คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ตั้งท้องอยู่ ต้องขับรถไปทำงานเองหรือเดินทาง ทำได้ไหม?

 

? ? ? ? ? การขับรถในคนท้อง สามารถทำได้ แต่เมื่อท้องใหญ่ขึ้นจะรู้สึกอึดอัดจากการขับรถเนื่องจากพวงมาลัยและเข็มขัดนิรภัยซึ่งไม่ได้ออกแบบสำหรับสตรีตั้งครรภ์ และหากเกิดอันตรายจะมีอันตรายต่อคุณแม่และทารกเป็นอย่างมาก ดังนั้นควรกระทำด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงหากทำได้ สำหรับการเดินทางในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้มีประวัติคลอดก่อนกำหนด

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

ท้องแรกไม่มีประสบการณ์ จะรู้ได้อย่างไรว่าเจ็บครรภ์คลอด?

 

? ? ? ? ? การเจ็บครรภ์คลอดจะมีการหดรัดตัวของมดลูก? โดยอาจเริ่มด้วยการปวดหน่วงๆ ที่หลัง? หรือปวดร้าวไปขา ระหว่างมดลูกหดรัดตัวจะสังเกตเห็นท้องแข็งเป็นพักๆ อาการปวดจะสม่ำเสมอและถี่ขึ้นเรื่อยๆ? โดยปกติอาการปวดมักจะถี่โดยเว้นช่วงระยะเวลาน้อยกว่า 10 นาที แม้ว่าจะนอนพัก อาการปวดก็ไม่ดีขึ้น อาการที่อาจตรวจพบร่วมกับการเจ็บครรภ์คลอด ได้แก่ การตรวจพบมูกเลือดออกมาจากช่องคลอดซึ่งจะพบเป็นก้อนมูกข้นมีเลือดผสมอยู่สีแดงหรือน้ำตาลแดง (เดิมมูกนี้ปิดอยู่บริเวณปากมดลูกและจะหลุดผ่านช่องคลอดเมื่อตอนเริ่มระยะเจ็บครรภ์) การมีน้ำเดินเป็นน้ำคร่ำที่รั่วจากถุงน้ำคร่ำซึ่งห่อหุ้มตัวทารกอยู่ อาการเหล่านี้หากมีประกอบกัน จะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงการเจ็บครรภ์คลอด

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

น้ำเดินเป็นอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำเดิน?

น้ำเดิน คือ น้ำคร่ำที่รั่วออกมาจากถุงน้ำคร่ำที่ห่อหุ้มตัวทารก โดยสังเกตเห็นเป็นน้ำใสๆ ไหลออกมาจากช่องคลอด หากนั่งหรือนอนจะเห็นน้ำคร่ำออกมาเปรอะที่นั่งหรือที่นอนคล้ายปัสสาวะรด หากยืนอยู่น้ำคร่ำจะไหลนองมาถึงพื้นโดยมีปริมาณมากพอสมควร และเมื่อเกิดน้ำเดินแล้ว มักจะมีน้ำเดินออกมาต่อเนื่องเรื่อยๆ เป็นพักๆ? การเกิดน้ำเดินโดยปกติมักเกิดในระยะใกล้คลอด ซึ่งจะนำไปสู่การคลอด หากเกิดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ จะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด เพราะเมื่อถุงน้ำคร่ำรั่วมีน้ำเดินออกมา เชื้อโรคก็สามารถจะเข้าไปในถุงน้ำคร่ำก่อให้เกิดการติดเชื้อในทารกและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการสงสัยน้ำเดิน ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

มีเลือดออกจากช่องคลอด ขณะตั้งครรภ์ทำอย่างไร?

 

 

? ? ? ? ? การมีเลือดออกจากช่องคลอดในระหว่างตั้งครรภ์ ในอายุครรภ์น้อยจะเสี่ยงต่อการเกิดการแท้ง จำเป็นต้องรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบสาเหตุของเลือดออกว่าเป็นอันตรายหรือไม่ มีโอกาสแท้งมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่มักใช้การตรวจภายในและการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวน์ตรวจดูโพรงมดลูกและทารกในครรภ์เพื่อหาสาเหตุ โดยสาเหตุที่อาจพบเป็นอันตรายคือ การตกเลือดจากการแท้ง ครรภ์ไข่ปลาอุก ภาวะท้องนอกมดลูก ซึ่งการรักษาก็ดำเนินไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ สำหรับการมีเลือดในอายุครรภ์ที่เกินเจ็ดเดือน เรียกการตกเลือดก่อนคลอด สาเหตุของการตกเลือดที่พบบ่อยได้แก่ รกเกาะต่ำ และภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องให้นอนโรงพยาบาล เพื่อพักผ่อนและตรวจสอบหากเป็นอันตรายต่อมารดาและทารกก็ต้องรีบผ่าตัดคลอด

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

ครรภ์เป็นพิษ เป็นอันตรายหรือไม่?

 

 

? ? ? ? ? ครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะที่เกิดจากการตั้งครรภ์ไปรบกวนระบบการทำงานอวัยวะต่างๆ ความรุนแรงจะมากยิ่งขึ้นตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระบบไหลเวียนโลหิตซึ่งจะทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายและทารกผิดปกติ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เม็ดเลือดแดงแตก ส่งผลให้การทำงานของตับ ไตและสมองผิดปกติตามมาด้วย คุณแม่ที่มีครรภ์เป็นพิษจะตรวจพบมีความดันโลหิตสูง บวมตามตัว หน้าและแขนขา ปัสสาวะตรวจพบมีโปรตีน อาจมีอาการปวดศีรษะ จุกแน่นลิ้นปี่ ตาพร่ามัวร่วมด้วยได้? หลักการการดูแลครรภ์เป็นพิษ คือให้คุณแม่พักผ่อนเพื่อหวังว่าเลือดจะไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ และทารกดีขึ้น และเมื่อถึงอายุครรภ์ที่ทารกจะคลอดออกมาโดยปลอดภัย ก็วางแผนการคลอดทันทีโดยการกระตุ้นการคลอด หรือผ่าตัดคลอดโดยไม่รอหรือปล่อยให้ผู้ป่วยเจ็บครรภ์มาเอง เพราะหากอาการนี้รุนแรงอาจทำให้คุณแม่มีอาการชัก ตกเลือด พิการหรือเสียชีวิต ทารกน้ำหนักตัวน้อย ภาวะนี้จึงเป็นภาวะแทรกซ้อนที่แพทย์ต้องตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลคุณแม่และทารกให้ปลอดภัย เมื่อทารกคลอดแล้ว อาการต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไป โดยคุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษในท้องนี้ ในท้องหน้ามีโอกาสเกิดภาวะนี้สูงขึ้น

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์