คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

ลูกประคบช่วยลดอาการตึงคัดเต้านมได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัญหาตึงคัดเต้านมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในมารดาหลังคลอดบุตร ซึ่งหากดูแลจัดการไม่เหมาะสมอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือมีผลทำให้มารดาหยุดให้นมแม่ได้ อาการตึงคัดเต้านมมักพบในช่วงแรกหลังคลอดเกิดจากการคั่งของเลือดและน้ำเหลืองที่บริเวณเต้านมร่วมกับมีน้ำนมส่วนหนึ่งขังอยู่ในเต้านมด้วย ดังนั้น หลักการรักษาการตึงคัดเต้านมคือ ดูแลให้มีการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองบริเวณเต้านมให้ดีขึ้น ระบายน้ำนมออกจากเต้านม ร่วมกับให้ยาบรรเทาอาการปวดหรือยาลดไข้ การดูแลให้มีการไหลเวียนของเลือด น้ำเหลือง และมีการระบายของน้ำนมที่ดี การใช้ความร้อนประคบเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ ในประเทศไทยมีภูมิปัญญาที่ใช้ในการรักษาอาการปวดที่ใช้มานานตั้งแต่สมัยโบราณ ได้แก่ การใช้ลูกประคบ ได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมพบว่า การใช้ลูกประคบสามารถช่วยลดอาการตึงคัดเต้านมได้1 เหตุผลน่าจะมาจากความร้อนที่ใช้ในการประคบร่วมกับสมุนไพรที่มีอยู่ในลูกประคบช่วยบรรเทาอาการปวด อย่างไรก็ตาม ควรยึดหลักในการรักษาอาการตึงคัดเต้านมพร้อมกันไปด้วย คือ ประคบร้อนก่อน แล้วให้ลูกกระตุ้นดูดนม จากนั้นจึงประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดเลือดหรือน้ำเหลืองที่จะเข้ามาคั่งบริเวณเต้านมเพิ่ม การเข้าใจหลักการในการดูแลรักษาอาการตึงคัดเต้านมจะทำให้ลดปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนที่จะเป็นอุปสรรคในการให้ลูกกินนมแม่ต่อไปได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Ketsuwan S, Baiya N, Paritakul P, Laosooksathit W, Puapornpong P. Effect of Herbal Compresses for Maternal Breast Engorgement at Postpartum: A Randomized Controlled Trial. Breastfeed Med 2018;13:361-5.

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกับการคุมกำเนิด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาพบเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของไทยพบร้อยละ 14.81 การคุมกำเนิดถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาของคุณศิณัฐชานันท์ วงษ์อินทร์ ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พบว่ามารดาวัยรุ่นส่วนใหญ่ขาดความรู้เรื่องเพศศึกษาและการคุมกำเนิด สาเหตุของการมีเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่เกิดจากการอยากลอง สถานที่ที่เกิดการมีเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่บ้านตนเองหรือบ้านเพื่อน แม้มารดาวัยรุ่นที่ศึกษาจะขาดความรู้ แต่พบว่ามีทัศนคติที่ดีต่อการคุมกำเนิด ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์ช่วยส่งเสริมให้วัยรุ่นมีความรู้เรื่องเพศศึกษาและการคุมกำเนิดที่ถูกต้องเหมาะสม น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมลงได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Manolerdtewan W, Ketsuwan S, Wongin S. Teenage pregnancy and exclusive breastfeeding rates. J Med Assoc Thai 2014;97:893-8.

