คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

การให้โปรไบโอติกช่วยลดการเกิดเต้านมอักเสบได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              เต้านมอักเสบหลังคลอดพบได้บ่อยในช่วงสองถึงสามสัปดาห์แรกหลังคลอด มีการศึกษาในเรื่องการใช้โปรไบโอติก (probiotic) ที่บรรจุ L. fermentum × 10⁹ CFU ขนาด 1 แคปซูลวันละหนึ่งครั้งเทียบกับการกินยาหลอกที่ลักษณะเหมือนกัน แล้วติดตามผลการเกิดอุบัติการณ์ของการเกิดเต้านมอักเสบในช่วง 16 สัปดาห์หลังคลอดพบว่า อุบัติการณ์ของเต้านมอักเสบที่พบในกลุ่มทดลองที่ได้รับยาหลอกลดลงร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก1,2 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกินโปรไบโอติกจะมีโอกาสที่จะลดความเสี่ยงของอุบัติการณ์การเกิดเต้านมอักเสบ แต่ความคุ้มค่าของการใช้โปรไบโอติกนั้นขึ้นอยู่กับความถี่ของอุบัติการณ์ของเต้านมอับเสบว่าพบบ่อยมากหรือไม่ และหากมารดาทราบและป้องกันปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงของการเกิดเต้านมอักเสบ เช่น การจัดท่าให้นมลูกที่เหมาะสมหรือปัจจัยเสี่ยงซึ่งจะลดการเจ็บหัวนมและการเกิดหัวนมแตกด้วยจะยิ่งลดและป้องกันการเกิดอุบัติการณ์ของเต้านมอักเสบได้ดีขึ้นอีก ดังนั้นความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ทางการแพทย์ยังต้องรอการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Hurtado JA, Fonolla J. Response to Paricio-Talayero and Baeza re: “Oral Administration to Nursing Women of Lactobacillus fermentum CECT5716 Prevents Lactational Mastitis Development: A Randomized Controlled Trial”. Breastfeed Med 2018;13:454-6.
  2. Paricio-Talayero JM, Baeza C. Re: “Oral Administration to Nursing Women of Lactobacillus fermentum CECT5716 Prevents Lactational Mastitis Development: A Randomized Controlled Trial” by Hurtado et al. (Breastfeed Med 2017;12:202-209). Breastfeed Med 2018;13:453-4.

ความสำคัญของการใช้ภาษาสื่อสารเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การให้ลูกกินนมแม่นั้นต้องถือว่าสิ่งสามัญธรรมดารวมทั้งทางการแพทย์ถือเป็นความปกติทางสรีรวิทยา (physiologically normal) ดังนั้น เมื่อทารกคลอดออกมา มแม่ควรเป็นสิ่งแรกที่เป็นอาหารมาตรฐานสำหรับทารกแรกเกิด และควรปลูกฝังว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ควรถูกใช้ในภาษาสื่อสารที่เป็นทางเลือกที่ต้องเลือกเมื่อทารกเกิด หรือไม่ควรถูกใช้คำว่าเป็นวิธีที่ใช้ทดสอบ (intervention) ในการสื่อสารจากบทความวิจัย1 เพราะการให้ลูกกินนมแม่ถือเป็นวิธีควบคุม (control) หรือวิธีมาตรฐานที่ใช้เปรียบเทียบ (gold standard) เนื่องจากอาจสื่อความหมายผิด ๆ ให้แก่มารดาและครอบครัว อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมและค่านิยมที่ถือปฏิบัติสืบมาในแต่ละสังคมรวมทั้งอิทธิพลของค่านิยมการให้ทารกแรกเกิดกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่มีความเชื่อว่านมแม่มีสารอาหารที่ครบถ้วน ปลอดภัย และนิยมใช้ในหมู่คนสูงศักดิ์หรือคนรวยที่ยังอาจส่งผลต่อมารดาหรือผู้ที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจในการเลือกอาหารสำหรับทารกแรกเกิด การช่วยกันรณรงค์เปลี่ยนแปลงเรื่องการใช้ภาษาสื่อสารจะช่วยส่งเสริมความเข้าใจที่เหมาะสมที่นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Thorley V. Is breastfeeding ‘normal’? Using the right language for breastfeeding. Midwifery 2018;69:39-44.

