คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

ความคุ้มค่าในการให้ยาต้านไวรัสในมารดาที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่ติดเชื้อเอชไอวี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?แม้ว่าในประเทศไทยไม่มีข้อแนะนำในการให้นมบุตรสำหรับมารดาที่มีการติดเชื้อเอชไอวี แต่การรับทราบข้อมูลการศึกษาวิจัยถึงการให้ยาต้านไวรัสในมารดาที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่ติดเชื้อเอชไอวีอาจมีประโยชน์เมื่อมีความจำเป็นต้องเลือกใช้ในสถานการณ์ที่มีงบประมาณจำกัด มีการศึกษาในประเทศสวาซิแลนด์ในทวีปแอฟริกาใต้ถึงความคุ้มค่าในการให้ยาต้านไวรัสตาม CD4 และระยะทางคลินิก (clinical staging) ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกหรือจะให้ยาต้านไวรัสแก่มารดาทุกรายที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยเปรียบเทียบความคุ้มค่าทางประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับค่าใช้ที่ต้องลงทุน พบว่าการให้ยาต้านไวรัสแก่มารดาทุกรายที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่ติดเชื้อเอชไอวีมีความคุ้มค่ามากกว่า1 อย่างไรก็ตามการพิจารณาเชิงนโยบายที่ต้องตัดสินใจยังอาจมีข้อจำกัดในเชิงงบประมาณของแต่ละประเทศ ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อใช้คาดคะเนงบประมาณที่จะต้องลงทุนในกรณีจะตัดสินใจเลือกแนวทางการปฏิบัติตามข้อมูลที่ได้มีการศึกษาวิจัยมาก่อนแล้ว

เอกสารอ้างอิง

  1. Cunnama L, Abrams EJ, Myer L, et al. Cost and cost-effectiveness of transitioning to universal initiation of lifelong antiretroviral therapy for all HIV-positive pregnant and breastfeeding women in Swaziland. Trop Med Int Health 2018.

 

แม่ที่เป็นเบาหวานเริ่มนมแม่ช้า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ?แม่ที่เป็นเบาหวานจะมีโอกาสที่จะมีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอด รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นจากการที่แม่เป็นเบาหวานที่ส่งผลทำให้น้ำนมแม่มาช้าและอีกส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากการมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอด ทำให้มีการผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้น ทารกมีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ ภาวะตัวเย็น และการย้ายทารกเข้าหอทารกป่วยวิกฤตสูงขึ้น หากบุคลากรทางการแพทย์สามารถลดภาวะแทรกซ้อนและการย้ายทารกไปหอผู้ป่วยทารกวิกฤตลง จะช่วยเพิ่มการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1 ดังนั้น การดูแลอย่างใกล้ชิดและวางแผนกระบวนการเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยซึ่งจะลดการย้ายทารกไปดูแลที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤตน่าจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สูงขึ้น ?

เอกสารอ้างอิง

  1. Cordero L, Oza-Frank R, Stenger MR, Landon MB, Nankervis CA. Decreasing NICU admissions of asymptomatic infants of women with pregestational diabetes mellitus improves breastfeeding initiation rates. J Neonatal Perinatal Med 2018.

ความวิตกกังวลเรื่องรูปร่างขณะที่ให้นมในมารดาที่อ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?การให้นมแม่ในที่สาธารณะควรจะเป็นเรื่องที่มารดาสามารถจะปฏิบัติได้ด้วยความสบายใจและสะดวกใจ เนื่องจาก ปัจจุบันสตรีมีบทบาทในการทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในบางสังคมรวมทั้งสังคมไทยการยังคงมีความเชื่อว่า การให้นมแม่เป็นเรื่องส่วนตัวและควรให้เฉพาะที่บ้าน มองมุมของเรื่องการให้นมลูกในที่สาธารณะควรมีการปรับเปลี่ยนต่อไปในอนาคต มีการศึกษาเกี่ยวกับการให้นมแม่ในที่สาธารณะในมารดาที่อ้วน พบว่ามารดามีความวิตกกังวลเรื่องรูปร่างขณะให้นมลูกในที่สาธารณะ และอาจพบปัญหาในการจัดท่าให้นมที่เหมาะสม1 ดังนั้น บุคลาการทางการแพทย์ควรเอาใจใส่ ให้กำลังใจ และให้คำปรึกษาในเรื่องการจัดท่าให้นมลูกที่เหมาะสมและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่มารดาในขณะให้นมลูกในที่สาธารณะ

เอกสารอ้างอิง

  1. Claesson IM, Larsson L, Steen L, Alehagen S. “You just need to leave the room when you breastfeed” Breastfeeding experiences among obese women in Sweden – A qualitative study. BMC Pregnancy Childbirth 2018;18:39.

