คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

สตรีให้นมบุตรกินสารปรุงแต่งอาหารได้หรือไม่

IMG_1722

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? สารปรุงแต่งอาหารที่พบบ่อย ได้แก่ ผงชูรส สีผสมอาหาร สารกันบูด สารแต่งกลิ่นหรือแต่งรสอาหาร และสารเพิ่มความหวานที่ใช้แทนน้ำตาล การใส่สารปรุงแต่งในอาหารนั้นจำเป็นต้องควบคุมปริมาณให้เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสัดส่วนของสารปรุงแต่งอาหารมีการรายงานในสลากของอาหารตามการควบคุมขององค์การอาหารและยา แม้ว่าสารปรุงแต่งอาหารจะมีการกำหนดปริมาณที่เหมาะสมสำหรับใส่ในอาหาร แต่การควบคุมเพื่อให้มีการใช้ตามปริมาณที่กำหนดยังมีข้อจำกัด ดังนั้น หากมารดามีความจำเป็นต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน การรับประทานอาหารที่หลากหลาย เลือกอาหารที่สดใหม่ ลดการปรุงแต่งสารอาหารได้จะช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับสารปรุงแต่งอาหารในปริมาณที่มากเกินไป สำหรับในสตรีที่ให้นมบุตรนั้น หากรับประทานสารปรุงแต่งอาหารเข้าไป สารนั้นสามารถจะผ่านน้ำนมไปสู่ทารกได้ เนื่องจากปริมาณสารปรุงแต่งอาหารมักจะจำกัดตามปริมาณของอาหารและน้ำหนักตัวของผู้รับประทาน แต่เนื่องจากทารกมีน้ำหนักตัวน้อย การกำจัดของเสียออกจากร่างกายยังมีข้อจำกัด การรับปริมาณสารปรุงแต่งอาหารในปริมาณที่เท่ากันกับผู้ใหญ่จึงอาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ สารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลที่พบในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือเครื่องดื่มลดน้ำหนัก ได้แก่ แอสพาร์เทม (Aspartame) ยังมีผลที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ทารกแรกเกิดที่มีภาวะฟีนิลคีโทยูเรีย (phenylketouria) โดยทำให้ระดับฟีนิลอะละนิน (phenylalanine) ในกระแสเลือดสูง ซึ่งจะไปทำลายเซลล์สมองทำให้เกิดปัญญาอ่อนได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

สตรีให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทใดบ้าง

IMG_1722

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?โดยทั่วไป ในสตรีที่ให้นมบุตรสามารถรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีความหลากหลายได้ทุกชนิด โดยชนิดของอาหารที่มารดารับประทาน จะส่งผลต่อรสชาติของน้ำนมได้ และทำให้ทารกคุ้นเคยกับรสชาติที่หลากหลายของสารอาหาร โดยจะทำให้ทารกสามารถเริ่มอาหารตามวัยได้หลากหลาย และในมารดาที่รับประทานผักจะส่งผลให้ทารกมีการรับประทานผักได้มากขึ้นกว่ามารดาที่ไม่รับประทานผัก อย่างไรก็ตาม1 มีข้อมูลรายงานถึงชนิดของอาหารบางอย่างที่อาจส่งผลต่อทารกในบางคน ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมได้จากการสังเกต ได้แก่

  • การที่มารดารับประทานกระเทียม อาจพบทารกมีอาการร้องกวนได้ในบางคน ซึ่งพบใน 24 ชั่วโมงหลังการรับประทาน
  • การที่มารดารับประทานกะหล่ำปลี บรอกโคลี ผักกาด แอปริคอต ลุกพรุน และถั่ว อาจทำให้ทารกบางคนมีอาการปวดท้องได้
  • การที่มารดารับประทานแตงโม และลูกพีช อาจทำให้ทารกบางคนมีอาการร้องกวนและท้องเสียได้
  • การที่มารดารับประทานพริกไทยแดง และกิมจิ (ผักดองใส่พริก) อาจทำให้ทารกบางคนมีผื่นแดงได้

??????????? จะเห็นว่า อาการที่ผิดปกติอาจเกิดขึ้นในทารกเพียงบางคนที่อาจมีความไวต่อการได้รับสารบางอย่างเท่านั้น ดังนั้น ข้อแนะนำจึงยังคงไม่มีอาหารใดที่มีประโยชน์ที่มารดาต้องหลีกเลี่ยง แต่ควรสังเกตอาการผิดปกติ ได้แก่ การร้องกวน อาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือการมีผื่นแดง ที่อาจเกิดหลังมารดารับประทานอาหารเฉพาะบางอย่าง ซึ่งอาการมักไม่มีอันตรายรุนแรง แต่อาจทำให้มารดาเกิดความวิตกกังวลได้

