คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

ฝีที่เต้านมรักษาอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ฝีที่เต้านมมักเกิดหลังจากมีการอักเสบของเต้านม ทำให้การระบายน้ำนมมีความยากลำบากและมีเชื้อโรคเข้าไปร่วมแทรกซ้อนทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองในเต้านม โดยอาการของมารดาที่มีฝีที่เต้านมจะมีอาการรุนแรงกว่าเต้านมอักเสบเนื่องจากจะมีหนองขังอยู่ในเต้านม มารดามักมีไข้สูงต่อเนื่อง โดยอาจพบมีอาการหนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้ หากตรวจที่เต้านมมารดาจะพบลักษณะของการอักเสบคือ มีการบวม แดง และร้อน กดเจ็บ ร่วมกับคลำได้ก้อนของฝีที่ขังอยู่ใต้ผิวหนังในเต้านม ซึ่งหากสงสัยภาวะนี้ การตรวจยืนยันด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจะช่วยในการวินิจฉัยและช่วยในการติดตามผลการรักษาได้ด้วยโดยสามารถวัดขนาดของฝีหลังการรักษา โดยหลักของการรักษาคือ ต้องระบายฝีออกเพื่อช่วยให้ยาปฏิชีวนะที่ให้สามารถเข้าถึงและรักษาอาการได้ดี ในสมัยก่อน การรักษาทำโดยการผ่าเปิดแผลเพื่อระบายฝีที่เต้านม แต่ในปัจจุบันแนะนำให้ใช้การดูดหนองออกโดยใช้เข็มเจาะดูด โดยอาจจะใช้การคลำแล้วเจาะดูด หรือเจาะดูดภายใต้การทำคลื่นเสียงความถี่สูงที่จะช่วยในการบอกตำแหน่งของฝี ซึ่งการเจาะดูดฝีออกนี้จะมีแผลเล็กกว่าและทำความเสียหายหรือรบกวนท่อน้ำนมน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม การรักษาฝีที่เต้านมยังคงต้องใช้เวลานานและต่อเนื่อง โดยแนะนำว่าขณะรักษามารดาควรให้นมลูกเพื่อระบายน้ำนม1 แต่ในทางปฏิบัติมักมีความลำบากเนื่องจากเมื่อมีฝีและมีการอักเสบของเต้านม บริเวณลานนมมักจะอักเสบและแข็ง ซึ่งทำให้การอมหัวนมและลานนมของทารกทำได้ยาก มารดาจำเป็นต้องให้ความพยายาม การนวดร่วมกับการประคบร้อนที่เต้านมยังคงช่วยในการระบายน้ำนมด้วย สำคัญที่สุด หากหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดท่อน้ำนมอุดตัน เต้านมอักเสบ ก็จะลดการเกิดฝีที่เต้านมได้

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

?

จะรู้ได้อย่างไรว่า เต้านมอักเสบ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? เต้านมอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างหนึ่งที่พบเป็นปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการขังของน้ำนมที่ไม่มีการระบายที่เกิดจากการเว้นระยะการให้นมบุตรนาน เกิดการอุดตันของท่อน้ำนมและมีการติดเชื้อร่วมแทรกซ้อนไปด้วย ซึ่งเชื้อที่มักเข้าไปทำให้เกิดการติดเชื้อของเต้านมจะเป็นเชื้อโรคที่พบบริเวณผิวหนัง โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เชื้อโรคเข้าไปในเต้านมได้ ได้แก่ การมีหัวนมแตก ซึ่งมักเกิดจากการจัดท่าการให้นมลูกที่ไม่เหมาะสม สำหรับอาการที่มารดาจะสังเกตได้ว่ามีเต้านมอักเสบคือ การเจ็บบริเวณเต้านม มีอาการบวม แดง และร้อน โดยอาจพบร่วมกับการมีก้อนที่เต้านมจากการขังของน้ำนมในท่อน้ำนม มารดามักมีไข้ ซึ่งหากอาการไข้ของมารดาเป็นไข้สูงและอยู่นานกว่า 24 ชั่วโมงเป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงความรุนแรงของอาการเต้านมอักเสบที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือดูแลโดยแพทย์1 ก่อนที่ภาวะเต้านมอักเสบจะรุกรามไปเป็นฝีที่เต้านม ส่วนใหญ่เต้านมอักเสบมักเป็นที่เต้านมข้างเดียว โดยพบที่เต้านมข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าที่จะเป็นพร้อมกันทั้งสองข้าง สำหรับหลักการรักษาเต้านมอักเสบ มารดายังจำเป็นต้องให้นมแม่แก่ลูก การระบายน้ำนมออกสม่ำเสมอจะช่วยในการรักษา ร่วมกับหากสงสัยมีการติดเชื้อร่วมด้วยควรให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อ นอกจากนี้ในกรณีที่มีก้อนที่เต้านม การนวดหรือการประคบร้อนให้น้ำนมสามารถระบายออกไปจากการขังได้จะช่วยให้อาการดีขึ้นด้วย จะเห็นว่าสาเหตุของการเกิดเต้านมอักเสบจะคล้ายกับการเกิดท่อน้ำนมอุดตัน ซึ่งหากมารดาป้องกันการเกิดท่อน้ำนมอุดตันได้ก็น่าจะช่วยลดการเกิดเต้านมอักเสบเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