การใช้กัญชาในระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงต่อทารกน้ำหนักตัวน้อย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? กัญชาเป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ทั้งกด กระตุ้น และหลอนประสาท แต่ในปัจจุบันเกิดกระแสที่จะนำมาใช้เป็นยารักษาโรค ซึ่งผลที่ได้รับการรับรองที่ใช้ทางด้านการแพทย์คือ การลดอาการปวดสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง สำหรับการใช้การทางแพทย์ในกรณีอื่น ๆ ควรรอการศึกษาวิจัยให้มีข้อมูลที่ชัดเจนก่อนการนำมาใช้ โดยเฉพาะในประเทศไทย การใช้กัญชายังถือเป็นการเสพยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ในต่างประเทศยังมีการออกข่าวเตือนถึง ธุรกิจกัญชาในตลาดมืดที่มีการโฆษณาคุณสมบัติในการรักษาโรคเกินจริง ผู้บริโภคที่นำไปใช้อาจเกิดอันตรายจากการใช้หรือมีการเสพติดยาได้ ในมารดาที่มีการใช้กัญชาในระหว่างการตั้งครรภ์พบว่าเกิดผลเสียคือทำให้ทารกที่เกิดมามีน้ำหนักตัวน้อย1 อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดและเพิ่มโอกาสที่ทารกแรกเกิดต้องย้ายเข้าสู่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต สำหรับการใช้กัญชาในระหว่างให้นมบุตรจะเกิดผลเสียต่อทารกได้เนื่องจากกัญชาผ่านสู่น้ำนมไปสู่ทารก โดยอาจพบทารกง่วงซึม ไม่สนใจกินนม และลดระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Crume TL, Juhl AL, Brooks-Russell A, Hall KE, Wymore E, Borgelt LM. Cannabis Use During the Perinatal Period in a State With Legalized Recreational and Medical Marijuana: The Association Between Maternal Characteristics, Breastfeeding Patterns, and Neonatal Outcomes. J Pediatr 2018;197:90-6.

 

การเยี่ยมบ้านหลังคลอดช่วยให้แม่ให้นมลูกอย่างเดียวเพิ่มขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การติดตามเยี่ยมมารดาหลังคลอดนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่มีประโยชน์ทั้งในเรื่องการดูแลตนเองของมารดาหลังคลอดและในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยทั่วไปหากโรงพยาบาลมีหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการติดตามเยี่ยมบ้าน ควรมีการประสานงานจากหน่วยงานห้องคลอดหรือหอผู้ป่วยหลังคลอดเพื่อให้มีการติดตามการเยี่ยมบ้านหลังคลอดเมื่อมารดาได้รับการอนุญาตให้กลับบ้าน ซึ่งหากสามารถทำได้ การติดตามการเยี่ยมบ้านควรทำในครั้งแรกในหนึ่งสัปดาห์หลังคลอด เนื่องจากจะสามารถให้คำปรึกษาหรือช่วยแก้ไขปัญหาที่มารดาได้พบเมื่อมารดากลับไปอยู่ที่บ้านที่มีสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปจากขณะที่อยู่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม บางโรงพยาบาลอาจขาดหน่วยงานที่ทำการเยี่ยมบ้าน ควรจัดระบบให้มีการส่งต่อข้อมูลเพื่อให้เกิดกลไกการเยี่ยมบ้านโดยหน่วยงานที่อยู่ในชุมชน ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ซึ่งจะทำหน้าที่เยี่ยมบ้านร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข มีการศึกษาถึงประโยชน์ของการเยี่ยมบ้านหลังคลอดต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว พบว่า การเยี่ยมบ้านหลังคลอดช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวถึง 2.2 เท่า1 ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรให้ความสำคัญกับกลไกการเยี่ยมบ้านโดยจัดกระบวนการให้เกิดระบบที่มีการส่งต่อข้อมูลที่ดี เพื่อให้คุณประโยชน์นี้เกิดแก่มารดาและทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Carvalho M, Carvalho MF, Santos CRD, Santos PTF. First Postpartum Home Visit: A Protective Strategy for Exclusive Breastfeeding. Rev Paul Pediatr 2018;36:8.