หากลูกปฏิเสธเต้านม มารดาควรทำอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? สาเหตุของการปฏิเสธเต้านมของลูกเกิดได้ในหลายกรณี ซึ่งจัดเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ การเจ็บป่วยไม่สบายตัว การมีน้ำนมลดลง การสับสนระหว่างการดูดจุกนมกับการดูดเต้า บรรยากาศในการให้นมลูกไม่เหมาะสม และทารกแยกห่างจากมารดานาน ดังนั้นสิ่งที่มารดาควรปฏิบัติหากทารกปฏิเสธเต้านม คือ

  • ตรวจสอบว่าทารกมีความเจ็บป่วยหรือไม่สบายตัวที่ใด ให้การดูแลตามสาเหตุของความเจ็บป่วย ก่อนเสมอ
  • หากน้ำนมน้อยลง จากการให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ควรหยุดการให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ให้ลูกกระตุ้นกินนมจากเต้านมแทน หากทารกยังสับสนระหว่างจุกนมกับการกินนมจากเต้าด้วย อาจใช้การบีบหรือการปั๊มนมเพื่อช่วยกระตุ้นน้ำนมไปก่อน อาจร่วมกับการให้นมแม่โดยป้อนจากถ้วยหรือใช้ช้อนป้อน ร่วมกับการให้ลูกกินนมจากเต้าในขณะที่ลูกง่วงหลับซึ่งจะลดการปฏิเสธเต้านม
  • ปรับเปลี่ยนท่าที่ให้นมทารก เพราะท่าบางท่าอาจช่วยให้ทารกรู้สึกสบายตัวมากกว่าในการกินนมจากเต้า
  • การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ โดยให้ผิวของทารกสัมผัสกับผิวของมารดาโดยตรงจะช่วยกระตุ้นความรู้สึก การรับรู้ความรักความใส่ใจของมารดาที่ส่งผ่านไปให้กับบุตร ทารกจะรับรู้ได้และรู้สึกสงบ ช่วยให้การเข้าเต้าและกินนมได้ดีขึ้น
  • สร้างบรรยากาศที่ดี สงบ ร่มเย็น ปราศจากสิ่งดึงดูดความสนใจต่อสิ่งอื่น ๆ ของทารก ซึ่งจะช่วยให้ทารกมีสมาธิกับการกินนมจากเต้า

? ? ? ? ? ?แต่หากมารดาปฏิบัติเบื้องต้นตามข้อแนะนำนี้แล้วยังไม่ได้ผล ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อร่วมสังเกตปฏิกิริยาของมารดาและทารกที่จะให้คำแนะนำเฉพาะรายต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017