 

ทำไมถึงเกิด ท่อน้ำนมอุดตัน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? มารดาที่ให้ลูกดูดนมสม่ำเสมอ น้ำนมมักไหลดี แต่หากมารดาเริ่มเว้นระยะการให้นมแม่นาน หรือไม่ได้ปั๊มนมหรือบีบน้ำนมด้วยมือช่วยระบายน้ำนม น้ำนมที่คั่งอยู่ต่อมน้ำนมก็จะมีโอกาสขังหรือบางครั้งจับตัวเป็นก้อนอุดตันท่อน้ำนม มารดาจะคลำได้เต้านมมีก้อนเป็นลำตามท่อน้ำนมในบริเวณที่ขัง หากการขังของน้ำนมมาก มารดาจะตึง เจ็บบริเวณก้อนได้ โดยหากปล่อยไว้นาน จะมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้ามาร่วมทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ เต้านมอักเสบหรือฝีที่เต้านมได้ ดังนั้น การที่มารดาทราบสาเหตุของการเกิดท่อน้ำนมอุดตันที่ส่วนใหญ่เกิดจากการไม่ได้ระบายน้ำนมจากการเว้นระยะการให้นมลูกนาน การแก้ไขที่ควรทำ ได้แก่ ให้ลูกกระตุ้นดูดนมที่เต้านมข้างนั้นบ่อย ๆ โดยท่าที่เหมาะสมคือท่าที่คางทารกวางอยู่ในตำแหน่งของก้อน เนื่องจากทารกจะอมหัวนมและลานนมและดูดท่อน้ำนมบริเวณที่อุดตันได้ดีจากท่านี้1 ร่วมกับการนวดหรือประคบร้อนตรงบริเวณก้อน โดยการนวดทำได้นวดไล่น้ำนมมาบริเวณลานนมและหัวนม สาเหตุอีกอย่างที่พบได้บ่อยเช่นกันคือ การใส่ชุดชั้นในที่รัดแน่นจนเกิดไปหรือชุดชั้นในที่มีโครงลวดที่อาจกดรัดท่อน้ำนม ส่งเสริมให้เกิดการอุดตัน ดังนั้น หากหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านี้ มารดาก็จะห่างไกลจากปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่รุนแรงได้

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

 

