คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ไวรัสตับอักเสบดีกับนมแม่

IMG_1519

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? โรคไวรัสตับอักเสบดี จะเป็นการติดเชื้อร่วมกันกับไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งจะผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่ง การติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกสามารถป้องกันได้จากการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยการให้ภูมิคุ้มกันและวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแก่ทารก ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับการให้นมบุตรจึงแนะนำว่าสามารถให้ได้เช่นเดียวกันกับทารกที่มีมารดาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยที่ทารกควรได้รับการฉีดภูมิคุ้มกันทันทีหลังคลอดและฉีดวัคซีนตามกำหนด การปฏิบัติตามข้อแนะนำนี้จะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบดีของทารกในมารดาที่มีการติดเชื้อได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

มารดาที่เป็นติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีให้ลูกกินนมแม่ได้ไหม

IMG_1562

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? โรคไวรัสตับอักเสบซี โดยทั่วไปจะติดต่อได้จากทางเลือดและน้ำคัดหลั่งเช่นเดียวกันกับไวรัสตับอักเสบบี การติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกสามารถเกิดได้และทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังในทารก สำหรับการติดเชื้อผ่านทางน้ำนมแม่นั้นยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่ชัดเจน เนื่องจากไม่พบความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีระหว่างทารกที่กินนมแม่และทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก แต่ข้อมูลการศึกษายังมีน้อย ร่วมกับยังขาดวิธีการป้องกันการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารก ดังนั้น การให้ทารกกินนมแม่อาจให้ในกรณีที่ไม่มีทางเลือกในการให้อาหารทารกที่ปลอดภัยและเพียงพอที่จะให้แก่ทารก1 โรคไวรัสตับอักเสบซีนั้นยังขาดการคัดกรองในมารดาทั่วไป จึงอาจมีความเสี่ยงได้ในการที่มารดามีการแบ่งบันนมแม่กันเองโดยปราศจากระบบจัดการธนาคารนมแม่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่บุคลากรทางการแพทย์ควรทราบและให้ความรู้แก่มารดาและสังคมเพื่อให้มีความเข้าใจในโรคและการดูแลตนเองและทารกที่เหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

มารดาที่เป็นติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอให้ลูกกินนมแม่ได้ไหม

IMG_1629

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?โรคไวรัสตับอักเสบเอ โดยทั่วไปจะติดต่อจากการรับประทานเชื้อเข้าไปทางปาก ซึ่งมักไม่พบการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารก ร่วมกับยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงการมีเชื้อไวรัสในน้ำนมที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในอดีตมีรายงานการที่สงสัยการติดเชื้อผ่านน้ำนม 1 ราย1 ดังนั้น แม้การให้นมบุตรจะไม่ได้เป็นข้อห้าม แต่หากมีการยืนยันว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอในมารดา แนะนำให้ให้ภูมิคุ้มกันพร้อมกับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอด้วย ?

เอกสารอ้างอิง

  1. Watson JC, Fleming DW, Borella AJ, Olcott ES, Conrad RE, Baron RC. Vertical transmission of hepatitis A resulting in an outbreak in a neonatal intensive care unit. J Infect Dis 1993;167:567-71.

 

มารดาที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีให้ลูกกินนมแม่ได้หรือไม่

IMG_1657

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?โรคไวรัสตับอักเสบบี ในกรณีที่มารดาเป็นพาหะ การติดต่อจากมารดาไปทารกสามารถเกิดในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์โดยการติดต่อผ่านรก หรือที่พบมากกว่าคือการติดต่อในช่วงระหว่างการคลอด ซึ่งแนะนำให้มีการให้ภูมิคุ้มกันต้านไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B immunoglobulin หรือ HBIG) หลังทารกเกิดทันที ร่วมกับการให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแก่ทารกหลังคลอด และฉีดตามระยะอีกสองครั้ง จะช่วยป้องกันการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกได้มากกว่าร้อยละ 95 สำหรับการให้นมแม่ แม้ทางทฤษฎีจะมีไวรัสผ่านและตรวจพบในน้ำนมได้ แต่จากการศึกษารวบรวมสรุปผลจากหลายๆ การศึกษา (meta-analysis) พบว่าความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในทารกที่กินนมแม่ไม่แตกต่างจากทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกในทารกที่ได้รับการให้ภูมิคุ้มกันและฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี1,2 ดังจะเห็นว่า สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อแนะนำว่า หากทารกได้ฉีดภูมิคุ้มกันและวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแล้ว การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและสามารถให้นมแม่ได้ ตั้งแต่ในปี พ.ศ.2552

เอกสารอ้างอิง

  1. Tran TT. Breastfeeding by mothers infected with hepatitis B carries no increased risk of transmission to infants who receive proper immunoprophylaxis: a meta-analysis. Evid Based Med 2012;17:125-6.
  2. Shi Z, Yang Y, Wang H, et al. Breastfeeding of newborns by mothers carrying hepatitis B virus: a meta-analysis and systematic review. Arch Pediatr Adolesc Med 2011;165:837-46.

สีของนมแม่เปลี่ยนแปลงได้จากอะไร

hand expression11-1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ปกตินมแม่ในระยะที่เริ่มต้นที่เป็นหัวน้ำนมจะมีสีเหลือง ต่อจากนั้นเมื่อเปลี่ยนเป็นนมแม่ที่สมบูรณ์เต็มที่จะมีสีขาว โดยนมแม่ส่วนหน้าจะมีสีขาวออกอมฟ้าเล็กน้อย ขณะที่นมแม่ในส่วนหลังจะมีสีขาวครีมจากการที่มีส่วนประกอบของไขมันมากกว่า น้ำนมแม่อาจจะมีสีที่เปลี่ยนแปลงไปได้จากอาหารหรือยาที่มารดารับประทานเข้าไป มีรายงานว่า หากมารดารับประทานเครื่องดื่มประเภทโซดาหรือน้ำผลไม้ที่มีสีส้มจากสีที่ใช้ผสมอาหาร จะทำให้น้ำนมแม่มีสีชมพูหรือสีส้มได้ รวมทั้งทำให้สีของปัสสาวะทารกเปลี่ยนแปลงได้ การกินสาหร่ายที่สกัดเป็นเม็ดอาจทำให้น้ำนมแม่เปลี่ยนเป็นสีเขียวได้ และพบว่าการใช้ยาบางชนิดได้แก่ยา monocycline hydrochloride จะทำให้นมแม่เปลี่ยนเป็นสีดำได้ ดังนั้น มารดาจำเป็นต้องสังเกตว่า การรับประทานอาหารชนิดใดที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนสีของน้ำนม เนื่องจากการที่สีของน้ำนมเปลี่ยนแปลงแสดงถึงมีการผ่านของสารจากอาหารของมารดามาสู่ทารก ซึ่งหากสารนั้นมีความเสี่ยงในการที่ทารกได้รับในปริมาณที่สูงและร่างกายทารกยากที่จะกำจัด มารดาควรหลีกเลี่ยง1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.