การกินโฟลิกก่อนและระหว่างตั้งครรภ์อาจป้องกันความผิดปกติหลอดประสาททารกเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีว่า การกินโฟลิกก่อนตั้งครรภ์สามเดือนและระหว่างตั้งครรภ์สามเดือนแรกจะช่วยป้องกันความผิดปกติของระบบหลอดประสาทในทารก (neural tube defect) ได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่มารดาและครอบครัวอาจสับสนในเรื่องจะกินอย่างไรก่อนการตั้งครรภ์ เนื่องจากมักไม่ทราบว่าจะกินโฟลิกอย่างไรให้ก่อนการตั้งครรภ์สามเดือนหรือในสามเดือนของการตั้งครรภ์ นั่นคือมารดาต้องรู้ว่าจะตั้งครรภ์เมื่อไร ในขณะที่ความเป็นจริงนั้นมารดาไม่สามารถกำหนดว่าจะต้องครรภ์ได้เมื่อไร ดังนั้น การแนะนำที่ควรให้แก่มารดาคือ หากมารดาวางแผนจะมีบุตร ควรรับประทานโฟลิก (4 mg) หนึ่งเม็ดวันละครั้ง ซึ่งจะป้องกันทั้งในส่วนมารดาที่ไม่มีและมีประวัติที่มีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของระบบหลอดประสาทในทารกอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ  และทำการตรวจทดสอบการตั้งครรภ์เมื่อมีประจำเดือนขาดหรือมีอาการที่สงสัยว่าตั้งครรภ์ร่วมกับไปฝากครรภ์เพื่อให้แพทย์กำหนดระยะเวลาการตั้งครรภ์ที่แน่นอน เพื่อจะได้วางแผนรับประทานโฟลิกได้อย่างเหมาะสม โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า การกินโฟลิกอาจจะช่วยลดการเกิดความผิดปกติของระบบหลอดประสาทในทารกเพศหญิงมากกว่าเพศชาย1 ซึ่งความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ยังคงต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Zheng X, Pei L, Chen G, Song X, Wu J, Ji Y. Periconceptional Multivitamin Supplementation Containing Folic Acid and Sex Ratio at Birth in a Chinese Population: a Prospective Cohort Study. Paediatr Perinat Epidemiol 2015;29:299-306.

 

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ป้องกันการกินตามอารมณ์ในวัยรุ่นได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             โรคอ้วน ส่วนหนึ่งพบเป็นสาเหตุจากการกินตามอารมณ์ (emotional eating) โดยที่ไม่มีความหิว แต่เกิดจากมีอารมณ์โกรธ เบื่อ เหงา เศร้า เครียด ซึ่งมักพบในคนที่ไม่สามารถแสดงอารมณ์ออกมาเป็นคำพูด (alexithymia) ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาพบว่า ทารกที่มีระยะเวลาการกินนมแม่นานจะพบการกินตามอารมณ์ในวัยรุ่นน้อยกว่าและพบว่าทารกสามารถแสดงอารมณ์เป็นคำพูดได้มากกว่า1 โดยพบความสัมพันธ์นี้ในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง (โดยทั่วไปการแสดงอารมณ์เป็นคำพูด เด็กหญิงจะมีความสามารถในด้านนี้มากกว่าเด็กชาย) ดังนั้น กลไกที่จะช่วยลดการเกิดโรคอ้วนของการกินนมแม่ในเด็กชายอาจสามารถอธิบายได้จากการป้องกันการเกิดภาวะกินตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น

เอกสารอ้างอิง

  1. van Strien T, Beijers R, Smeekens S, Winkens LHH. Duration of breastfeeding is associated with emotional eating through its effect on alexithymia in boys, but not girls. Appetite 2018;132:97-105.

 

 

การเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่โรงพยาบาลช่วยให้ระยะเวลาการให้นมลูกนานขึ้น

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ประโยชน์ของการคลอดทารกในโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือ โรงพยาบาลจะมีนโยบายและการปฏิบัติรวมทั้งขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะเสริมสร้างความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาและครอบครัว และมีแนวทางการดูแลส่งเสริมให้ทารกได้เริ่มต้นการกินนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด มีการส่งเสริมให้มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และหลีกเลี่ยงการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกและอาหารอื่นที่จะให้แก่ทารกในระยะแรก นอกจากนี้ ยังมีระบบติดตามและส่งต่อการดูแลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรอาสาที่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชุมชน ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงพบว่าหากมีการให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวในโรงพยาบาลได้ จะช่วยให้ระยะเวลาการให้นมลูกของมารดายาวนานขึ้น1 นี่น่าจะถือเป็นผลประโยชน์หนึ่งของการที่ส่งเสริมให้โรงพยาบาลดูแลมารดาและทารกอย่างเป็นมิตรต่อทารกในเรื่องของนมแม่และปฏิบัติตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Vehling L, Chan D, McGavock J, et al. Exclusive breastfeeding in hospital predicts longer breastfeeding duration in Canada: Implications for health equity. Birth 2018.