คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ผลปัสสาวะมีโปรตีน หรือน้ำตาลหมายความว่าอย่างไร?

 

? ? ? ? ? ระหว่างการนัดติดตามตรวจครรภ์ แพทย์จะให้ตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจน้ำตาลและโปรตีนในปัสสาวะว่าปกติหรือไม่ หากพบผิดปกติ จะเรียกเป็นหนึ่งบวก สองบวก สามบวกและสี่บวกตามความรุนแรง การพบน้ำตาลในปัสสาวะถือว่าผิดปกติ ต้องระมัดระวังโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ควรได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติมโดยการเจาะเลือดตรวจเบาหวานเพิ่มเติม สำหรับการตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ? ต้องระมัดระวังภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเกิดจากการตั้งครรภ์ไปรบกวนระบบการทำงานอวัยวะต่างๆ ความรุนแรงจะมากยิ่งขึ้นตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น แพทย์ควรตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

มีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ ทำให้แท้งไหม?

 

? ? ? ? ? การมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ สามารถมีได้ตามปกติ เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ไปรบกวนการตั้งครรภ์เลยในการตั้งครรภ์ปกติ ดังนั้นไม่ก่อให้เกิดการแท้ง สาเหตุของการแท้งจะมีสาเหตุจำเพาะซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของตัวทารกเอง การกลัวและวิตกกังวลเกินเหตุ ปฏิเสธสามีในการมีเพศสัมพันธ์ อาจส่งเสริมให้เกิดการมีภรรยาน้อย การเที่ยวผู้หญิง ซึ่งเป็นปัญหาครอบครัวตามมา สำหรับท่าที่เหมาะสมในการมีเพศสัมพันธ์ สามารถใช้ท่าร่วมเพศปกติในครรภ์เล็ก เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นอาจใช้ท่าที่ผู้หญิงนั่งอยู่ด้านบน

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ ท้องแล้วยังทำได้หรือไม่?

 

 

? ? ? ? ? การออกกำล้งกายเป็นสิ่งที่ดี หากคุณแม่เป็นคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมออยู่แล้ว สามารถออกกำลังการได้ต่อเนื่องเหมือนกับก่อนตั้งครรภ์ หากแต่การออกกำลังกายควรลดกีฬาที่ต้องประทะ หรือต้องเสี่ยงต่อการกระแทกรุนแรงหรือล้ม ควรเลือกวิ่งเหยาะๆ หรือเดินออกกำลังกาย ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิคที่ไม่มีท่าที่ต้องกระโดดมาก การเลือกออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ทารกตัวไม่ใหญ่เกินไป คลอดง่ายและคุณแม่ฟื้นตัวเร็ว

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

ต้องกินยาบำรุงอะไร ทำให้ลูกฉลาดและแข็งแรง?

 

 

? ? ? ? ? ระหว่างตั้งครรภ์ การรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่นั้นมีความสำคัญ สำหรับยาบำรุงเสริมที่แนะนำได้แก่ ยาบำรุงเลือดซึ่งแพทย์จะให้เมื่อไปฝากครรภ์ รับประทานครั้งละเม็ดวันละครั้งก็เพียงพอในแม่ปกติทั่วไปโดยเริ่มมีความจำเป็นตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณสี่ถึงห้าเดือนขึ้นไปเพื่อไปช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นระหว่างครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น สำหรับการเสริมธาตุอาหารอื่นๆ ไม่ได้มีข้อแนะนำชัดเจน ในสตรีที่ตั้งครรภ์ต้องการแคลเซียมเท่ากับสตรีก่อนการตั้งครรภ์คือ 1200 มิลลิกรัม ในคนไทยส่วนใหญ่ จะรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย และมักไม่พอเพียงโดยปริมาณแคลเซียมในอาหารไทยเฉลี่ยประมาณ 350-400 มิลลิกรัม ดังนั้นการเสริมแคลเซียมด้วยจึงอาจมีความจำเป็นในคุณแม่ที่รับประทานนมเสริมได้น้อยหรือไม่รับประทานเลย สำหรับผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอาจขาดวิตามินบีสิบสองได้ แนะนำให้ให้เสริมในระหว่างตั้งครรภ์ด้วย อาหารเสริมบำรุงสุขภาพที่มีโฆษณาอย่างมากในท้องตลาดและระบบการขายตรงไม่มีความจำเป็นและยังสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

นับกำหนดคลอด เขานับกันอย่างไร?

 

 

 

? ? ? ? ? การนับกำหนดคลอด มีความสับสนกันเพราะหลักในการนับของชาวบ้านกับทางการแพทย์มีความแตกต่างกัน ปกติโดยทั่วไป ชาวบ้านทราบกันว่า การตั้งครรภ์ครบกำหนดเวลาประมาณเก้าเดือน นับตั้งแต่ประจำเดือนขาด ซึ่งก็มีความถูกต้องแต่ไม่แม่นยำ เนื่องจากในบางตนจำไม่ได้ว่าประจำเดือนขาดไปตั้งแต่วันไหน และการนับจำนวนเดือนเก้าเดือนในแต่ละช่วงของปีก็ไม่เท่ากัน เนื่องจากบางเดือนมี 31 วัน บางเดือนมี 30 วันและเดือนกุมภาพันธ์มี 28 หรือ 29 วัน ดังนั้นเพื่อความสะดวกและแม่นยำยิ่งขึ้น การนับจึงเริ่มนับตั้งแต่วันแรกประจำเดือนครั้งสุดท้ายเพราะจะจำง่ายกว่า และนับไปทั้งสิ้น 40 สัปดาห์เพราะการนับเป็นสัปดาห์จะแม่นยำกว่า โดยที่เมื่อคลอดอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไปก็ถือว่าครบกำหนดแล้ว ในครรภ์แรกมักคลอดใกล้กับกำหนดคลอด แต่ในครรภ์หลังมักคลอดก่อนกำหนดคลอดหนึ่งถึงสองสัปดาห์ สำหรับสูตรในการคำนวณที่ทางการแพทย์มักใช้ ได้แก่ วันแรกของประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายบวกเจ็ดวันแล้วลบไปสามเดือนจะเป็นวันกำหนดคลอด

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์