คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การปฏิบัติตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? บันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นเป็นแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม การนำแนวทางบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาใช้ในโรงพยาบาลมักพบปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงานหลายอย่าง ตัวอย่างจากการสัมภาษณ์พยาบาลในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาพบว่า อุปสรรคในการนำแนวทางบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ ความขาดแคลนอัตรากำลังของบุคลากร การปฏิบัติที่มีความหลากหลายของพยาบาล ความแตกต่างของการศึกษาและความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของพยาบาล และปัญหาอื่น ๆ ในช่วงระยะหลังคลอด เช่น ความเหนื่อยล้าของมารดา การมาเยี่ยมของญาติผู้ป่วย และงานประจำที่ต้องปฏิบัติในระยะหลังคลอดที่จะรบกวนการให้การสัมผัสเนื้อแนบเนื้อของมารดาและทารก และการจัดท่าที่เหมาะสมในการให้นมลูกของมารดา1 ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ส่วนใหญ่น่าจะคล้ายคลึงกันกับปัญหาอุปสรรคที่จะนำบันไดสิบขั้นนี้มาใช้ในประเทศไทย ดังนั้น การสนับสนุนเชิงนโยบาย อัตรากำลังบุคลากร ระบบการจัดการพัฒนาความรู้แก่บุคลากร รวมทั้งการธำรงรักษาให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องได้โดยมีความก้าวหน้าในอาชีพการทำงานเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้เด็กไทยได้กินนมแม่และเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีความยั่งยืนของการดำเนินงาน

เอกสารอ้างอิง

  1. Cunningham EM, Doyle EI, Bowden RG. Maternity Nurses’ Perceptions of Implementation of the Ten Steps to Successful Breastfeeding. MCN Am J Matern Child Nurs 2018;43:38-43.

การให้ลูกกินนมแม่ในมารดาที่อ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การที่มารดาอ้วนมีผลเสียต่อการตั้งครรภ์และการให้นมบุตร โดยมีโอกาสที่จะมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะผ่าตัดคลอดสูงขึ้น การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ช้า และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักจะสั้นกว่ามารดาที่มีน้ำหนักปกติ มีการศึกษามุมมองของมารดาที่อ้วนต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า มีความท้าทายสามเรื่องที่มารดาต้องเผชิญ เรื่องแรกคือ มารดายังคงมีการตั้งความหวังว่าจะให้ลูกได้กินนมแม่ การที่มารดามีน้ำนมจะทำให้มารดาปลาบปลื้ม เนื่องจากให้นมลูกแสดงถึงบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างมารดาและบุตร เรื่องที่สอง แม้ว่าการให้นมลูกจะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องทราบเทคนิคในการที่จะนำลูกเข้าเต้าเพื่อการดูดนมได้อย่างเหมาะสม เรื่องที่สามคือ การที่มารดาจะต้องนมแม่ในที่สาธารณะ ความวิตกกังวลในการที่ต้องเปิดเผยส่วนของร่างกายที่อ้วนอาจส่งผลต่อจิตใจและความมั่นใจของมารดาในการที่จะให้นมแม่ในที่สาธารณะ1 จะเห็นว่า เรื่องที่มารดาที่อ้วนมีความวิตกกังวลมีความคล้ายคลึงกับมารดาโดยทั่วไป แม้ว่ามารดาที่อ้วนจะมีความเสี่ยงในการที่จะหยุดนมแม่ก่อนระยะเวลาที่เหมาะสม ดังนั้น การติดตามหรือให้คำปรึกษาและดูแลมารดาและทารกอย่างใกล้ชิดจะลดปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Claesson IM, Larsson L, Steen L, Alehagen S. “You just need to leave the room when you breastfeed” Breastfeeding experiences among obese women in Sweden – A qualitative study. BMC Pregnancy Childbirth 2018;18:39.

การกินนมแม่ลดภาวะไขมันในเลือดของสตรีได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? นอกจากประโยชน์ของนมแม่ในเรื่องภูมิคุ้มกันต่อต้านโรคแล้ว การที่มีประวัติการกินนมแม่ยิ่งนานยิ่งลดโอกาสการเกิดภาวะความผิดปกติของไขมันในเลือดสูง โดยมีการศึกษาพบว่าสตรีที่มีประวัติการกินนมแม่นานกว่า 2 ปีจะลดโอกาสที่จะเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงลงร้อยละ 251 ภาวะไขมันในเลือดสูงปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะพบเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาหารการกินที่ส่วนใหญ่มีค่านิยมไปทางอาหารของชาติตะวันตกที่มีสัดส่วนของไขมันในอาหารสูง ร่วมกับวิถีชีวิตของคนในยุคนี้มีการออกกำลังกายน้อยลง ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้น ไม่ค่อยมีกิจกรรมที่มีการใช้พลังงานตามปริมาณอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน จึงเกิดไขมันสะสมและภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางหลอดเลือดและโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และรวมถึงโรคทางหลอดเลือดสมองด้วย ดังนั้น หากมีวิธีที่จะช่วยลดและป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูงด้วยวิธีที่ง่ายและควรปฏิบัติอยู่แล้ว การใส่ใจและให้ทารกได้กินนมแม่ยิ่งนานจะยิ่งป้องกันการเกิดไขมันในเลือดสูงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตในอนาคตได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Cho S, Han E. Association of breastfeeding duration with dyslipidemia in women aged over 20 years: Korea National Health and Nutrition Examination Survey 2010-2014. J Clin Lipidol 2018.

 

 

การเยี่ยมบ้านหลังคลอด สิ่งที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? แม้ว่ากระแสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะดีขึ้นในปัจจุบัน แต่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนหลังคลอดก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่กำหนดอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนมีเป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ 50 การรณรงค์ให้ความรู้มารดาถึงประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนยังเป็นสิ่งที่จำเป็น และยังต้องการการสร้างให้เกิดปัญญาแก่คนในสังคมคือมีความรู้ที่จะเลือกตัดสินใจสิ่งที่เหมาะสมและเป็นประโยขน์ได้อย่างถูกต้องบนรากฐานของการมีข้อมูลในการตัดสินใจที่เพียงพอ การมีนโยบายให้โรงพยาบาลที่ดูแลการคลอดบุตรเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกและมีการปฏิบัติตามบันไดสิบขั้นของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็เป็นสิ่งที่ต้องมีการวางแผนและดำเนินการไปให้มีความเป็นมาตรฐานและสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกก็ยังต้องการการสนับสนุนและการกำหนดนโยบาย การดำเนินงาน และการติดตามการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ การสนับสนุนให้มีการเยี่ยมบ้านหลังคลอด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในมารดาที่หลังจากกลับไปบ้านแล้วมีอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจากสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่อาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อการที่จะให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรก1 เนื่องจากการที่บุคลากรทางการแพทย์ได้ไปเยี่ยมบ้าน จะเห็นสภาพแวดล้อมของมารดาที่อยู่จริง ทำให้สามารถให้คำปรึกษาให้มารดาและครอบครัวเลือกวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมและปฏิบัติได้ การเยี่ยมบ้านนี้จะเสมือนเป็นสิ่งที่เติมเต็มที่จะช่วยลดปัญหาหรืออุปสรรคและเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่หกเดือนได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Carvalho M, Carvalho MF, Santos CRD, Santos PTF. First Postpartum Home Visit: A Protective Strategy for Exclusive Breastfeeding. Rev Paul Pediatr 2018;36:8.

การผ่าตัดคลอด อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัจจุบันอัตราการผ่าตัดคลอดได้พบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีปัจจัยมาจากทั้งตัวผู้ป่วยและแพทย์ผู้ให้บริการ โดยทั่วไปอัตราการผ่าตัดคลอดตามความจำเป็นจะอยู่ในราวร้อยละ 15 ในขณะที่ในโรงพยาบาลของภาครัฐ อัตราการผ่าตัดคลอดอยู่ในราวร้อยละ 40-50 และอัตราการผ่าตัดคลอดในโรงพยาบาลเอกชนอยู่ในราวร้อยละ 80-90 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นจากค่านิยมของมารดาที่กลัวการเจ็บครรภ์คลอดและการต้องเบ่งคลอด ค่านิยมในการเลือกเวลาคลอดหรือต้องการให้ลูกเกิดในฤกษ์ที่ดี และความเชื่อที่คิดว่าการผ่าตัดคลอดทำให้ลูกมีความปลอดภัยมากกว่าการคลอดบุตรทางช่องคลอด สำหรับปัจจัยทางด้านแพทย์ ได้แก่ การผ่าตัดคลอดสามารถกำหนดเวลาทำคลอดได้แน่นอน ไม่ต้องรอคอยการเจ็บครรภ์คลอดตามปกติ การผ่าตัดคลอดตามความต้องการของมารดาและครอบครัวลดข้อขัดแย้งที่มารดาและครอบครัวอาจมาบ่นในภายหลังว่า? เจ็บครรภ์คลอดแล้วยังคลอดไม่ได้ ต้องเจ็บแผลผ่าตัดคลอดอีก และความวิตกกังวลหรือกลัวการฟ้องร้องจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการรอคลอด เนื่องจากความเชื่อของมารดาและครอบครัวยังคงมีความเชื่อว่าการผ่าตัดคลอดยังเป็นการดูแลการคลอดที่ดีกว่า ปัจจัยและความเชื่อผิด ๆ เหล่านี้นำมาซึ่งอัตราการผ่าตัดคลอดที่สูง โดยมีผลถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย1 เนื่องจากหากมารดาต้องดมยาสลบ กว่าจะฟื้นตัว ให้ลูกได้เริ่มกินนม ก็เกินกว่าระยะเวลาที่แนะนำให้ลูกได้เริ่มกินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดแล้ว นอกจากนี้ การเจ็บแผลผ่าตัดคลอดยังมีผลต่อการจัดท่าให้นมลูก ทำให้มีข้อจำกัดและมีความลำบากในการจัดท่าที่เหมาะสม การใช้ยาแก้ปวดของมารดาอาจส่งผลทำให้ทารกง่วงซึมและไม่สนใจจะดูดได้ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วจึงเกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมของมารดาและครอบครัวรวมทั้งคนในสังคมจะสร้างปัญญาหรือทางแก้ที่เป็นทางออกของปัญหาได้โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะช่วยสร้างปัญญาให้เกิดกับคนในสังคม

เอกสารอ้างอิง

  1. Azzeh FS, Alazzeh AY, Hijazi HH, et al. Factors Associated with Not Breastfeeding and Delaying the Early Initiation of Breastfeeding in Mecca Region, Saudi Arabia. Children (Basel) 2018;5.