คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

จะรู้ได้อย่างไรว่า มารดามีปัญหาเรื่องหัวนม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ปกติแล้ว แนะนำให้สตรีมีการตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกวันในขณะอาบน้ำ ร่วมกับการส่องกระจกดูลักษณะหรือความผิดปกติที่มองเห็นได้ โดยอาจรอยบุ๋มหรือผื่นแดง และตรวจสอบลักษณะของหัวนมว่ามีหัวนมบอด บุ๋ม แบนราบ สั้น หรือใหญ่ไหม ลักษณะของหัวนมเหล่านี้ อาจส่งผลต่อการอมหัวนมและลานนมของทารก ทำให้ทารกเข้าเต้าลำบาก และเป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

  • หัวนมบุ๋มหรือหัวนมบอด จะมีลักษณะของหัวนมที่บุ๋มหรือลึกลงไปจากระดับฐานของหัวนม ซึ่งอาจจะเป็นเองหรือเป็นจากการบาดเจ็บหรือการผ่าตัดในอดีตที่ทำให้เกิดพังผืดยึดรั้งให้หัวนมมีระดับต่ำบุ๋มลงไป
  • หัวนมแบน จะมีลักษณะของหัวนมที่ราบไปกับระดับฐานของหัวนมหรือลานนม
  • หัวนมสั้น การมองหรือการสังเกตด้วยตาอาจมีความลำบาก หากใช้เครื่องมือวัดจะพบว่าความยาวของหัวนมสั้นกว่า 7 มิลลิเมตรในระยะหลังคลอด แต่มารดาสามารถตรวจสอบหัวนมสั้นด้วยตนเองโดยใช้วิธีง่ายๆ คือ การใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กระตุ้นหัวนมให้ยืดยาวขึ้นมา โดยการกดหรือเลื่อนนิ้วมือไปในแนวของเต้านมด้านหลัง จากนั้นใช้นิ้วทั้งสองจับหัวนมดู หากสามารถจำหัวนมได้ติด น่าจะแสดงว่า หัวนมของมารดาไม่สั้น
  • หัวนมใหญ่ หัวนมมารดาทั่วไปขนาดราว 1 เซนติเมตร เช่นเดียวกันการมองดูหัวนมแล้วจะบอกว่า หัวนมใหญ่นั้น บอกได้ยาก แต่หากหัวนมมารดาใหญ่เกิน 2 เซนติเมตรก็มีโอกาสที่จะรบกวนการเข้าเต้าของทารกขณะดูดนมได้

? ? ? ? ? ? ? ?อย่างไรก็ตาม การส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของปัญหาของหัวนมที่พบนั้น จะส่งผลก็ต่อเมื่อปัญหานั้นส่งผลต่อการอมหัวนมและลานนมของทารก เนื่องจากขณะที่ทารกกินนมแม่นั้น หัวนมไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่เป็นตัวตัดสินความสำเร็จในการเข้าเต้า ดังนั้น แม้ว่าการตรวจลักษณะของหัวนมและเต้านมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมของมารดาในการให้นมบุตร แต่มารดาไม่ควรสร้างความวิตกกังวลให้กับตนเองมากเกินไปจากการที่มีลักษณะของหัวนมที่บอด บุ๋ม แบนราบ หรือใหญ่ จนเลือกที่จะไม่ให้นมแม่ หรือ เครียดจนกระทั่งน้ำนมแม่ไม่ไหลหรือมาช้า ซึ่งยังมีวิธีที่จะช่วยหรือให้คำปรึกษาในกรณีที่มารดามีหัวนมเป็นลักษณะเหล่านี้

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

หากลูกปฏิเสธเต้านม มารดาควรทำอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? สาเหตุของการปฏิเสธเต้านมของลูกเกิดได้ในหลายกรณี ซึ่งจัดเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ การเจ็บป่วยไม่สบายตัว การมีน้ำนมลดลง การสับสนระหว่างการดูดจุกนมกับการดูดเต้า บรรยากาศในการให้นมลูกไม่เหมาะสม และทารกแยกห่างจากมารดานาน ดังนั้นสิ่งที่มารดาควรปฏิบัติหากทารกปฏิเสธเต้านม คือ

