ฝีที่เต้านมรักษาอย่างไร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ฝีที่เต้านมมักเกิดหลังจากมีการอักเสบของเต้านม ทำให้การระบายน้ำนมมีความยากลำบากและมีเชื้อโรคเข้าไปร่วมแทรกซ้อนทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองในเต้านม โดยอาการของมารดาที่มีฝีที่เต้านมจะมีอาการรุนแรงกว่าเต้านมอักเสบเนื่องจากจะมีหนองขังอยู่ในเต้านม มารดามักมีไข้สูงต่อเนื่อง โดยอาจพบมีอาการหนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้ หากตรวจที่เต้านมมารดาจะพบลักษณะของการอักเสบคือ มีการบวม แดง และร้อน กดเจ็บ ร่วมกับคลำได้ก้อนของฝีที่ขังอยู่ใต้ผิวหนังในเต้านม ซึ่งหากสงสัยภาวะนี้ การตรวจยืนยันด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจะช่วยในการวินิจฉัยและช่วยในการติดตามผลการรักษาได้ด้วยโดยสามารถวัดขนาดของฝีหลังการรักษา โดยหลักของการรักษาคือ ต้องระบายฝีออกเพื่อช่วยให้ยาปฏิชีวนะที่ให้สามารถเข้าถึงและรักษาอาการได้ดี ในสมัยก่อน การรักษาทำโดยการผ่าเปิดแผลเพื่อระบายฝีที่เต้านม แต่ในปัจจุบันแนะนำให้ใช้การดูดหนองออกโดยใช้เข็มเจาะดูด โดยอาจจะใช้การคลำแล้วเจาะดูด หรือเจาะดูดภายใต้การทำคลื่นเสียงความถี่สูงที่จะช่วยในการบอกตำแหน่งของฝี ซึ่งการเจาะดูดฝีออกนี้จะมีแผลเล็กกว่าและทำความเสียหายหรือรบกวนท่อน้ำนมน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม การรักษาฝีที่เต้านมยังคงต้องใช้เวลานานและต่อเนื่อง โดยแนะนำว่าขณะรักษามารดาควรให้นมลูกเพื่อระบายน้ำนม1 แต่ในทางปฏิบัติมักมีความลำบากเนื่องจากเมื่อมีฝีและมีการอักเสบของเต้านม บริเวณลานนมมักจะอักเสบและแข็ง ซึ่งทำให้การอมหัวนมและลานนมของทารกทำได้ยาก มารดาจำเป็นต้องให้ความพยายาม การนวดร่วมกับการประคบร้อนที่เต้านมยังคงช่วยในการระบายน้ำนมด้วย สำคัญที่สุด หากหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดท่อน้ำนมอุดตัน เต้านมอักเสบ ก็จะลดการเกิดฝีที่เต้านมได้

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

?