คลังเก็บหมวดหมู่: ทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิด

การผ่าตัดเสริมเต้านมมีผลเสียต่อการให้นมลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ค่านิยมในปัจจุบันจะมีค่านิยมที่ต้องการให้เต้านมมีขนาดใหญ่ ทำให้มีการศัลยกรรมเสริมขนาดของเต้านมเพิ่มขึ้น การผ่าตัดเสริมเต้านมนี้จะมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากระหว่างการผ่าตัดอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บและทำลายท่อน้ำนมที่เป็นส่วนที่จำเป็นในการลำเลียงน้ำนมจากต่อมน้ำนมมาที่หัวนมหรือในกรณีที่หากมีการผ่าตัดบริเวณขอบของลานนม โอกาสที่จะเกิดการทำลายท่อน้ำนมจะยิ่งมาก ดังนั้นในมารดาที่มีการผ่าตัดศัลยกรรมเต้านมจะมีความเสี่ยงที่จะไม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวแม้ว่าในมารดาที่มีความต้องการที่จะให้ลูกกินนมแม่ก็ตาม1 แพทย์ผู้ทำการศัลยกรรมเต้านมควรจะมีการให้ข้อมูลในเรื่องเหล่านี้แก่สตรีที่มาปรึกษาเรื่องการผ่าตัด เพราะจะทำให้สตรีได้มีโอกาสทบทวนถึงข้อดีข้อเสียต่าง ๆ ในการทำศัลยกรรมเต้านมอีกครั้งหนึ่งก่อนการตัดสินใจทำผ่าตัด

เอกสารอ้างอิง

  1. Camargo JF, Modenesi TSS, Brandao MAG, Cabral IE, Pontes MB, Primo CC. Breastfeeding experience of women after mammoplasty. Rev Esc Enferm USP 2018;52:e03350.

การหยุดนมแม่เร็วเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการออทิสติก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ปัจจุบันโรคออทิสติกพบมากขึ้น ซึ่งเหตุผลก็น่าจะเป็นจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมหรือสภาพสังคมและค่านิยมที่เปลี่ยนไป ลักษณะหรืออาหารการกินที่มีการเปลี่ยนแปลง ล้วนมีผลกระทบต่อกลุ่มอาการออทิสติก มีการศึกษาพบว่า การใช้ยาแก้ปวด การใช้ยาปฏิชีวนะ การติดเชื้อที่หู และการหยุดให้นมแม่เร็วเพิ่มความเสี่ยงในทารกที่จะเกิดกลุ่มอาการออทิสติก1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในระยะหลังคลอดโดยไม่จำเป็น ระมัดระวังอาการที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อที่หู และสนับสนุนให้แม่ให้นมลูกตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้น ให้ทารกกินนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนครบสองปีหรือตามความต้องการของมารดาและทารก ซึ่งก่อนการให้การดูแลรักษา ควรมีการให้ข้อมูลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มี เพื่อให้มารดาและครอบครัวมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการรักษาด้วยความเต็มใจ

เอกสารอ้างอิง

  1. Bittker SS, Bell KR. Acetaminophen, antibiotics, ear infection, breastfeeding, vitamin D drops, and autism: an epidemiological study. Neuropsychiatr Dis Treat 2018;14:1399-414.

 

 

การจัดเครือข่ายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยแม่ให้นมลูกได้นานขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? เครือข่ายการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น อาจจะมีการเริ่มต้นจากโรงพยาบาลที่ให้การดูแลการตั้งครรภ์และคลอดจากนั้นมีการส่งต่อการดูแลการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปในชุมชน โดยการดูแลต่ออาจทำโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัยเดิมซึ่งจะมีสถานที่อยู่ในชุมชนใกล้บ้านร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขที่ได้รับการอบรมการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จะร่วมมือกันในการดูแลมารดาและทารกอย่างต่อเนื่อง โดยทำการเยี่ยมบ้าน ให้คำปรึกษา และอาจแก้ปัญหาการให้นมลูกที่พบบ่อย เครือข่ายการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น อาจเป็นระบบที่เกิดจากองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรที่อาจทำในรูปแบบมารดาอาสา หรือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่อาสาที่จะช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยจัดเป็นกลุ่มมารดาอาสาพี่เลี้ยงที่จะช่วยให้คำปรึกษามารดาเบื้องต้นในกรณีที่มารดาพบปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่าเครือข่ายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถช่วยให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานขึ้นและนานมากกว่า 6 เดือน1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ผู้รับผิดชอบในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่าย เพื่อให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นโดยเครือข่ายที่อยู่ใกล้บ้านใกล้ใจ

เอกสารอ้างอิง

  1. Bano-Pinero I, Martinez-Roche ME, Canteras-Jordana M, Carrillo-Garcia C, Orenes-Pinero E. Impact of support networks for breastfeeding: A multicentre study. Women Birth 2018;31:e239-e44.