  • ตรวจสอบว่าทารกมีความเจ็บป่วยหรือไม่สบายตัวที่ใด ให้การดูแลตามสาเหตุของความเจ็บป่วย ก่อนเสมอ
  • หากน้ำนมน้อยลง จากการให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ควรหยุดการให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ให้ลูกกระตุ้นกินนมจากเต้านมแทน หากทารกยังสับสนระหว่างจุกนมกับการกินนมจากเต้าด้วย อาจใช้การบีบหรือการปั๊มนมเพื่อช่วยกระตุ้นน้ำนมไปก่อน อาจร่วมกับการให้นมแม่โดยป้อนจากถ้วยหรือใช้ช้อนป้อน ร่วมกับการให้ลูกกินนมจากเต้าในขณะที่ลูกง่วงหลับซึ่งจะลดการปฏิเสธเต้านม
  • ปรับเปลี่ยนท่าที่ให้นมทารก เพราะท่าบางท่าอาจช่วยให้ทารกรู้สึกสบายตัวมากกว่าในการกินนมจากเต้า
  • การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ โดยให้ผิวของทารกสัมผัสกับผิวของมารดาโดยตรงจะช่วยกระตุ้นความรู้สึก การรับรู้ความรักความใส่ใจของมารดาที่ส่งผ่านไปให้กับบุตร ทารกจะรับรู้ได้และรู้สึกสงบ ช่วยให้การเข้าเต้าและกินนมได้ดีขึ้น
  • สร้างบรรยากาศที่ดี สงบ ร่มเย็น ปราศจากสิ่งดึงดูดความสนใจต่อสิ่งอื่น ๆ ของทารก ซึ่งจะช่วยให้ทารกมีสมาธิกับการกินนมจากเต้า

? ? ? ? ? ?แต่หากมารดาปฏิบัติเบื้องต้นตามข้อแนะนำนี้แล้วยังไม่ได้ผล ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อร่วมสังเกตปฏิกิริยาของมารดาและทารกที่จะให้คำแนะนำเฉพาะรายต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

สาเหตุของการที่ลูกปฏิเสธเต้านม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การปฏิเสธเต้านมเป็นสิ่งที่พบเจอได้ในระหว่างที่มารดาให้นมลูก การปฏิเสธเต้านมของลูกไม่ได้พบในทารกทุกคน และการปฏิเสธเต้านมของลูกนั้นไม่ได้หมายความว่าลูกพร้อมที่จะหย่านม แต่สาเหตุของการปฏิเสธเต้านมของลูกเกิดได้ในหลายกรณี ซึ่งมารดาควรรับทราบเพื่อจะได้ให้การดูแลลูกได้อย่างเหมาะสมหากมีการปฏิเสธเต้านม สาเหตุของการปฏิเสธเต้านมที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • การที่ทารกเจ็บในช่องปาก อาจจะเกิดจากการที่ฟันจะขึ้น หรือมีการติดเชื้อราในช่องปาก หรือจากการเป็นหวัด
  • การที่ทารกมีการอักเสบติดเชื้อในหู ซึ่งจะทำให้ทารกเกิดอาการปวดขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในช่องหูในช่วงที่ทารกดูดนม
  • การเจ็บของทารกจากการอุ้มทารกในท่าบางท่า บางครั้งทารกอาจเจ็บหัวไหล่จากการปลูกฝีหรือฉีดวัคซีน ท่าอุ้มบางท่าที่กดบริเวณที่ฉีดวัคซีนทำให้ทารกเจ็บ การปรับเปลี่ยนท่าจะช่วยให้ทารกสงบและกลับมากินนมได้
  • การเป็นหวัด หรือมีอาการคัดจมูก ทำให้ทารกหงุดหงิดหรืออึดอัดขณะที่ทารกดูดนม
  • การที่มารดามีน้ำนมลดน้อยลง จากการที่ให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจากขวดนมและจุกนม ทำให้ลูกติดความสบายจากการดูดจุกนม เกิดการสับสนระหว่างการดูดจุกนมกับการดูดนมจากเต้า ซึ่งส่งผลทำให้ทารกปฏิเสธเต้านม
  • การที่มีสิ่งที่รบกวนความสนใจในระหว่างการกินนมของทารก เช่น เสียงที่ดัง หรือแสงที่สว่างจ้าจนเกินไป หรือสิ่งเร้าอื่น ๆ ที่ดึงดูดความสนใจของทารก
  • การที่มารดาแยกทารกออกจากเต้าขณะที่ทารกกำลังดูดนมบ่อย ๆ หรือซ้ำ ๆ ซึ่งส่งผลทำให้ทารกเกิดปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อความเครียด โดยการปฏิเสธเต้านม
  • การตอบสนองต่อปฏิกิริยาของมารดาเมื่อทารกกัดหัวนม ซึ่งหากมารดามีปฏิกิริยาตอบสนองต่อทารกที่เป็นความโกรธ หรือพูดจาก้าวร้าว สิ่งเหล่านี้จะทำให้ทารกเกิดการต่อต้านโดยการปฏิเสธเต้านมได้
  • การที่มารดาแยกจากทารกนาน ทารกเกิดความรู้สึกเหินห่าง ไม่คุ้นเคย
  • การที่ทารกรู้สึกไม่พอใจหรือเศร้าสร้อย จากการที่มีการทะเลาะกันของคนในบ้านหรือผู้ใกล้ชิดที่เกิดเสียงดังจนส่งผลต่อความรู้สึกและการรับรู้ของทารก ทารกอาจแสดงปฏิกิริยาต่อต้านโดยการปฏิเสธเต้านมได้

