มารดาลาคลอดที่ได้รับเงินชดเชยจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มากกว่า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?สวัสดิการการลาคลอดของมารดาที่ได้รับเงินชดเชยมีผลต่อการเริ่มและคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานถึงหกเดือนได้สูงกว่ามารดาที่ลาคลอดโดยไม่มีเงินชดเชย1 ในยุคที่เศรษฐกิจมีการแข่งขัน มารดาจำเป็นต้องกลับไปทำงานนอกบ้านทำให้ระยะเวลาของการลาคลอดและเลี้ยงดูแลบุตรมีความสำคัญต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้การจ่ายเงินชดเชยระหว่างการลาพักหลังคลอดยังมีผลต่อระยะเวลาของการที่มารดาจะลาพักครบกำหนดตามสิทธิหรือการเลือกที่จะกลับมาทำงานก่อน เพื่อให้มีรายได้และช่วยรายรับของครอบครัว แม้ว่าการให้เงินชดเชยในระหว่างการลาพักหลังคลอดจะมีผลต่อการตัดสินใจที่จะอยู่ที่บ้านดูแลและให้นมลูกของมารดา และในบางประเทศในยุโรปมีสวัสดิการการลาพักหลังคลอด 1 ปี หรือในบางประเทศให้ลาได้ถึง 1 ปี 6 เดือน? ขณะที่ในประเทศไทยส่วนใหญ่ในวัยแรงงานจะทำประกันสังคม ซึ่งจะมีสิทธิในการลาพักหลังคลอดโดยได้รับเงินเดือน 45 วัน การที่จะออกกฎหมายที่จะสนับสนุนให้มีสวัสดิการการคลอดที่นานขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การลาพักโดยมีการชดเชยเงินเดือนจะทำให้แรงงานส่วนหนึ่งในระบบลดลง ทำให้ต้องการแรงงานเพิ่มเติมในช่วงที่มารดาลาพักหลังคลอดมากขึ้น อาจจะมีผลต่อค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นและกระทบต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย การพิจารณาและเลือกที่จะดำเนินการปรับปรุงระยะเวลาของสวัสดิการการลาคลอดที่มีการชดเชยเงินเดือนให้มีระยะเวลายาวนานขึ้น ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานของข้อมูล เพื่อให้เกิดผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยไม่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจหรือกระทบต่อระบบเศรษฐกิจน้อยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Mirkovic KR, Perrine CG, Scanlon KS. Paid Maternity Leave and Breastfeeding Outcomes. Birth 2016;43:233-9.