คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การให้ลูกกินนมแม่ป้องกันการเกิดภาวะหูอักเสบ ภาวะกระเพาะและลำไส้อักเสบได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันแล้วว่า นมแม่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ทารก ซึ่งจะมีผลในการป้องกันการติดเชื้อ โดยการติดเชื้อในวัยเด็กที่พบได้บ่อย ได้แก่ ภาวะหูชั้นกลางอักเสบที่มักเกิดจากอาการหวัดที่อาจมีการลุกลามของเชื้อไปสู่การอักเสบที่หู ภาวะกระเพาะและลำไส้อักเสบที่เกิดจากการที่ทารกในวัยเด็กการดูแลเรื่องความสะอาดในการล้างมือจะมีน้อยและทารกส่วนหนึ่งยังติดกับการเอานิ้วมือเข้าปากหรือดูดนิ้ว การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีรายงานจากการศึกษาพบว่าช่วยป้องกันและลดการเกิดภาวะหูชั้นกลางอักเสบ และภาวะกระเพาะและลำไส้อักเสบในทารกที่กินนมแม่ โดยในรายละเอียดพบว่า ทารกที่กินนมแม่นานกว่า 12 เดือนเมื่อติดตามทารกจนถึงวัยเด็กที่มีอายุ 5 ขวบพบว่ามีทั้งภาวะหูชั้นกลางอักเสบและภาวะกระเพาะและลำไส้อักเสบต่ำกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ1 ดังนั้น สิ่งนี้จะช่วยอธิบายการลดการเสียชีวิตของทารกที่เกิดจากการติดเชื้อของทารกที่กินนมแม่ และเมื่อลดการติดเชื้อที่ทำให้ทารกหรือเด็กเจ็บป่วย โอกาสที่ทารกหรือเด็กจะเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่ดีกว่าจึงพบสูงขึ้น นอกจากนี้ การป้องกันการติดเชื้อที่พบบ่อยยังมีส่วนช่วยในการลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่ทำให้ทารกต้องนอนรักษาอาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Ardic C, Yavuz E. Effect of breastfeeding on common pediatric infections: a 5-year prospective cohort study. Arch Argent Pediatr 2018;116:126-32.

 

 

การให้ลูกกินนมแม่สัมพันธ์กับระยะเวลาของการเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การให้ลูกได้กินนมแม่ช่วยลดการเกิดมะเร็งมดลูกได้ โดยที่มะเร็งมดลูก หากเขียนสั้น ๆ โดยทั่วไปจะหมายถึง มะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ก่อกำเนิดจากความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุภายในโพรงมดลูก ความเสี่ยงของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก คือการที่มีการเริ่มมีประจำเดือนเร็วและมีระยะของการหมดประจำเดือนช้า ดังนั้นจึงมีความคิดถึงความเชื่อมโยงของการป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกว่า การป้องกันนั้นมีผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างการกินนมแม่กับการเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกของทารกเพศหญิงเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นหรือไม่ มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์นี้ แต่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการกินนมแม่กับการเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกของทารกเพศหญิง1 กลไกหรือกระบวนการที่ยังคงใช้อธิบายการป้องกันหรือลดการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกก็น่าจะเป็นไปจากการที่มีการตั้งครรภ์ ร่างกายมารดาจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะออกฤทธิ์ต่อต้านการเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก และยังมีการเว้นระยะของการเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกในช่วงตั้งครรภ์และในช่วงที่ให้นมแม่ที่มารดาจะไม่มีประจำเดือน ซึ่งกลไกการป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่นั้น ก็ยังอธิบายโดยการลดการเกิดการตกไข่ในช่วงระยะที่มารดาตั้งครรภ์และให้นมบุตรเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Al-Mathkoori R, Albatineh A, Al-Shatti M, Al-Taiar A. Is age of menarche among school girls related to breastfeeding during infancy? Am J Hum Biol 2018:e23122.

 

ระยะเวลาของการให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวควรเป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ระยะเวลาของการให้ลูกกินนมแม่นั้นควรเป็นเรื่องที่มารดาและครอบครัวจะตัดสินใจหลังจากที่ทราบถึงข้อมูลประโยชน์และข้อดีต่าง ๆ ในการที่ลูกได้กินนมแม่ และพิจารณาข้อจำกัดในมารดาและครอบครัวในแต่ละครอบครัวแล้ว จึงพิจารณาว่าจะวางแผนที่จะให้ลูกได้กินนมแม่นานเท่าไร รวมถึงวางแผนให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวได้นานเท่าไหร่ด้วย จึงอาจพิจารณาได้ว่า ระยะเวลาของการให้ลูกกินนมแม่ควรเป็นเรื่องเฉพาะตัวของมารดาในแต่ละคน1 ซึ่งหากมารดาและครอบครัวได้กำหนดระยะเวลาที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว หน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ก็คือ การสนับสนุนให้มารดาสามารถประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งหากมารดาสามารถบรรลุเป้าหมายก็เป็นสิ่งที่ดีและเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์มีแรงใจในการทำงานต่อ แต่หากไม่บรรลุเป้าหมายบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ควรจะท้อถอย ควรใส่ใจกับการเรียนรู้ว่า เหตุใดมารดาจึงไม่สามารถจะให้ลูกได้กินนมแม่ตามกำหนด และนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ไปใช้ในการให้คำปรึกษาในมารดาอื่น ๆ ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Alianmoghaddam N, Phibbs S, Benn C. Reasons for Stopping Exclusive Breastfeeding Between Three and Six Months: A Qualitative Study. J Pediatr Nurs 2018;39:37-43.