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

 

 

OB-GYN 4.0 ความรู้ทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาทันยุค

หนังสือ OB-GYN 4.0 ความรู้ทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาทันยุค

กดดาวน์โหลดที่นี่

เจ็บหัวนมหรือเต้านมอย่างไร สงสัยเชื้อรา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การเจ็บหัวนมเป็นอาการที่พบได้บ่อยในมารดาหลังคลอด โดยเฉพาะมารดาที่คลอดบุตรคนแรกยังไม่มีประสบการณ์ในการให้นมลูก เมื่อให้นมลูกใหม่ ๆ หัวนมจะเสียดสีกับริมฝีปากและลิ้นทารก ทำให้มารดาเจ็บหัวนมได้ ซึ่งอาการเจ็บหัวนมนี้มักเป็นตอนเริ่มให้นมใหม่และดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ที่พบได้บ่อยที่เป็นสาเหตุใหญ่อีกสาเหตุหนึ่งคือ การจัดท่าให้นมลูกที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเมื่อแก้ไขท่าในการให้นมลูกแล้ว อาการมักจะหายในหนึ่งสัปดาห์1 ในกรณีที่อาการเจ็บหัวนมไม่หาย เจ็บระหว่างการดูดนมและหลังจากลูกดูดนมไปแล้วก็ยังเจ็บ เจ็บจี๊ดเข้าไปในหน้าอกหรือเต้านม ร่วมกับมีลักษณะของหัวนมแดงหรือชมพู เป็นสะเก็ด เป็นมัน และอาจมีหัวนมแตก โดยอาจพบร่วมกับทารกมีฝ้าในปาก ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะที่บ่งชี้ถึงการติดเชื้อรา ซึ่งการดูแลรักษาจำเป็นต้องรักษาทั้งมารดาและทารก รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เรื่องความสะอาดของชุดชั้นใน เครื่องในการปั๊มนมหรือให้นม ของเล่นลูกที่ใช้อมเข้าปากบ่อย ๆ รวมทั้งการล้างมือมารดาและทารกบ่อย ๆ เนื่องจากการดูแลรักษาใช้เวลานาน และหากไม่ตัดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ มารดาจะกลับมาติดเชื้อราและเจ็บปวดหัวนมหรือเต้าได้อีก และนำไปสู่การท้อและหยุดให้นมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Laosooksathit W, Hanprasertpong T, Ketsuwan S. Comparison of Breastfeeding Outcomes Between Using the Laid-Back and Side-Lying Breastfeeding Positions in Mothers Delivering by Cesarean Section: A Randomized Controlled Trial. Breastfeed Med 2017;12:233-7.