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

สตรีให้นมบุตรลดน้ำหนักได้ไหม

S__38208115

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? หลังคลอด สตรีที่ให้นมบุตรจะมีน้ำหนักลดลงได้ดีกว่าสตรีที่ไม่ได้ให้นมบุตร โดยน้ำหนักจะลดลงราว 0.5-1 กิโลกรัมต่อเดือนในมารดาที่มีดัชนีมวลกายปกติ สำหรับมารดาที่มีน้ำหนักเกินน้ำหนักอาจลดลงได้ 1-2 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งน้ำหนักของมารดาจะกลับเข้าสู่ปกติก่อนการตั้งครรภ์ในช่วง 6 เดือนหลังคลอด1 อย่างไรก็ตาม ในมารดาบางคนต้องการลดน้ำหนักระหว่างการให้นมบุตร จึงเกิดคำถามว่าทำได้หรือไม่ ต้องตอบว่า โดยทั่วไปในระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอด ทารกอาศัยนมแม่เป็นแหล่งอาหารหลัก ดังนั้น หากมารดาจำกัดอาหาร อาจมีความเสี่ยงในการขาดสารอาหารบางตัว ซึ่งอาจเกิดผลเสียแก่ทารกได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการลดน้ำหนักในช่วงหกเดือนแรก อย่างไรก็ตาม หากมารดายังคงต้องการลดน้ำหนัก มีข้อแนะนำ คือ

  • ไม่ควรให้รับประทานอาหารที่ให้พลังงานน้อยกว่า 1800 กิโลแคลอรี
  • ไม่ควรให้น้ำหนักลดลงมากกว่า 2 กิโลกรัมต่อเดือน
  • ควรรับประทานอาหารให้สมส่วนและหลากหลาย โดยเฉพาะ อาหารที่มีแคลเซียม สังกะสี และอาหารที่มีวิตามินบีสูง
  • หากมีความเสี่ยงในการขาดสารอาหารจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องรับประทานสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุให้เพียงพอเสริม เพื่อป้องกันผลเสียต่อทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

สตรีที่ให้นมบุตรออกกำลังกายได้ไหม

hand expression x2-l-small

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี แต่ในสตรีที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน และจะมาเริ่มออกกำลังกายมากในขณะให้นมบุตร อาจทำให้ร่างกายอ่อนล้ามาก ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย และอาจไม่มีเวลาที่จะใส่ใจในการให้นมบุตรเนื่องจากร่างกายต้องการการพักผ่อน แต่สำหรับสตรีที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว สามารถออกกำลังกายได้ โดยในสตรีที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะมีการผลิตกรดเเลคติก (lactic acid) ที่เพิ่มขึ้นในกระแสเลือด และจะมีปริมาณกรดเเลคติกเพิ่มขึ้นในน้ำนมด้วย ซึ่งปริมาณกรดเลคติกที่เพิ่มขึ้นนี้จะกลับเข้าสู่ระดับปกติหลังจากมารดาออกกำลังกายแล้วราว 30 นาที ปริมาณกรดเเลคติกที่เพิ่มขึ้นในน้ำนมนั้น ไม่ได้เป็นอันตรายแก่ทารก แต่อาจเปลี่ยนแปลงรสชาติของน้ำนมแม่ได้ โดยกรดเเลคติกจะมีรสขมและเปรี้ยว1 ทำให้ทารกอาจปฏิเสธการกินนมแม่ในมารดาหลังจากออกกำลังกายใหม่ๆ ได้ มีข้อแนะนำสำหรับมารดาที่ออกกำลังกายในระหว่างการให้นมบุตร ดังนี้

  • หากมารดามีน้ำนมเต็มเต้า ควรให้ทารกกินนมก่อนการออกกำลังกาย หรืออาจบีบหรือปั๊มนมเก็บก่อนการออกกำลังกาย ทารกจะกินนมได้ปกติเนื่องจากรสชาตินมไม่เปลี่ยนแปลง
  • หลังการออกกำลังกาย หากทำได้เว้นระยะการให้นมบุตรราว 30 นาทีจะทำให้ระดับกรดแลคติกในน้ำนมลดลงสู่ระดับปกติ
  • หากจำเป็นต้องให้นมแม่หลังการออกกำลังกายทันที เช็ดเหงื่อออกจากเต้านมด้วยสำลีชุบน้ำสะอาด บีบน้ำนมในช่วงแรกออกประมาณ 5 มิลลิลิตรหรือ 1 ช้อนชา แล้วจึงให้ทารกกินนมแม่ หากทารกปฏิเสธและมีสีหน้าที่บ่งบอกถึงรสชาติของน้ำนมที่เปรี้ยวหรือขม อาจทิ้งระยะสักครู่โดยโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ แล้วจึงให้ทารกกลับมากินนมอีกครั้ง หรืออาจนำนมแม่ที่บีบเก็บไว้ก่อนการออกกำลังกายมาให้ทารกก่อนก็ได้