เต้านมคัด นมมีมาก ดีไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? หากมารดามีเต้านมคัด มารดามักมีอาการเจ็บเต้านม ซึ่งหากอาการตึงคัดเต้านมมีมากอาจต้องรับประทานยาแก้ปวดร่วมกับการประคบเต้านม สำหรับกรณีที่น้ำนมมารดามีมาก ไหลเร็วด้วยนั้น อาจส่งผลให้เกิดการตึงคัดของลานนม ลานนมตึงหรือแข็ง ทำให้ทารกเข้าเต้าการอมหัวนมและลานนมได้ไม่ดี ทารกอมได้เฉพาะหัวนม มารดาจึงเกิดการเจ็บหัวนมขณะให้นมลูก หรือการที่น้ำนมไหลเร็วจนเกินไป อาจทำให้ลูกสำลัก หรือออกแรงในการงับหัวนมมากขึ้น เพื่อลดความเร็วของการไหลของน้ำนม สิ่งนี้ก็อาจทำให้มารดาเจ็บหัวนมได้เช่นกัน จะเห็นว่า อาการตึงคัดเต้านม หรือน้ำนมมามาก แม้จะแสดงว่าร่างกายมีการตอบสนองต่อการกระตุ้นการดูดนมของลูกได้ดี แต่หากมีมากจนทำให้ลานนมแข็งหรือตึงเกินไป อาจส่งผลเสียต่อการเข้าเต้าได้ การแก้ไขอาการตึงของลานนมที่มากเกินไปจากน้ำนมมามาก ทำได้โดยสอนให้มารดาบีบน้ำนมออกก่อน ให้ลานนมนุ่มลง จะช่วยให้ทารกอมหัวนมและลานได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น และลดการเจ็บหัวนมขณะลูกกินนมได้

 

 

ลูกกินนมบ่อยมาก แสดงว่าน้ำนมไม่พอหรือ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? โดยทั่วไปเต้านมมารดาจะสร้างน้ำนมตามความต้องการของทารก ซึ่งการที่มารดาให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวน้ำนมมารดาจะสร้างจนเพียงพอกับความต้องการของลูก แต่จะมีช่วงที่ทารกยืดตัว ซึ่งจะพบในช่วงที่ครบสัปดาห์ที่ 3 สัปดาห์ที่ 6 และช่วงครบเดือนที่ 3 ทารกจะหิวและกินนมตลอด อาการที่ลูกหิวกินนมตลอดในช่วงนี้ ไม่ได้แสดงว่าน้ำนมไม่เพียงพอ แต่เป็นกลไกของร่างกายที่จะตอบสนองต่อการที่ลูกจะเข้าสู่ระยะยืดตัวที่จะมีการเจริญเติบโตที่เร็ว โดยหากมารดามีความเข้าใจจะทำให้ไม่เกิดความวิตกกังวลหรือก่อให้เกิดความเครียดกับมารดา ในอีกกรณีหนึ่ง อาจพบว่าทารกกินนมบ่อยคือ ช่วงเวลาที่ทารกกินนมอาจสั้นเกินไป หรือทารกกินนมเฉพาะน้ำนมส่วนหน้า การที่ช่วงที่ทารกกินนมสั้นเกินไปคือราว 5-10 นาที (ปกติกินนมราว 15-30 นาทีต่อครั้ง) ทารกบางคนกินนมแล้วหลับ หากมารดาไม่กระตุ้นปลุกทารกให้กินนมต่อ ทารกจะตื่นมากินนมบ่อย ๆ หรือในกรณีที่ทารกกินนมเฉพาะน้ำนมส่วนหน้าที่จะมีปริมาณน้ำตาลสูง ย่อยง่าย ทารกจะถ่ายบ่อย หิวบ่อย ซึ่งในกรณีมารดาต้องกระตุ้นปลุกทารกมากขึ้น หากทารกหลับและต้องพยายามให้ทารกดูดนมจากเต้านมให้เกลี้ยงเต้าก่อน สลับไปอีกข้าง เพราะมารดาบางคน เห็นว่าเต้านมอีกข้างมีน้ำนมไหลดีขณะที่ลูกดูดที่เต้านมนี้อยู่ ก็สลับไปให้อีกข้าง ในกรณีนี้จะทำให้ลูกได้เฉพาะน้ำนมส่วนหน้าเช่นกัน? การที่ทารกขาดการกินน้ำนมส่วนหลังที่มีปริมาณไขมันสูงซึ่งจะทำให้ทารกอิ่มท้องนาน จะส่งผลให้ทารกกินนมบ่อยได้ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อลักษณะที่เหมาะสมของการกินนมแม่ จะช่วยให้มารดามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้น