คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอดทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัจจุบันเราหันมาสนใจและใส่ใจต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ระยะแรกหลังคลอดมากขึ้น เนื่องจากหากเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะสัมพันธ์กับการลดการเสียชีวิตของทารก อย่างไรก็ตาม พบว่าอัตราการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดพบเพียงร้อยละ 50 ในประเทศที่กำลังพัฒนา ดังนั้น การที่จะส่งเสริมให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกิดได้ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจำเป็นต้องทราบปัจจัยที่มีผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการคลอด การผ่าตัดคลอด และการขาดแนวทางการดูแลทารกหลังคลอดที่ชัดเจนเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ1 ดังนั้น การฝากครรภ์และดูแลครรภ์เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอด ลดการผ่าตัดคลอด และการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้ทารกได้เริ่มการกินนมแม่ตั้งแต่ในชั่วโมงแรกจะช่วยให้ผลการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปด้วยดี ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพทารกในอนาคตด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Takahashi K, Ganchimeg T, Ota E, et al. Prevalence of early initiation of breastfeeding and determinants of delayed initiation of breastfeeding: secondary analysis of the WHO Global Survey. Sci Rep 2017;7:44868.

 

 

การใส่ห่วงอนามัยแบบมีฮอร์โมนตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การใส่ห่วงอนามัยสามารถทำได้ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดก่อนมารดาได้รับอนุญาตให้กลับบ้านโดยไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งมักจะแนะนำให้มารดาใส่ห่วงเลยในกรณีที่ต้องการการคุมกำเนิดชั่วคราวที่ยาวนาน 5-10 ปี โดยตัวอย่างที่มีการเลือกใช้ห่วงอนามัยตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด ได้แก่ มารดาวัยรุ่นที่การติดตามการรักษาทำได้ยากลำบากหรือขาดการร่วมมือในการมาติดตามการรักษา อีกทางเลือกหนึ่งของวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมในกรณีนี้คือ การใส่ยาฝังคุมกำเนิด ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดเช่นกัน โดยทั้งสองวิธีไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่การใส่ห่วงอนามัยตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดนั้น อาจพบการหลุดของห่วงบ่อยมากกว่า นอกจากนี้ การใช้ห่วงอนามัยแบบที่มีฮอร์โมนก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันโดยไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1

เอกสารอ้างอิง

  1. Tromp I, Kiefte-de Jong J, Raat H, et al. Breastfeeding and the risk of respiratory tract infections after infancy: The Generation R Study. PLoS One 2017;12:e0172763.

ทารกที่ผ่าตัดคลอดมักเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การผ่าตัดคลอดเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า ในกระบวนการการผ่าตัดคลอด บุคลากรทางการแพทย์มักจะวิตกกังวลในการให้การดูแลมารดาและทารกมากกว่าการคลอดปกติ เนื่องจากโอกาสที่จะพบภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดคลอดนั้นสูงกว่า ทำให้โอกาสที่ทารกจะได้อยู่ใกล้ชิดกับมารดาตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดน้อยลง ทารกมักถูกแยกจากมารดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมารดาที่ต้องดมยาสลบด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งหลังการผ่าตัดมารดาอาจยังรู้สึกตัวไม่ดี การเริ่มกระตุ้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยการให้มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและการให้ทารกได้เริ่มดูดนมจะทำได้ช้า ซึ่งเป็นผลทำให้การกระตุ้นสายสัมพันธ์ของมารดาและทารกเริ่มได้ช้าไปด้วย การมองเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการเริ่มต้นที่ดีของบุคลากรทางการแพทย์จะมีส่วนที่จะช่วยในการวางแผนกระบวนช่วยเหลือให้การเริ่มต้นสายสัมพันธ์ทำได้แม้มารดาผ่าตัดคลอด หากมารดาได้รับการให้ยาระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาเข้าไขสันหลัง มารดาจะรู้ตัวดี การให้มารดาโอบกอดทารกตั้งแต่ในระยะแรกสามารถทำได้เหมือนมารดาที่คลอดปกติ แต่หากมารดาต้องใส่ท่อช่วยหายใจในการดมยาสลบ ทางเลือกอาจทำการให้การสัมผัสเนื้อแนบเนื้อของทารกบนอกมารดาภายใต้การเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด หรืออาจใช้ทางเลือกโดยให้บิดามีส่วนร่วม ช่วยดูแล หรือช่วยโอบกอดเนื้อแนบเนื้อก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และช่วยกระตุ้นสายสัมพันธ์เช่นกัน

 

น้ำนมเริ่มสร้างตั้งแต่เมื่อไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? น้ำนมจะเริ่มสร้างตั้งแต่ในระยะที่มารดาตั้งครรภ์ในช่วงราว 16-20 สัปดาห์ โดยจะมีการขยายของต่อมน้ำนม ซึ่งมารดาจะรู้สึกว่าเต้านมขยายและตึงคัดมากขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สอง การที่มารดารู้สึกใส่ชุดชั้นในขนาดเดิมแล้วรู้สึกอืดอัด ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการขยายของเต้านมด้วย เต้านมของมารดายังคงสร้างน้ำนมและขยายขนาดไปจนถึงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีการขยายขนาดของเต้านมราว 200-500 กรัม ในมารดาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของเต้านมเลยพบได้น้อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูพัฒนาการของเต้านม เพื่อการวางแผนในการแก้ไขและเตรียมความพร้อมสำหรับการให้นมลูกเมื่อถึงระยะหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม;

การตรวจเต้านมระหว่างการฝากครรภ์ จำเป็นหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ระหว่างการฝากครรภ์ โดยทั่วไปจะมีการตรวจเต้านม ซึ่งวัตถุประสงค์ก็คือ ตรวจดูพัฒนาการของเต้านมว่ามีการพัฒนาการที่เหมาะสมหรือไม่ มีก้อนหรือความผิดปกติใด ๆ ที่เต้านมหรือหัวนมไหม ซึ่งหากมีความผิดปกติ บุคลากรทางการแพทย์จะได้วางแผนการดูแลรักษาตั้งแต่ในระยะแรก เช่น การตรวจพบก้อนที่สงสัยมะเร็งเต้านมที่แม้จะพบได้น้อย แต่หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรก ผลการรักษาก็จะมีพยากรณ์โรคที่ดี สำหรับการตรวจดูความยาวหัวนมนั้น แม้จะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ความยาวหัวนมไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะตัดสินว่ามารดาจะให้นมได้หรือไม่ ดังนั้น หากตรวจพบความยาวของหัวนมสั้น หัวนมบอด หรือหัวนมบุ๋ม การให้คำปรึกษาแก่มารดาที่เหมาะสมว่า การดูดนมแม่นั้น ทารกจะอมหัวนมและลานนมไปด้วยขณะดูดนม สิ่งที่ตรวจพบนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นตัวตัดสินใจว่าลูกจะกินนมแม่ไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ต้องอธิบายให้มารดาเข้าใจเสมอ เพื่อลดความวิตกกังวลของมารดาในระยะฝากครรภ์และหลังคลอดที่อาจส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม;