คลังเก็บหมวดหมู่: ข่าวสาร

ข่าวสาร

อุปสรรคของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่เป็นแพทย์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?แม้ว่าแพทย์จะทราบถึงประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นอย่างดี แต่มีการศึกษาพบว่า แพทย์มากกว่าครึ่งหนึ่งที่หยุดให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร ซึ่งเหตุผลของการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่พบ ได้แก่ ยุ่งมากจนไม่มีเวลา ตารางเวลางานบางครั้งไม่สามารถกำหนดได้ ระยะเวลาของการทำงานในแต่ละวันยาวนาน ไม่มีสถานที่ที่จะปั๊มหรือเก็บน้ำนม ระยะเวลาของการลาพักหลังคลอดสั้น1 สิ่งเหล่านี้ต่างมีผลทำให้แพทย์ต้องหยุดการให้นมโดยไม่ตั้งใจ นโยบายที่สนับสนุนให้แพทย์ลาพักหลังคลอดอย่างเหมาะสม และเมื่อกลับมาทำงาน มีการจัดสถานที่ปั๊มนมรองรับเพื่อเป็นสวัสดิการแก่บุคลากร การจัดสถานที่รับเลี้ยงทารกเพื่อให้มารดาสามารถมาให้นมลูกในช่วงพักในระหว่างการทำงาน อาจจะช่วยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่เป็นแพทย์สูงขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Cantu RM, Gowen MS, Tang X, Mitchell K. Barriers to Breastfeeding in Female Physicians. Breastfeed Med 2018.

การกินนมแม่อาจช่วยป้องกันการสบฟันที่ผิดปกติ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? แม่บางคนอาจมีความกังวลว่าหากลูกกินนมแม่นาน ๆ แล้ว จะมีการสบฟันที่ผิดปกติ (malocclusion) มีการศึกษาที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับการสบฟันที่ผิดปกติ ซึ่งจากผลการศึกษาของงานวิจัยนี้พบว่า การที่ลูกกินนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดการสบไขว้ฟันหลัง (posterior crossbite) และการสบฟันผิดปกติในชั้นที่ 2 (class 2 malocclusion)1 นอกจากนี้ผลของการป้องกันยังเพิ่มตามระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ดังนั้นผลจากข้อมูลที่มีการศึกษาน่าจะบ่งชี้ถึงประโยชน์ของการให้ลูกได้กินนมแม่ในด้านการสบฟัน หากรวมกับประโยชน์ของนมแม่ในด้านอื่น ๆ ที่มีต่อมารดาและทารก เช่น ป้องกันมะเร็งเต้านมในมารดาที่ปัจจุบันเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของสตรีจากมะเร็งในประเทศไทยและของโลก และป้องกันการเสียของชีวิตของทารกในระยะแรกหลังคลอด (neonatal death) จากอาการท้องเสียหรือการติดเชื้อในทางเดินอาหาร เป็นต้น การตัดสินใจที่จะเลือกให้ลูกได้มีโอกาสที่จะได้รับอาหารที่มีประโยชน์สูงสุดในระยะแรกคือ ?การให้ลูกได้กินนมแม่? จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ

เอกสารอ้างอิง

  1. Borrie F. Breastfeeding and occlusal development. Evid Based Dent 2018;19:5.

การนวดเต้านม การขาดมาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? แม้จะมีรายงานว่า การนวดเต้านมสามารถช่วยลดอาการตึงคัดเต้านมได้1-3 แต่ในประเทศไทย วิธีการและรูปแบบในการนวดเต้านมนั้นมีหลากหลาย มีทั้งแบบไทยโบราณหรือตามรูปแบบวัฒนธรรมสืบต่อมาในแต่ละท้องถิ่นหรือตามรูปแบบการนวดเต้านมของญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย ออสเตรเลีย หรืออังกฤษ1,3-6 โดยที่ในปัจจุบัน มีทั้งการให้บริการในสถานพยาบาลและการให้บริการเชิงการค้า มีทั้งที่ตั้งเป็นลักษณะคลินิกและที่ให้บริการถึงที่บ้าน มีการโฆษณาเกินจริงหรือมีข้อบ่งชี้ที่มากกว่าหลักฐานเชิงประจักษ์ การขาดข้อมูลการศึกษาที่ชัดเจนในแต่ละศาสตร์ของการนวดเต้านม ทำให้การแนะนำหรือให้คำปรึกษาทางการแพทย์มีความยากลำบาก การรวบรวมความรู้? กำหนดข้อบ่งชี้เบื้องต้นที่สามารถให้การดูแลรักษาด้วยการนวดได้โดยปลอดภัย เช่น? อาการตึงคัดเต้านมที่มารดาไม่มีไข้หรืออาการแทรกซ้อนที่แสดงการอักเสบของเต้านมหรือมีแผลที่หัวนม และกำหนดข้อควรระวังหรือข้อบ่งห้ามในกรณีที่มารดามีไข้สูงหรือนานกว่า 24 ชั่วโมง มีเต้านมมีอาการบวมแดง กดเจ็บ คลำได้เป็นก้อน มีแผลที่หัวนมหรือมีหัวนมแตกร่วมด้วย ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา การสื่อสารข้อมูลที่เป็นแนวทางในการให้การดูแลรักษาโดยการนวดเต้านมอย่างปลอดภัย ควรเผยแพร่ทางสื่อให้มีความหลากหลายเพื่อกระจายให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงและมีความรู้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถจะพิจารณาและตัดสินใจที่จะดูแลตนเองเมื่อเกิดปัญหาได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Witt AM, Bolman M, Kredit S, Vanic A. Therapeutic Breast Massage in Lactation for the Management of Engorgement, Plugged Ducts, and Mastitis. J Hum Lact 2016;32:123-31.
  2. Anderson L, Kynoch K, Kildea S. Effectiveness of breast massage in the treatment of women with breastfeeding problems: a systematic review protocol. JBI Database System Rev Implement Rep 2016;14:19-25.
  3. Witt AM, Bolman M, Kredit S. Mothers Value and Utilize Early Outpatient Education on Breast Massage and Hand Expression in Their Self-Management of Engorgement. Breastfeed Med 2016;11:433-9.
  4. Kyo T. [Observation on initiation of breast feeding: the relationship between Okeya’s method of breast massage and the quantity of milk secretion]. Josanpu Zasshi 1982;36:548-9.
  5. Ahn S, Kim J, Cho J. [Effects of breast massage on breast pain, breast-milk sodium, and newborn suckling in early postpartum mothers]. J Korean Acad Nurs 2011;41:451-9.
  6. Bolman M, Saju L, Oganesyan K, Kondrashova T, Witt AM. Recapturing the art of therapeutic breast massage during breastfeeding. J Hum Lact 2013;29:328-31.

?

อะไรคืออุปสรรคที่บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? หากตั้งคำถามกับบุคลากรทางการแพทย์ว่า อะไรเป็นอุปสรรคที่บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกเมื่อต้องให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอด คำตอบที่มักได้รับคือ ขาดนโยบาย แนวทางการปฏิบัติ และกำลังคนที่พอเพียงจะดำเนินการในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ตามมาตรฐานของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ซึ่งกระบวนการนั้นเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ให้มารดาเห็นประโยชน์ความสำคัญของการให้ทารกได้กินนมแม่ ทำให้มารดามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จากนั้น เมื่ออยู่ในระยะคลอดและหลังคลอด หลีกเลี่ยงกระบวนการดูแลการคลอดที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น การผ่าตัดคลอดโดยขาดข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และมีการเตรียมความพร้อมของมารดาที่จะกระตุ้นการดูดนมแม่ตั้งแต่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ การสอนมารดาจัดท่าให้นมลูก สอนมารดาบีบน้ำนมด้วยมือ และประเมินว่ามารดาสามารถให้ลูกกินนมแม่โดยมีการจัดท่าให้นมที่ถูกต้องก่อนอนุญาตให้กลับบ้าน หลังมารดากลับบ้านควรมีการติดตามเยี่ยมบ้านภายในสัปดาห์แรกหลังคลอดและติดตามมารดาเป็นระยะ ๆ พร้อมทั้งให้ช่องทางติดต่อสื่อสารหากมารดาพบปัญหาหรืออุปสรรคที่ต้องการได้รับคำปรึกษา ซึ่งการดูแลควรครอบคลุมถึงบิดา และญาติผู้มีบทบาทในการช่วยดูแลทารก การที่จะปฏิบัติเช่นนี้ได้ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพ อาสาสมัครสาธารณสุข มารดาอาสา และความร่วมมือของมารดาและญาติ1? อย่างไรก็ดี นโยบายที่ชัดเจนประกอบกับแนวทางการปฏิบัติที่สามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ และทรัพยากรบุคคลที่เพียงพอโดยมีการพัฒนาความรู้และทักษะให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ มีค่าตอบแทนและบันไดอาชีพที่เหมาะสม จะช่วยให้ระบบการทำงานมีความพัฒนา ก้าวหน้า และยั่งยืนได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Anstey EH, Coulter M, Jevitt CM, et al. Lactation Consultants’ Perceived Barriers to Providing Professional Breastfeeding Support. J Hum Lact 2018;34:51-67.

?

มารดาลาคลอดที่ได้รับเงินชดเชยจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มากกว่า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?สวัสดิการการลาคลอดของมารดาที่ได้รับเงินชดเชยมีผลต่อการเริ่มและคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานถึงหกเดือนได้สูงกว่ามารดาที่ลาคลอดโดยไม่มีเงินชดเชย1 ในยุคที่เศรษฐกิจมีการแข่งขัน มารดาจำเป็นต้องกลับไปทำงานนอกบ้านทำให้ระยะเวลาของการลาคลอดและเลี้ยงดูแลบุตรมีความสำคัญต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้การจ่ายเงินชดเชยระหว่างการลาพักหลังคลอดยังมีผลต่อระยะเวลาของการที่มารดาจะลาพักครบกำหนดตามสิทธิหรือการเลือกที่จะกลับมาทำงานก่อน เพื่อให้มีรายได้และช่วยรายรับของครอบครัว แม้ว่าการให้เงินชดเชยในระหว่างการลาพักหลังคลอดจะมีผลต่อการตัดสินใจที่จะอยู่ที่บ้านดูแลและให้นมลูกของมารดา และในบางประเทศในยุโรปมีสวัสดิการการลาพักหลังคลอด 1 ปี หรือในบางประเทศให้ลาได้ถึง 1 ปี 6 เดือน? ขณะที่ในประเทศไทยส่วนใหญ่ในวัยแรงงานจะทำประกันสังคม ซึ่งจะมีสิทธิในการลาพักหลังคลอดโดยได้รับเงินเดือน 45 วัน การที่จะออกกฎหมายที่จะสนับสนุนให้มีสวัสดิการการคลอดที่นานขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การลาพักโดยมีการชดเชยเงินเดือนจะทำให้แรงงานส่วนหนึ่งในระบบลดลง ทำให้ต้องการแรงงานเพิ่มเติมในช่วงที่มารดาลาพักหลังคลอดมากขึ้น อาจจะมีผลต่อค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นและกระทบต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย การพิจารณาและเลือกที่จะดำเนินการปรับปรุงระยะเวลาของสวัสดิการการลาคลอดที่มีการชดเชยเงินเดือนให้มีระยะเวลายาวนานขึ้น ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานของข้อมูล เพื่อให้เกิดผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยไม่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจหรือกระทบต่อระบบเศรษฐกิจน้อยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Mirkovic KR, Perrine CG, Scanlon KS. Paid Maternity Leave and Breastfeeding Outcomes. Birth 2016;43:233-9.