สตรีให้นมบุตรควรเสริมแคลเซียมหรือไม่

IMG_1542

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? หญิงไทยที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรต้องการแคลเซียม 800-1000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยปริมาณความต้องการไม่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบการหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม โดยนมสด 100 ?กรัมมีแคลเซียม 118 มิลลิกรัม (นมสด 1 แก้วเท่ากับ 250 มิลลิลิตร จะมีแคลเซียม 295 มิลลิกรัม) กุ้งแห้งตัวเล็ก 100 กรัม มีแคลเซียม 2305 มิลลิกรัม กะปิ 100 กรัม มีแคลเซียม 1565 มิลลิกรัม คะน้า 100 กรัม มีแคลเซียม 245 มิลลิกรัม เต้าหู้เหลือง 100 กรัม มีแคลเซียม 160 มิลลิกรัม สำหรับผักพื้นบ้านที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ ยอดสะเดา กะเพราขาว ใบขี้เหล็ก ยอดมะยม เป็นต้น แต่ในการรับประทานอาหารของคนไทยจะได้รับแคลเซียมราว 360-400 มิลลิกรัม ดังนั้น จึงแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรดื่มนมวันละ 2 แก้วหลังอาหารเช้าและเย็นจะทำให้ปริมาณแคลเซียมที่ได้รับไม่ต่ำกว่าค่าความต้องการแคลเซียมต่อวัน และไม่ทำให้เกิดการดึงแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุน มีการศึกษาพบว่า หากมีระดับแคลเซียมในมารดาต่ำโดยได้รับแคลเซียมจากอาหารน้อยกว่าวันละ 500 มิลลิกรัมจะมีการใช้แคลเซียมจากกระดูกเพื่อการสร้างน้ำนมที่เพียงพอ1,2 แคลเซียมที่พบในน้ำนมจะได้รับการควบคุมโดยกลไกของ citrate และ casein ที่อยู่ในต่อมน้ำนมโดยไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณแคลเซียมที่มีอยู่ในอาหาร สำหรับการสูญเสียมวลกระดูกที่เกิดระหว่างการให้นมจะเป็นชั่วคราวและไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุนหรือกระดูกหักในระยะยาว3 อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานแคลเซียมตามความต้องการของร่างกายในแต่ละวันให้เพียงพอ

เอกสารอ้างอิง

  1. Dewey KG, Lovelady CA, Nommsen-Rivers LA, McCrory MA, Lonnerdal B. A randomized study of the effects of aerobic exercise by lactating women on breast-milk volume and composition. N Engl J Med 1994;330:449-53.
  2. Mohammad MA, Sunehag AL, Haymond MW. Effect of dietary macronutrient composition under moderate hypocaloric intake on maternal adaptation during lactation. Am J Clin Nutr 2009;89:1821-7.
  3. Kalkwarf HJ. Lactation and maternal bone health. Adv Exp Med Biol 2004;554:101-14.