คลังเก็บหมวดหมู่: การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

อารมณ์ที่ผิดปกติของมารดา การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในระหว่างการตั้งครรภ์มารดาอาจมีอารมณ์หงุดหงิดง่ายได้ แต่หากมารดามีความผิดปกติทางอารมณ์มาก จะส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ และยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น การดูแลเอาใจใส่ สอบถามมารดาเกี่ยวกับอารมณ์ของมารดาระหว่างการตั้งครรภ์จึงมีส่วนสำคัญในการทำนายถึงความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร และทำนายการเกิดภาวะหลังคลอดได้ ซึ่งในมารดาที่มีความเสี่ยงสูงการให้คำปรึกษาที่เหมาะสมกับมารดาร่วมกับการเอาใจใส่ของครอบครัวจะช่วยให้มารดาผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ด้วยดี โดยยังคงประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่า ปัจจัยในเรื่องการศึกษาของมารดามีผลต่อความสัมพันธ์เหล่านี้1 โดยมารดาที่มีการศึกษาสูงจะไม่พบความสัมพันธ์ของความผิดปกติทางอารมณ์ระหว่างการตั้งครรภ์ การหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งอาจเป็นเพราะการศึกษาอาจมีผลต่อการปรับตัวของมารดาที่เหมาะสมกว่า และมีผลต่อความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.            Farias-Antunez S, Santos IS, Matijasevich A, de Barros AJD. Maternal mood symptoms in pregnancy and postpartum depression: association with exclusive breastfeeding in a population-based birth cohort. Soc Psychiatry Psychiatr Epidemiol 2020;55:635-43.

การช่วยสนับสนุนของสามีช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หลังคลอดมารดาจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย ฮอร์โมน และบทบาทในครอบครัว ซึ่งมารดาต้องมีการปรับตัว ในมารดาที่ปรับตัวไม่ได้ จะเกิดความเครียด และอาจมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น ซึ่งภาวะเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในทางตรงกันข้าม หากมารดาปรับตัวได้หรือได้รับความช่วยเหลือจากสามีหรือบุคคลในครอบครัวในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาเหล่านี้จะพบภาวะซึมเศร้าหรือภาวะเครียดน้อยกว่า และมีผลลัพธ์ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีกว่าด้วย1 ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สามีและคนในครอบครัวให้มีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจและระลึกถึงความสำคัญในจุดนี้อย่างสม่ำเสมอเมื่อจัดการอบรมหรือให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

1.            Davidson EL, Ollerton RL. Partner behaviours improving breastfeeding outcomes: An integrative review. Women Birth 2020;33:e15-e23.

แจกจ่ายนมผงแก่มารดา ระวังผิดกฎหมาย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อโควิด 19 บุคคลหรือส่วนราชการใด ๆ ที่มีความประสงค์จะขอรับบริจาคนมผงหรือเงินเพื่อการจัดซื้อนมผงเพื่อไปแจกจ่ายให้กับมารดาต้องระวังว่าอาจทำผิดกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กได้ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560 โดยหากทำผิดในมาตรา 18 (3) บทลงโทษคือปรับไม่เกินสามแสนบาท และหากทำผิดในมาตรา 23 บทลงโทษคือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท เนื่องจากในกรณีที่มารดาติดเชื้อโควิด 19 องค์การอนามัยโลกและองค์กรทางด้านสุขภาพอีกหลายสถาบันยังคงแนะนำให้มารดาให้ทารกกินนมแม่ ซึ่งจากหลักฐานในปัจจุบัน ไม่พบเชื้อในน้ำนม และทารกจะได้ประโยชน์มากกว่าจากการกินนมแม่เมื่อเปรียบเทียบกับการที่ทารกกินนมผง นอกจากนี้ ภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อโควิด 19 ยังอาจส่งต่อผ่านน้ำนมไปสู่ทารกด้วย โดยอาจพิจารณาการให้นมจากเต้านมโดยตรงหรือการป้อนนมแม่ที่ได้จากการบีบหรือปั๊มนมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของมารดา ครอบครัว และทีมแพทย์ ซึ่งในทางปฏิบัติแนะนำให้มารดาหรือผู้ที่ป้อนนมแม่ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีโอกาสจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ดังนั้น หากไม่มีข้อบ่งชี้อื่น ๆ การให้นมผงแก่ทารกก็ไม่มีความจำเป็น

