คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

สูติแพทย์ควรมีบทบาทสำคัญในการเริ่มต้นนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เมื่อมารดาตั้งครรภ์ มารดาและครอบครัวจะมาฝากครรภ์ ซึ่งแพทย์ที่พบเจอก็จะเป็นสูติแพทย์ ซึ่งจะเป็นผู้ให้ความรู้ แนะนำการปฏิบัติตัวต่าง ๆ ของมารดาในระหว่างตั้งครรภ์ การคลอด และในช่วงระยะหลังคลอด โดยที่การให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรเริ่มตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จะส่งผลต่อทัศนคติของมารดาและครอบครัวในการที่จะตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งบทบาทที่กล่าวมาแล้วนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นสูติแพทย์ที่เป็นผู้เริ่มต้นดูแลมารดาและครอบครัวในระยะฝากครรภ์ ดังนั้น ในการเรียนการสอนแพทย์ประจำบ้านสาขาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาควรให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่แพทย์ที่จะจบไปเป็นสูติแพทย์ มีการศึกษาในสหรัฐอเมริการพบการจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในแพทย์ประจำบ้านทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยามีชั่วโมงการจัดการเรียนการสอนสูงกว่าแพทย์ประจำบ้านทางกุมารเวชศาสตร์และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว1 ดังนั้น การสื่อสารจากสถาบันผลิตแพทย์ประจำบ้านและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ที่บอกถึงบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนและปกป้องนมแม่ของสูตินรีแพทย์จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยังมีตัวเลขที่ต่ำอยู่ของประเทศไทยได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Rodriguez Lien E, Shattuck K. Breastfeeding Education and Support Services Provided to Family Medicine and Obstetrics-Gynecology Residents. Breastfeed Med 2017.

 

การมีคนในบ้านสูบบุหรี่มีผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? บุหรี่มีสารที่เป็นพิษต่อร่างกายได้แก่ นิโคติน และสารอีกมากมายหลายชนิด หากมีคนในบ้านสูบบุหรี่ มารดาและทารกก็จะมีโอกาสที่จะได้รับสารพิษเหล่านี้ไปด้วยแม้ไม่ได้สูบบุหรี่โดยตรง การได้รับสารพิษจากควันบุหรี่อาจเรียกว่า การได้รับสารพิษจากบุหรี่มือสอง (second hand smoker) ซึ่งผลของการได้รับสารพิษจากควันบุหรี่นั้นมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สั้นลง1 ดังนั้น การซักประวัติของการสูบบุหรี่ของคนในครอบครัวที่มีทารกแรกเกิดกลับไปอยู่ด้วยจึงมีความสำคัญ เพื่อการแนะนำและการให้คำปรึกษาที่เหมาะสม โดยหากคนที่สูบบุหรี่ไม่สามารถจะหยุดสูบบุหรี่ได้ การเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อมารดาและทารกอาจทำโดยแนะนำให้คนที่สูบบุหรี่ควรสูบบุหรี่นอกบริเวณบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงที่มารดาและทารกจะได้รับสารพิษลง

เอกสารอ้างอิง

  1. Rosen-Carole CB, Auinger P, Howard CR, Brownell EA, Lanphear BP. Low-Level Prenatal Toxin Exposures and Breastfeeding Duration: A Prospective Cohort Study. Matern Child Health J 2017.

การพูดเรื่องประโยชน์ในการลดน้ำหนักช่วยให้มารดาวัยรุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีต่อสุขภาพมารดาและทารกในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งประโยชน์ด้านหนึ่งของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือ การช่วยให้มารดาน้ำหนักลดลงได้ดีและมีน้ำหนักกลับสู่ในระยะก่อนการตั้งครรภ์ โดยประโยชน์ในเรื่องของการลดน้ำหนักนี้เป็นที่สนใจในมารดาที่อายุน้อยและมารดาวัยรุ่น ซึ่งจะให้ความสนใจหรือใส่ใจในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์ ในระหว่างการคลอด และหลังคลอด ความที่มารดาอายุน้อยและสนใจในเรื่องของการลดน้ำหนักนั้น มีการศึกษาพบว่า การพูดเรื่องประโยชน์ในการลดน้ำหนักจะช่วยสนับสนุนให้มารดาวัยรุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นได้1 ดังนั้น การสังเกตลักษณะของมารดาในแต่ละคนและการเลือกเน้นประโยชน์หรือข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เหมาะสมหรือตรงใจกับความใส่ใจของมารดา จะช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เป็นไปด้วยดีได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Schalla SC, Witcomb GL, Haycraft E. Body Shape and Weight Loss as Motivators for Breastfeeding Initiation and Continuation. Int J Environ Res Public Health 2017;14.

เพศของทารกอาจมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? พฤติกรรมต่าง ๆ ของมารดามีผลมาจากค่านิยม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมที่มีกันมาของคนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่าเพศของทารกมีผลต่อพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในประเทศอินเดีย1 และมารดาที่มีเชื้อสายของประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของสเปนในสหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทยยังขาดข้อมูลว่าเพศของทารกมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ และในคนไทยที่มีเชื้อชาติที่แตกต่างกันจะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไหม ความรู้ในเรื่องนี้ยังต้องการมีศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เพื่อสร้างความเข้าใจ และทำให้บุคลากรทางการแพทย์มองเห็นถึงปัญหาที่อาจเกิดจากเพศของทารกที่แตกต่างกันหรือเชื้อชาติของมารดาจากเชื้อชาติใดที่มีผลต่อการเริ่มต้นและระยะเวลาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Shafer EF, Hawkins SS. The Impact of Sex of Child on Breastfeeding in the United States. Matern Child Health J 2017.

นมแม่ในทารกป่วยยังต้องการการสนับสนุนในทางปฏิบัติ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การให้นมแม่ในทารกแรกเกิดที่ป่วยที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤตเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์เห็นและยอมรับว่ามีโยชน์ แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาพอควร1 เริ่มตั้งแต่ การสนับสนุนในทางนโยบายของสถานพยาบาลที่จะกระตุ้นให้มีแนวทางปฏิบัติที่ช่วยให้เกิดกระบวนการการเก็บน้ำนมแม่มาจนถึงการให้นมแม่แก่ทารก ซึ่งในแต่ละกระบวนการล้วนแล้วแต่ต้องการบุคลากรที่เอาใจใส่และเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ ร่วมกับการช่วยคิดเป็นภาระงานการพยาบาลที่จะสามารถคำนวณอัตรากำลังในการให้บริการให้ได้อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยในด้านการให้บริการของบุคลากรทางการแพทย์ได้ นอกจากนี้ ในกรณีที่ทารกนอนอยู่นานที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต มารดาอาจมีความลำบากในการเดินทางมาเพื่อดูแลและให้นมลูก การจัดบริการส่งเสริมให้มารดาสามารถพักอยู่ในพื้นที่ที่สะดวกจะมาให้การดูแลทารก ช่วยโอบกอดเนื้อแนบเนื้อ เก็บและให้นมแม่ ก็จะยิ่งช่วยในการสนับสนุนการให้นมแม่ในทารกที่ป่วย ซึ่งจะช่วยให้ทารกหายจากอาการเจ็บป่วยได้เร็วขึ้นและระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาลสั้นลง

เอกสารอ้างอิง

  1. Shattnawi KK. Healthcare Professionals’ Attitudes and Practices in Supporting and Promoting the Breastfeeding of Preterm Infants in NICUs. Adv Neonatal Care 2017.