??????????? นอกจากนี้ แม้ในมารดาที่ออกกำลังกายโดยการวิ่งจ๊อกกิ้งขณะน้ำนมเต็มเต้าและไม่สวมชุดชั้นในพยุงทรงก็ยังไม่มีข้อมูลที่แสดงว่าจะส่งผลทำให้เต้านมหย่อนยาน อย่างไรก็ตาม แนะนำมารดาควรใส่ชุดชั้นในพยุงทรงเพื่อรองรับน้ำหนักเต้านมที่เพิ่มขึ้น และไม่กดทับการระบายของท่อน้ำนม

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallace JP, Ernsthausen K, Inbar G. The influence of the fullness of milk in the breasts on the concentration of lactic acid in postexercise breast milk. Int J Sports Med 1992;13:395-8.

ข้อแนะนำสตรีมังสวิรัติที่ให้นมบุตร

IMG_1711

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ในมารดาที่รับประทานมังสวิรัติ มักจะมีความเสี่ยงในการขาดวิตามินบี เนื่องจากวิตามินบีมีในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์สูง มีในผักผลไม้ต่ำ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในการรับประทานอาหารที่เป็นโปรตีนไม่เพียงพอ รวมทั้งแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก แคลเซียม และสังกะสี ซึ่งชนิดของการรับประทานอาหารมังสวิรัติในแต่ละแบบ จะมีความเสี่ยงในการขาดสารอาหารที่แตกต่างกัน

  • มารดางดรับประทานเนื้อแดง (semivegetarian) จะมีความเสี่ยงในการขาดแร่ธาตุต่างๆ
  • มารดาที่งดรับประทานเนื้อ สัตว์ปีก และอาหารทะเล (ovolactovegetarian) จะมีความเสี่ยงในการขาดแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะสังกะสี
  • มารดาที่งดรับประทานเนื้อ สัตว์ปีก อาหารทะเล และไข่ (lactovegetarian) จะมีความเสี่ยงในการขาดแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะสังกะสี และมีความเสี่ยงในการขาดโปรตีน
  • มารดาที่งดรับประทานเนื้อ สัตว์ปีก อาหารทะเล และนม (ovovegetarien) จะมีความเสี่ยงในการขาดแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะสังกะสี แคลเซียม เหล็ก มีความเสี่ยงในการขาดวิตามินบีสอง วิตามินบีสิบสอง วิตามินดี และมีความเสี่ยงในการขาดโปรตีน
  • มารดาที่งดรับประทานเนื้อ สัตว์ปีก อาหารทะเล นม และไข่ (vegan) มารดาจะรับประทานอาหารเฉพาะผัก จะมีความเสี่ยงในการขาดแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะสังกะสี แคลเซียม เหล็ก มีความเสี่ยงในการขาดวิตามินบี โดยเฉพาะวิตามินบีสอง วิตามินบีสิบสอง วิตามินดี และมีความเสี่ยงในการขาดโปรตีน
  • มารดาที่รับประทานเฉพาะธัญพืช (macrobiotic) มารดาจะมีความเสี่ยงในการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทั้งในส่วนของทั้งวิตามิน แร่ธาตุ และโปรตีน

??????????? จะเห็นว่า ความเสี่ยงในมารดาที่รับประทานอาหารในแต่ละแบบมีความแตกต่างกัน ในผู้ที่มีความเสี่ยงในการขาดวิตามินบี จำเป็นต้องเสริมวิตามินบีให้กับมารดาโดยเฉพาะวิตามินบีสิบสอง ในผู้ที่มีความเสี่ยงในการขาดโปรตีน จำเป็นต้องรับประทานโปรตีนที่สกัดหรือสังเคราะห์จากพืช เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับโปรตีนที่เพียงพอ ในผู้ที่มีความเสี่ยงในการขาดแร่ธาตุ จำเป็นต้องเสริมแร่ธาตุโดยเฉพาะธาตุเหล็ก สังกะสี และแคลเซียม อย่างไรก็ตาม หากมารดาไม่สามารถรับประทานอาหาร วิตามินหรือแร่ธาตุเสริมได้อย่างเพียงพอ อาจมีความจำเป็นต้องเสริมสารอาหารในส่วนที่ขาดให้กับทารกโดยตรงเพิ่มเติมด้วย1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.