เมื่อไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้นมผงแก่ทารกแล้ว การแจกนมผงแก่มารดาหรือการรับบริจาคเงินเพื่อไปซื้อนมผงมาบริจาคให้แก่มารดา หากผู้ที่ให้นมผงหรือบริจาคเป็นตัวแทนหรือมีความเชื่อมโยงกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายนมผง ก็จะมีความผิดตามบทลงโทษที่กล่าวไว้ข้างต้น1

สำหรับอันตรายที่อาจเกิดได้จากการบริจาคนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ได้แก่

  • นมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่ได้รับจำนวนมากแจกจ่ายให้กับทารกที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ อาจสร้างปัญหาในการเก็บรักษา การดูแล และการทำลายบรรจุภัณฑ์
  • นมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่ได้อาจเป็นการโฆษณาสินค้า เนื่องจากมารดาที่ได้รับอาจเข้าใจว่าเป็นยี่ห้อที่ได้รับการแนะนำ
  • การบริจาคนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่ไม่เหมาะสมและหมดอายุอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ทารก
  • การแจกจ่ายนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่มากเกินไปและไม่มีการควบคุมจะทำให้เกิดการใช้อย่างเกินความจำเป็นและบั่นทอนความมั่นใจของมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

            นอกจากนี้ ยังอาจเกิดปัญหาเพิ่มเติม ได้แก่

  • ในบางครั้ง นมผงที่ได้รับบริจาคการขาดคำอธิบายวิธีการใช้และการเตรียมนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่เหมาะสมในภาษาไทย ทำให้มารดามีโอกาสที่จะมีความผิดพลาดในการเตรียมนมผงสำหรับทารก ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้
  • การใช้ขวดนม จุกนม ซึ่งจำเป็นอาศัยการทำความสะอาดที่เหมาะทำได้ยากและอาจทำให้ทารกติดนมผงดัดแปลงสำหรับทารกได้

เอกสารอ้างอิง

1.        ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพมหานคร: ศูนย์หนังสือจุฬา (ebook); 2563.

มารดาที่ติดเชื้อโควิด 19 ให้ลูกกินนมแม่ได้หรือไม่?

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

คำตอบคือ มารดาสามารถให้ลูกกินนมแม่ได้ โดยอาจให้ทารกกินนมจากเต้าโดยตรง หรือเลือกป้อนนมที่ได้จากการปั๊มนมของมารดา เนื่องจากจากข้อมูลในปัจจุบันไม่พบเชื้อในน้ำนมมารดา และทารกจะได้ประโยชน์จากการกินนมแม่มากกว่า นอกจากนี้ ทารกยังอาจได้รับประโยชน์จากการได้รับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อผ่านน้ำนมของมารดา อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ต้องมีการป้องกันการแพร่เชื้อจากมารดาโดยการไอ จามหรือผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่เยื่อบุตา โดยการแยกเตียงทารกให้ห่างจากมารดาในระยะ 2 เมตรหรืออาจพิจารณาการใช้ฉากหรือม่านกั้น มารดาควรใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และมีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีโอกาสสัมผัสกับสารคัดหลั่งของมารดา ซึ่งการพิจารณาการให้ลูกกินนมแม่ หรือการเลือกให้มารดาปั๊มนมควรมีการร่วมพิจารณาและตัดสินใจหลังจากที่มารดาและครอบครัวมีความเข้าใจถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีเรียบร้อยแล้ว1

เอกสารอ้างอิง

1.            Davanzo R, Moro G, Sandri F, Agosti M, Moretti C, Mosca F. Breastfeeding and Coronavirus Disease-2019. Ad interim indications of the Italian Society of Neonatology endorsed by the Union of European Neonatal & Perinatal Societies. Matern Child Nutr 2020:e13010.

มารดาที่ติดเชื้อโควิด 19 หลังคลอดต้องแยกมารดาจากทารกหรือไม่?

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

คำตอบคือ ทารกสามารถอยู่ร่วมห้องกับมารดาได้ แต่ต้องมีการป้องกันการแพร่เชื้อจากมารดาโดยการไอ จามหรือผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่เยื่อบุตา โดยการแยกเตียงทารกให้ห่างจากมารดาในระยะ 2 เมตรหรืออาจพิจารณาการใช้ฉากหรือม่านกั้น มารดาควรใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และมีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีโอกาสสัมผัสกับสารคัดหลั่งของมารดา1

เอกสารอ้างอิง

1.            Davanzo R, Moro G, Sandri F, Agosti M, Moretti C, Mosca F. Breastfeeding and Coronavirus Disease-2019. Ad interim indications of the Italian Society of Neonatology endorsed by the Union of European Neonatal & Perinatal Societies. Matern Child Nutr 2020:e13010.