คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

นมแม่มีโอลิโกแซคคาไรด์ที่ดีอยู่แล้ว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?โอลิโกแซคคาไรด์เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นจากโฆษณานมผง แม้จะยังไม่ทราบประโยชน์ที่แท้จริงแต่ชื่อนี้ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ในน้ำนมแม่มีโอลิโกแซคคาไรด์ที่ดีที่เป็นต้นแบบที่นมผงพยายามจะผลิตเลียนแบบและใช้อ้างอิงถึงประโยชน์เทียบกับนมแม่ โอลิโกแซคคาไรด์ที่อยู่ในนมแม่จะมีทั้งบทบาทที่ช่วยระบบภูมิคุ้มกันที่ดีผ่านจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ของทารก1 จึงเป็นเสมือนเสบียงให้กองทหารรักษาดินแดนช่วยดูแลระบบการทำงานของทางเดินอาหารให้ย่อยอาหารเป็นปกติ ป้องกันเชื้อโรคที่เป็นข้าศึกที่จะเข้ามารุกรานทำให้เกิดท้องเสีย หรืออาการแพ้ต่าง ๆ รวมทั้งการแพ้อาหาร ดังนั้น โอลิโกแซคคาไรด์จึงเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ช่วยป้องกันอาการท้องเสียที่เป็นการเจ็บป่วยที่พบบ่อยและอาจเป็นอันตรายทำให้ทารกเสียชีวิตได้ มารดาและครอบครัวจึงควรทำความเข้าใจที่ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้ลูกได้กินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Bode L. Human Milk Oligosaccharides at the Interface of Maternal-Infant Health. Breastfeed Med 2018;13:S7-S8.

นมแม่ช่วยลดโอกาสเกิดการแพ้อาหาร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่านมแม่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของทารกเข้มแข็ง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการลดการเกิดโรคหรืออาการที่เกี่ยวกับการแพ้ เช่น หอบหืด ผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้ยังพบว่านมแม่อาจช่วยลดการเกิดอาหารแพ้อาหาร โดยทุกเดือนที่กินนมแม่เพิ่มขึ้นจะลดโอกาสการเกิดการแพ้อาหารลงร้อยละ 41 ดังนั้นสมมุติฐานที่อธิบายเรื่องการลดการเกิดการแพ้อาหารน่าจะเกิดจากการช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเป็นปกติ ซึ่งการจัดระเบียบของภูมิคุ้มกันนี้ได้มาจากกระบวนการที่สารในนมแม่ทำหน้าที่กระตุ้นสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในต่อมน้ำเหลืองในระบบทางเดินอาหารของทารก เมื่อเป็นเช่นนี้ มารดาที่มีประวัติภูมิแพ้ หอบหืด ผิวหนังอักเสบ หรือแพ้อาหาร ควรส่งเสริมให้ลูกได้กินนมแม่เพื่อเป็นการป้องกันหรือลดโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้จากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่มีโอกาสรวนจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมลงได้

เอกสารอ้างอิง

  1. van Ginkel CD, van der Meulen GN, Bak E, et al. Retrospective observational cohort study regarding the effect of breastfeeding on challenge-proven food allergy. Eur J Clin Nutr 2018.

การได้กินนมแม่ถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่เท่าเทียมกันของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? นมแม่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับทารกแรกเกิด ไม่ว่ามารดาจะมีฐานะร่ำรวยหรือยากจน จะมีความเท่าเทียมกันของการที่มารดาจะมีโอกาสที่จะมอบนมแม่ให้แก่ลูก1 โอกาสเหล่านี้ถือเป็นสิ่งหนึ่งของการที่ธรรมชาติได้ให้ความเท่าเทียมนี้มาแก่ทารกแรกเกิด บุคลากรในโรงพยาบาลหากดำเนินการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ทารกได้กินนมแม่ในระหว่างหลังคลอดที่มารดาอยู่ในโรงพยาบาล จะช่วยเพิ่มระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาได้ ดังนั้น การวางแผนในการคลอดของมารดา หากคลอดในโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะมีโอกาสที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาวนานกว่าแม้จะมีพื้นฐานของความเท่าเทียมกันในการที่ทารกจะได้กินนมแม่ ปัจจัยการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาลจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่มารดาและครอบครัวควรให้ความสนใจและใส่ใจ เพื่อสร้างโอกาสในการที่จะให้ลูกได้นมแม่ที่ยาวนานขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Vehling L, Chan D, McGavock J, et al. Exclusive breastfeeding in hospital predicts longer breastfeeding duration in Canada: Implications for health equity. Birth 2018.

