คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

สตรีให้นมบุตรควรเสริมธาตุซีลีเนียมหรือไม่

IMG_1621

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?ความต้องการซีลีเนียม (selenium) ในหญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการวันละ 70 ไมโครกรัม ความต้องการซีลีเนียมเพิ่มจากภาวะปกติ 15 ไมโครกรัมต่อวัน ซีลีเนียมพบในอาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ปลาทูน่า และธัญพืช ซีลีเนียมจะช่วยเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ หากขาดอาจก่อให้เกิดโรคคีชาน (Keshan disease) ที่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่แข็งแรง และการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติ และโรคคาชีน-เบค (Kashin-Beck disease) ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกและข้อ โดยมีอาการปวดข้อเรื้อรัง ข้อแข็ง งอลำบาก ปริมาณซีลีเนียมในน้ำนมสัมพันธ์กับปริมาณซีลีเนียมในอาหารของมารดา1 ดังนั้น จึงควรใส่ใจกับการเลือกรับประทานอาหารที่มีซีลีเนียมให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายระหว่างการให้นมบุตร

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.

สตรีให้นมบุตรควรเสริมธาตุสังกะสีหรือไม่

IMG_1555

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? หญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการธาตุสังกะสีวันละ 8 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งความต้องการจะเพิ่มขึ้นจากในภาวะปกติ 1 มิลลิกรัมต่อวัน ธาตุสังกะสีนั้นจะช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันและเชื่อว่าอาจจะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนโปรแลคติน เนื่องจากฮอร์โมนโปรแลคตินจับกับธาตุสังกะสี แต่ความสัมพันธ์ที่ชัดเจนยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ธาตุสังกะสีพบในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ อาหารทะเลโดยเฉพาะ หอยนางรม และไข่ โดยหอยนางรมจะพบธาตุสังกะสี 75 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เนื้อสัตว์จะพบธาตุสังกะสี 1.5-4 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ไข่แดงจะพบธาตุสังกะสี 1.5 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ดังนั้น ในมารดาที่รับประทานอาหารจำพวกมังสวิรัติ นอกจากจะมีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบีแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุสังกะสีด้วย ซึ่งหากมารดาขาดธาตุสังกะสีจะส่งผลทำให้ทารกเกิดการขาดธาตุสังกะสีได้ แม้ว่าการรับประทานอาหารที่มีธาตุสังกะสีเพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่มปริมาณธาตุสังกะสีในน้ำนม1 อย่างไรก็ตาม ควรแนะนำให้มารดารับประทานอาหารที่มีสังกะสีสูงเพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดธาตุสังกะสีของมารดา และแนะนำการเสริมธาตุสังกะสีในมารดาที่มีความเสี่ยงในการขาดธาตุสังกะสีทั้งในระหว่างช่วงของการตั้งครรภ์และช่วงที่ให้นมบุตร

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.

 

สตรีให้นมบุตรควรเสริมแคลเซียมหรือไม่

IMG_1542

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? หญิงไทยที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรต้องการแคลเซียม 800-1000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยปริมาณความต้องการไม่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบการหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม โดยนมสด 100 ?กรัมมีแคลเซียม 118 มิลลิกรัม (นมสด 1 แก้วเท่ากับ 250 มิลลิลิตร จะมีแคลเซียม 295 มิลลิกรัม) กุ้งแห้งตัวเล็ก 100 กรัม มีแคลเซียม 2305 มิลลิกรัม กะปิ 100 กรัม มีแคลเซียม 1565 มิลลิกรัม คะน้า 100 กรัม มีแคลเซียม 245 มิลลิกรัม เต้าหู้เหลือง 100 กรัม มีแคลเซียม 160 มิลลิกรัม สำหรับผักพื้นบ้านที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ ยอดสะเดา กะเพราขาว ใบขี้เหล็ก ยอดมะยม เป็นต้น แต่ในการรับประทานอาหารของคนไทยจะได้รับแคลเซียมราว 360-400 มิลลิกรัม ดังนั้น จึงแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรดื่มนมวันละ 2 แก้วหลังอาหารเช้าและเย็นจะทำให้ปริมาณแคลเซียมที่ได้รับไม่ต่ำกว่าค่าความต้องการแคลเซียมต่อวัน และไม่ทำให้เกิดการดึงแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุน มีการศึกษาพบว่า หากมีระดับแคลเซียมในมารดาต่ำโดยได้รับแคลเซียมจากอาหารน้อยกว่าวันละ 500 มิลลิกรัมจะมีการใช้แคลเซียมจากกระดูกเพื่อการสร้างน้ำนมที่เพียงพอ1,2 แคลเซียมที่พบในน้ำนมจะได้รับการควบคุมโดยกลไกของ citrate และ casein ที่อยู่ในต่อมน้ำนมโดยไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณแคลเซียมที่มีอยู่ในอาหาร สำหรับการสูญเสียมวลกระดูกที่เกิดระหว่างการให้นมจะเป็นชั่วคราวและไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุนหรือกระดูกหักในระยะยาว3 อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานแคลเซียมตามความต้องการของร่างกายในแต่ละวันให้เพียงพอ