ลักษณะงานของแม่แบบใดที่มีผลต่อการให้นมลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?การกลับไปทำงานของมารดาเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และมีผลทำให้มารดาหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังจากกลับไปทำงานได้ การที่มารดาหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังจากกลับไปทำงานนั้น อาจเป็นเพราะการที่มารดาต้องปรับตัวกับการทำงาน สถานที่ทำงานอาจอยู่ไกลบ้าน ลักษณะของงานที่อาจจะมีความเสี่ยงต่ออันตรายหรือมีความเครียดสูง ความอิสระของลักษณะงาน1 เพื่อนร่วมงาน การดูแลหรือให้การสนับสนุนการบีบหรือปั๊มนมของมารดา มีเครื่องปั๊มนมหรือสถานที่ที่ใช้บีบเก็บน้ำนม และนโยบายของนายจ้างหรือสถานประกอบการในเรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความตั้งใจที่จะให้ลูกได้กินนมแม่ต่อหลังมารดากลับไปทำงานและการคงการให้นมลูกต่อเนื่องเมื่อมารดากลับไปทำงานแล้ว การรณรงค์ให้สถานประกอบการมีนโยบายทางสังคมที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นค่านิยมที่ควรได้รับการส่งเสริมให้เกิดขึ้นและสร้างระบบการสนับสนุนให้มารดาคงการให้นมแม่ได้แม้กลับไปทำงานแล้ว สิ่งนี้จะช่วยสร้างโอกาสที่จะให้ลูกได้กินนมแม่และเป็นรากฐานในการวางแผนการพัฒนาสุขภาพของกำลังคนของประเทศชาติในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Spitzmueller C, Zhang J, Thomas CL, et al. Identifying job characteristics related to employed women’s breastfeeding behaviors. J Occup Health Psychol 2018.

 

นมแม่ช่วยลูกได้แม้อาหารขาดแคลน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? เป็นเรื่องจริงที่นมแม่ผลิตและคงประโยชน์ต่อลูกแม้ในช่วงที่อาหารของแม่ขาดแคลน จะเห็นว่าธรรมชาติให้ความสำคัญกับการผลิตนมแม่เพื่อช่วยให้ทารกเจริญเติบโตต่อไปได้หากภาวะขาดแคลนหรืออดอยากนั้นไม่ต่อเนื่องยาวนานจนสุขภาพของแม่ย่ำแย่ไปก่อน ดังนั้นในสภาวะปกติความสมบูรณ์ของพลังงานจากนมแม่จึงไม่ใช่สิ่งที่วิตกกังวลว่าจะไม่สามารถช่วยให้ทารกเจริญเติบโตตามปกติได้1 แม่จึงสามารถรับประทานอาหารตามปกติในช่วงให้นมลูก แต่การที่แม่กินอาหารที่หลากหลายจะช่วยให้ทารกมีแนวโน้มที่จะคุ้นเคยกับอาหารที่หลากหลายไปด้วยเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งมารดาและทารก มารดาจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าที่ดีจากธรรมชาติมากกว่าอาหารปรุงแต่งที่มีราคาแพงเพราะเป็นค่านิยมหรือความเชื่อที่ขาดหลักฐานการศึกษาเชิงประจักษ์

เอกสารอ้างอิง

  1. Moradi M, Maracy MR, Esmaillzadeh A, Surkan PJ, Azadbakht L. Associations Between Dietary Energy Density in Mothers and Growth of Breastfeeding Infants During the First 4 Months of Life. J Am Coll Nutr 2018:1-7.

 

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักได้รับนมแม่น้อย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?การคลอดก่อนกำหนดเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากปัจจัยด้านทารกที่มักจะมีปัญหาทางด้านการหายใจเร็ว เลือดออกในโพรงสมอง หรือภาวะลำไส้อักเสบ ซึ่งภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีผลทำให้ทารกจำเป็นต้องได้รับการดูแลที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต มีผลทำให้ต้องแยกจากมารดา บางครั้งอาจมีการงดน้ำและนมแม่ชั่วคราว ซึ่งทำให้โอกาสที่ทารกจะได้รับนมแม่น้อยลง ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของทารกที่คลอดก่อนกำหนด ได้แก่ ช่วงเวลาที่ทารกต้องแยกจากมารดา อายุครรภ์ที่คลอดก่อนกำหนด ประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาและความเชื่อมั่นของมารดาว่าตนเองสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1?การสนับสนุนให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องอาการของทารก การเตรียมการและการเริ่มการให้ลูกได้กินนมแม่ทันทีที่มีความพร้อมน่าจะช่วยให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Wang Y, Briere CE, Xu W, Cong X. Factors Affecting Breastfeeding Outcomes at Six Months in Preterm Infants. J Hum Lact 2018:890334418771307.