 

 

การปรับเวลาอาบน้ำให้ทารกแรกเกิด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?การอาบน้ำให้ทารกแรกเกิดในระยะแรกหลังคลอดนั้น เมื่อพิจารณาความจำเป็นและลำดับความสำคัญ มีขั้นตอนที่จำเป็นในการจัดการทารกในระยะแรกหลังคลอดมากกว่าการอาบน้ำให้ทารก โดยทั่วไป เมื่อทารกคลอดใหม่ ๆ การเช็ดตัวทารกให้ทารกตัวแห้งมีความจำเป็นในการป้องกันภาวะตัวเย็นของทารก การประเมินการหายใจและจังหวะการเต้นของหัวใจทารกเพื่อประเมินสุขภาพเบื้องต้นของทารกก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ที่เหลือนอกนั้นล้วนสามารถรอกระบวนการการให้มารดาได้โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และปล่อยให้ทารกใช้ช่วงเวลาในระยะแรกหลังคลอดปรับตัวอยู่บนอกมารดาพร้อมกับคลืบคลานเข้าหาเต้านมและเริ่มต้นการกินนมแม่ได้ทั้งนั้น ตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีนแม้มีความจำเป็นแต่ยังสามารถรอได้ไม่ต้องรีบร้อนฉีดในระยะแรกหลังคลอด ซึ่งจะเป็นการสร้างความเจ็บปวดและรบกวนช่วงเวลาสำคัญที่ควรจัดให้สำหรับการสร้างความผูกพัน ความรักระหว่างแม่และลูก ดังนั้น การปรับขั้นตอนกระบวนการจัดการของพยาบาลหลังการคลอดเช่นการอาบน้ำให้แก่ทารกควรมีการปรับเปลี่ยนตามลำดับความสำคัญ1 เพราะนอกจากจะเป็นการสะท้อนถึงความเข้าใจกลไกการปรับตัวที่เหมาะสมของทารกแล้ว ยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Suchy C, Morton C, Ramos RR, et al. Does Changing Newborn Bath Procedure Alter Newborn Temperatures and Exclusive Breastfeeding? Neonatal Netw 2018;37:4-10.

การให้นมลูกกับการลดความเจ็บปวด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ลูกเป็นเสมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ เมื่อแรกคลอดการได้พบหน้าลูกจึงเป็นสิ่งที่คาดหวังและรอคอยของแม่และพ่อ ดังนั้นความจดจ่อหรือความสนใจของมารดาจึงให้และไปสู่ทารกแรกเกิดจนสิ้น การนำลูกไปไว้บนอกหรือดูดนมมารดาตั้งแต่แรกคลอดจึงช่วยลดความรู้สึกปวดแผลจากการคลอดของมารดาได้ ในทางกลับกัน การอยู่บนอกมารดาหรือการได้ดูดนมแม่ก็สามารถลดความเจ็บปวดของทารกจากการฉีดวัคซีนได้ ทั้ง ๆ ที่ทารกอาจจะยังมองเห็นหน้ามารดาไม่ชัด แต่ความคุ้นเคย ใกล้ชิด กลิ่นและบรรยากาศที่อบอุ่น ปลอดภัยก็ทำให้ทารกสงบและลดความเจ็บปวดลงเมื่อต้องเผชิญกับการฉีดวัคซีน ดังนั้น จึงเป็นข้อแนะนำให้ทารกกินนมแม่ก่อน ระหว่าง หรือหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีในแง่การลดความเจ็บปวดแก่ทารก ยังช่วยหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้ยาแก้ปวดในทารกได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. Suleiman N, Shamsuddin SH, Mohd Rus R, Drahman S, Taib M. The Relevancy of paracetamol and Breastfeeding Post Infant Vaccination: A Systematic Review. Pharmacy (Basel) 2018;6.