 

การจัดรูปแบบการให้บริการที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การจัดการดูแลมารดาและทารกในโรงพยาบาลแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับนโยบายที่จะนำไปสู่การปฏิบัติของโรงพยาบาลนั้น ๆ โรงพยาบาลที่มีนโยบายสายสัมพันธ์แม่ลูกจะมีแนวโน้มที่จะมีแนวทางการปฏิบัติที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม การให้บริการที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกันตามบริบทและข้อจำกัดของแต่ละโรงพยาบาล มีตัวอย่างการนำการจัดรูปแบบการให้บริการที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งมีการศึกษาการให้ความรู้แก่มารดาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สรีรวิทยาและแนวทางในการปฏิบัติตัวในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แบบหนึ่งต่อหนึ่งกับผู้เชี่ยวชาญผู้ให้คำปรึกษาหลังการคลอด มีสายด่วนให้คำปรึกษาปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ออนไลน์ในอินเตอร์เน็ตให้มารดาศึกษาเพิ่มเติม มีการจัดกลุ่มสนับสนุนการให้นมลูกเมื่อมารดาได้รับอนุญาตให้กลับบ้านพร้อมมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแบบหนึ่งต่อหนึ่ง พบว่ามารดารู้สึกดีกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และรู้สึกได้ประโยชน์จากการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญมากที่สุด1 เนื่องจากกระบวนการย่อยในแต่ละกระบวนการล้วนแล้วแต่มีข้อมูลสนับสนุนว่ามีประโยชน์ในการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในยุคที่กระแสสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีเพิ่มขึ้น สถานพยาบาลที่ต้องการปรับระบบ อาจใช้รูปแบบเหล่านี้เป็นต้นแบบในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Alberdi G, O’Sullivan EJ, Scully H, et al. A feasibility study of a multidimensional breastfeeding-support intervention in Ireland. Midwifery 2018;58:86-92.

 

 

การผ่าตัดคลอด อุปสรรคที่พบบ่อยที่ทำให้มารดาเริ่มต้นให้นมลูกช้า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ปัจจุบันในประเทศไทยมีอัตราการผ่าตัดคลอดที่สูง ในสมัยก่อนที่เทคโนโลยีในการดมยาสลบและการผ่าตัดยังไม่ดี การผ่าตัดคลอดจะเป็นเรื่องที่อาจส่งผลทำให้ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้สูง เมื่อกระบวนการการดูแลรักษารวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ ดีขึ้น มารดาและครอบครัวเริ่มที่จะมีความคิดและค่านิยมว่าการผ่าตัดคลอดเป็นทางเลือกของการคลอดที่สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อบ่งชี้ โดยเมื่อถึงกำหนดคลอด มารดาจะบอกแพทย์ผู้ดูแลว่า กลัวเจ็บครรภ์คลอด ขอผ่าตัดคลอด หรือต้องการคลอดตามฤกษ์ที่กำหนดไว้ เพื่อให้ทารกที่คลอดออกมาโชคดีหรือมีดวงดี ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะแม้ในปัจจุบันการผ่าตัดคลอดก็ยังคงมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่าการคลอดปกติตามธรรมชาติและยังมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย โดยมารดาที่ผ่าตัดคลอดจะมีผลทำให้การเริ่มต้นการให้นมลูกช้า (มีการศึกษาพบว่าการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ผ่าตัดคลอดจะช้ามารดาที่คลอดปกติกว่า 2 เท่า)1 ?ซึ่งส่งผลต่อการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรก การกระตุ้นน้ำนมทำได้ช้า และพบมารดาที่ผ่าตัดคลอดมีความรักความผูกพันน้อยกว่ามารดาที่คลอดปกติตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ในมารดาที่มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาด้วยการผ่าตัดคลอด บุคลากรทางการแพทย์ควรพยายามปรับเปลี่ยนการดูแลเพื่อส่งเสริมให้มารดาได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เร็วขึ้น เช่น เลือกการให้ยาระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลังทำให้มารดาสามารถรู้ตัว สามารถทำการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและเริ่มกระตุ้นดูดนมได้เร็ว ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Kambale RM, Buliga JB, Isia NF, Muhimuzi AN, Battisti O, Mungo BM. Delayed initiation of breastfeeding in Bukavu, South Kivu, eastern Democratic Republic of the Congo: a cross-sectional study. Int Breastfeed J 2018;13:6.