ลดการผ่าตัดคลอด และการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้ทารกได้เริ่มการกินนมแม่ตั้งแต่ในชั่วโมงแรกจะช่วยให้ผลการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปด้วยดี ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพทารกในอนาคตด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Takahashi K, Ganchimeg T, Ota E, et al. Prevalence of early initiation of breastfeeding and determinants of delayed initiation of breastfeeding: secondary analysis of the WHO Global Survey. Sci Rep 2017;7:44868.