 

การให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวเป็นปฏิบัติการเพื่อบรรลุเป้าประสงค์เพียงอย่างเดียวใช่หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? แม้จะทราบถึงประโยชน์ที่ดีของการให้ลูกกินนมแม่ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ ให้ทารกได้กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก แต่ในบางครั้ง การตั้งเป้าประสงค์ของความต้องการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนอาจเป็นเพียงความปรารถนาที่ในความเป็นจริงเมื่อเวลาผ่านไป มารดาต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ความต้องการหรือเป้าประสงค์ของข้อกำหนดที่ตั้งเป้าไว้ในตอนแรกว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน อาจเปลี่ยนแปลงไป1 สิ่งนี้อาจส่งผลต่อมารดาในการสร้างความเครียดหรือความรู้สึกผิดที่มารดาไม่สามารถบรรลุความปรารถนาที่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนได้ ดังนั้น ทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรมีแนวคิดที่ตำหนิหรือมองเห็นว่าเป็นความผิดของมารดาหากไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามความตั้งใจที่มีในครั้งแรกได้ และควรมีความเข้าใจ ร่วมกับแนวคิดที่จะช่วยเหลือมารดาและทารกให้ยังคงได้รับประโยชน์ที่ดี หากมารดายังมีนมแม่อยู่ เนื่องจากแม้ว่ามารดาจะไม่สามารถให้นมแม่อย่างเดียวแก่ทารกในช่วงหกเดือนแรกได้ แต่การที่ทารกยังได้กินนมแม่ แม้จะมีการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกไปบ้าง หากมารดายังคงสามารถกลับมาให้นมแม่ต่อได้ ก็ยังคงเป็นผลดีและประโยชน์แก่มารดาและทารกที่จะคงอยู่ตลอดไป แม้จะเพียงแค่ในความคิดคำนึงของบุคลากรผู้ที่มีหน้าที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งสิ่งนี้ก็สามารถเป็นฐานในการสร้างกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อไปได้เป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

  1. Alianmoghaddam N, Phibbs S, Benn C. Reasons for Stopping Exclusive Breastfeeding Between Three and Six Months: A Qualitative Study. J Pediatr Nurs 2018;39:37-43.

 

 

อุปสรรคระหว่างการเป็นมารดาที่ดีกับการเป็นลูกจ้างที่ดี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ความคิดของคนเราบางครั้งก็อาจมีความเบี่ยงเบนที่จะเลือกตัดสินใจในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งขึ้นอยู่กับทั้งเหตุผลและอารมณ์ของผู้ที่คิดตัดสินใจขณะนั้น มารดาบทบาทที่สำคัญคือการได้ให้นมลูก ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันส่วนใหญ่สตรีทำงานนอกบ้าน และทำงานเป็นลูกจ้างหรือข้าราชการที่จำเป็นต้องกลับไปทำงานตามระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลาคลอดได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อาจจะลาคลอดได้ 45-90 วันหลังการคลอด ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาหรืออุปสรรคในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ของมารดาคือ การให้นมลูกอย่างเดียวเป็นระยะเวลาหกเดือน เป็นที่ทราบกันดีว่า ระยะเวลาที่ลาคลอดได้มากขึ้นก็จะเพิ่มโอกาสที่มารดาจะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานขึ้นด้วย แต่หากมีความคำนึงถึงบทบาทของลูกจ้างที่ดี การรีบกลับมาทำงานก็จะทำงานในหน้าที่มีความต่อเนื่อง ก้าวหน้า และส่งผลที่ดีต่องานที่ได้รับ แม้ว่ามารดาอาจต้องพิจารณาเลือกระหว่างการเป็นมารดาที่ดีกับการเป็นลูกจ้างที่ดี1 แต่ในความเป็นจริงนั้น ทางเลือกอาจไม่ได้มีเพียงสองทางอย่างที่มองเห็น และการที่มารดากลับไปทำงาน อาจจะหนทางที่จะยังสามารถให้ลูกได้กินนมแม่ได้ โดยหากมารดามีที่ทำงานใกล้บ้าน การกลับมาให้นมลูกระหว่างเวลาพักก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำได้ นอกจากนี้ การบีบเก็บน้ำนมแม่ หากทำได้อย่างมีการวางแผนที่ดี ลูกก็ยังสามารถกินนมแม่ได้ ดังนั้น เมื่อเผชิญปัญหาที่ต้องเลือก การสร้างทางเลือกที่มีเพิ่มขึ้น จะทำให้มารดาสามารถทำสิ่งที่ตั้งใจได้บรรลุความสำเร็จ โดยที่ลดข้อขัดแย้งหรือปัญหาที่อาจมองทางแก้ในแนวทางขั้วใดขั้วหนึ่งที่รบกวนที่จะสร้างภาวะเครียดแก่มารดาได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Alianmoghaddam N, Phibbs S, Benn C. Reasons for Stopping Exclusive Breastfeeding Between Three and Six Months: A Qualitative Study. J Pediatr Nurs 2018;39:37-43.