หลักการให้ยากระตุ้นน้ำนม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?การที่น้ำนมมาช้าเป็นเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่อาจทำให้มารดามีความวิตกกังวลเรื่องน้ำนมไม่พอ และนำไปสู่การเสาะหายากระตุ้นน้ำนม ซึ่งดูแล้วเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องอธิบายหรือทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความจำเป็นในการให้ยากระตุ้นน้ำนม สิ่งที่ต้องอธิบายให้แม่มีความเข้าใจเบื้องต้นคือปกติแล้ว แม่ส่วนใหญ่จะมีน้ำนมเพียงพอสำหรับทารกหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือพบความผิดปกติใด ๆ ดังนั้น เมื่อธรรมชาติให้แม่มีน้ำนมเพียงพออยู่แล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยากระตุ้นน้ำนม1 เพราะการใช้ยาจะมีโอกาสที่มารดาอาจเกิดอาการข้างเคียงหรือการแพ้จากการใช้ยาได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปเสาะหาหรือขอยากระตุ้นน้ำนมจากแพทย์ ซึ่งแพทย์บางครั้ง หากทนการกดดันจากมารดาไม่ได้ก็อาจจะให้ยากระตุ้นน้ำนมมา ซึ่งเป็นการใช้ยาเกินความจำเป็น นอกจากการอธิบายว่านมแม่ปกติจะมีเพียงพอสำหรับทารก การที่มารดามีน้ำนมไหลจากเต้านมอีกข้างขณะทารกดูดนม หรือการแสดงการบีบน้ำนมด้วยมือแล้วน้ำนมไหลออกพุ่งดี รวมทั้งการที่ลูกกินนมแล้วหลับได้ดี ขับถ่ายได้ดี น้ำหนักทารกขึ้นตามเกณฑ์ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าน้ำนมแม่มีเพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยากระตุ้นน้ำนมหรือเสริมน้ำผงดัดแปลงสำหรับทารก

สำหรับยากระตุ้นน้ำนม ข้อบ่งชี้ที่จะให้ยามักจะเป็นกรณีที่มารดาต้องห่างจากลูกและมีการหยุดการให้นมนาน มีผลทำให้น้ำนมแม่ลดลงหรือไม่มีน้ำนมไหลออกมาเลย การใช้ยาในกรณีนี้ยาที่แนะนำคือ domperidone เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับยานี้ในการกระตุ้นน้ำนมมากและหากใช้ในปริมาณ 10 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งมักไม่พบภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในมารดาที่เป็นโรคหัวใจ สำหรับยาตัวอื่น ๆ ได้แก่ metoclopramide, fenugreek, silymarin รวมทั้งสมุนไพรต่าง ๆ ข้อมูลการศึกษายังมีจำกัด จึงอาจใช้ในกรณีที่ไม่สามารถให้ domperidone ได้ หากเข้าใจหลักการนี้แล้ว การใช้ยากระตุ้นน้ำนมจะมีการใช้ที่น้อยลงและใช้อย่างเหมาะสมสมเหตุสมผลมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Brodribb W. ABM Clinical Protocol #9: Use of Galactogogues in Initiating or Augmenting Maternal Milk Production, Second Revision 2018. Breastfeed Med 2018;13:307-14.