เอกสารอ้างอิง

  1. Dewey KG, Lovelady CA, Nommsen-Rivers LA, McCrory MA, Lonnerdal B. A randomized study of the effects of aerobic exercise by lactating women on breast-milk volume and composition. N Engl J Med 1994;330:449-53.
  2. Mohammad MA, Sunehag AL, Haymond MW. Effect of dietary macronutrient composition under moderate hypocaloric intake on maternal adaptation during lactation. Am J Clin Nutr 2009;89:1821-7.
  3. Kalkwarf HJ. Lactation and maternal bone health. Adv Exp Med Biol 2004;554:101-14.

 

สตรีให้นมบุตรควรเสริมธาตุเหล็กหรือไม่

IMG_1500รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?หญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการธาตุเหล็กวันละ 15 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งความต้องการจะน้อยกว่าในระหว่างการตั้งครรภ์ซึ่งมีความต้องการธาตุเหล็กเพื่อการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นโดยต้องการวันละ 60 มิลลิกรัม เนื่องจากในระหว่างการให้นมบุตรนั้น มารดาจะไม่มีประจำเดือนทำให้ไม่มีการเสียเลือด ในน้ำนมแม่จะมีปริมาณธาตุเหล็กต่ำ ธาตุเหล็กสามารถจะดูดซึมได้ดีในลำไส้ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวโดยมีสารในนมแม่ที่ช่วยในกระบวนการการดูดซึมธาตุเหล็ก การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่มปริมาณธาตุเหล็กในน้ำนม1 แต่ในระยะหลังคลอดมารดาควรเสริมธาตุเหล็กเพื่อให้ปริมาณธาตุเหล็กที่สะสมในร่างกายมีเพียงพอ ซึ่งหากมารดาไม่มีภาวะขาดธาตุเหล็กจะไม่ส่งผลต่อการขาดธาตุเหล็กในทารก สำหรับในนมผสมนั้นมักจะมีการเสริมธาตุเหล็กในปริมาณที่สูงเนื่องจากไม่มีสารที่ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กเหมือนในนมแม่

? ? ? ? ? ? ?การช่วยป้องกันภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กในทารกในกระบวนการในการช่วยคลอดอาจทำได้โดยการชะลอการหนีบและตัดสายสะดือ (delayed cord clamping) โดยมีข้อมูลว่าส่งผลดีในการช่วยป้องกันภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กในทารกคลอดครบกำหนดปกติที่กินนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก2 แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลจำนวนการปฏิบัติการชะลอการหนีบและตัดสายสะดือทารกในประเทศไทย และข้อมูลของภาวะขาดธาตุเหล็กของมารดาในระยะหลังคลอด แต่มีข้อแนะนำจากกรมอนามัยที่สนับสนุนให้เสริมธาตุเหล็ก โฟเลต และไอโอดีนให้แก่สตรีตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตรจนถึงหกเดือน3

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
  2. Delayed cord clamping benefits babies. Aust Nurs Midwifery J 2013;21:41.
  3. รายงานประจำปี กรมอนามัย 2556. ใน: กองแผนงาน กรมอนามัย, ประเทศไทย: กรมอนามัย; 2556.

 

สตรีให้นมบุตรควรเสริมวิตามินเคหรือไม่

IMG_1668

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? วิตามินเคจะช่วยในช่วยในการแข็งตัวของเลือด ป้องกันภาวะเลือดออกในช่องกะโหลกศีรษะของทารกซึ่งมีอันตรายรุนแรงและทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ วิตามินเคจะผ่านรกจากมารดามาสู่ทารกได้น้อย ร่วมกับการที่ทารกมีสัดส่วนไขมันในร่างกายน้อย ขาดแบคทีเรียในลำไส้ที่จะช่วยในการสังเคราะห์วิตามินเค แม้ว่าหญิงไทยต้องการวิตามินเควันละ 90 ไมโครกรัม ซึ่งขนาดความต้องการเท่ากับในหญิงที่ให้นมบุตร แต่โดยทั่วไปวิตามินเคมีปริมาณต่ำมากในนมแม่ จึงแนะนำให้ฉีดวิตามินเคขนาด 1 มิลลิกรัมเข้ากล้ามเนื้อให้ทารกทุกรายหลังคลอด สำหรับการเสริมวิตามินเคให้กับมารดาและทารกปกติไม่มีความจำเป็น หากทารกได้รับการฉีดวิตามินเคหลังคลอดแล้ว1

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.