คลังเก็บป้ายกำกับ: สตรีให้นมบุตรควรเสริมธาตุเหล็กหรือไม่

สตรีให้นมบุตรควรเสริมธาตุโครเมียมหรือไม่

IMG_1656

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ความต้องการของหญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการโครเมียม (chromium) วันละ 45 ไมโครกรัม ความต้องการของโครเมียมจะเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ 20 ไมโครกรัม โครเมียมพบในอาหารจำพวกยีสต์ และเมล็ดธัญพืช โครเมียมจะช่วยในระบบการเผาพลาญน้ำตาลโดยทำงานร่วมกับอินซูลิน และช่วยควบคุมระดับไขมันในร่างกายด้วย ซึ่งการขาดโครเมียมจะส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด ปริมาณของโครเมียมในน้ำนมไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของโครเมียมในอาหารของมารดา1 ดังนั้น การดูแลในเรื่องอาหารของมารดาให้มารดาไม่มีภาวะขาดโครเมียมในเบื้องต้นก่อน จะทำให้ปริมาณโครเมียมในน้ำนมมีพอเพียงสำหรับความต้องการของทารก

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.

สตรีให้นมบุตรควรเสริมธาตุซีลีเนียมหรือไม่

IMG_1621

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?ความต้องการซีลีเนียม (selenium) ในหญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการวันละ 70 ไมโครกรัม ความต้องการซีลีเนียมเพิ่มจากภาวะปกติ 15 ไมโครกรัมต่อวัน ซีลีเนียมพบในอาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ปลาทูน่า และธัญพืช ซีลีเนียมจะช่วยเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ หากขาดอาจก่อให้เกิดโรคคีชาน (Keshan disease) ที่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่แข็งแรง และการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติ และโรคคาชีน-เบค (Kashin-Beck disease) ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกและข้อ โดยมีอาการปวดข้อเรื้อรัง ข้อแข็ง งอลำบาก ปริมาณซีลีเนียมในน้ำนมสัมพันธ์กับปริมาณซีลีเนียมในอาหารของมารดา1 ดังนั้น จึงควรใส่ใจกับการเลือกรับประทานอาหารที่มีซีลีเนียมให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายระหว่างการให้นมบุตร

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.

สตรีให้นมบุตรควรเสริมธาตุทองแดงหรือไม่

IMG_1655

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? หญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการธาตุทองแดงวันละ 1300 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งความต้องการจะเพิ่มขึ้นจากในภาวะปกติ 400 ไมโครกรัมต่อวัน ธาตุทองแดงจะช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก และเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินร่วมกับธาตุเหล็ก จึงมีส่วนในการป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง ธาตุทองแดงพบในอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก ได้แก่ เนื้อสัตว์ อาหารทะเลโดยเฉพาะ หอยนางรม ไข่ และธัญพืชชนิดต่างๆ แม้ว่าปริมาณของธาตุทองแดงในน้ำนมไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาหารที่มารดารับประทาน1 แต่การรับประทานอาหารให้ครบหมู่และมีสัดส่วนที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันมารดาจากการขาดธาตุทองแดง ซึ่งอาจจะช่วยป้องกันการขาดธาตุทองแดงในทารกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.

สตรีให้นมบุตรควรเสริมธาตุสังกะสีหรือไม่

IMG_1555

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? หญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการธาตุสังกะสีวันละ 8 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งความต้องการจะเพิ่มขึ้นจากในภาวะปกติ 1 มิลลิกรัมต่อวัน ธาตุสังกะสีนั้นจะช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันและเชื่อว่าอาจจะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนโปรแลคติน เนื่องจากฮอร์โมนโปรแลคตินจับกับธาตุสังกะสี แต่ความสัมพันธ์ที่ชัดเจนยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ธาตุสังกะสีพบในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ อาหารทะเลโดยเฉพาะ หอยนางรม และไข่ โดยหอยนางรมจะพบธาตุสังกะสี 75 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เนื้อสัตว์จะพบธาตุสังกะสี 1.5-4 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ไข่แดงจะพบธาตุสังกะสี 1.5 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ดังนั้น ในมารดาที่รับประทานอาหารจำพวกมังสวิรัติ นอกจากจะมีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบีแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุสังกะสีด้วย ซึ่งหากมารดาขาดธาตุสังกะสีจะส่งผลทำให้ทารกเกิดการขาดธาตุสังกะสีได้ แม้ว่าการรับประทานอาหารที่มีธาตุสังกะสีเพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่มปริมาณธาตุสังกะสีในน้ำนม1 อย่างไรก็ตาม ควรแนะนำให้มารดารับประทานอาหารที่มีสังกะสีสูงเพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดธาตุสังกะสีของมารดา และแนะนำการเสริมธาตุสังกะสีในมารดาที่มีความเสี่ยงในการขาดธาตุสังกะสีทั้งในระหว่างช่วงของการตั้งครรภ์และช่วงที่ให้นมบุตร

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.

 

สตรีให้นมบุตรควรเสริมธาตุเหล็กหรือไม่

IMG_1500รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?หญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการธาตุเหล็กวันละ 15 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งความต้องการจะน้อยกว่าในระหว่างการตั้งครรภ์ซึ่งมีความต้องการธาตุเหล็กเพื่อการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นโดยต้องการวันละ 60 มิลลิกรัม เนื่องจากในระหว่างการให้นมบุตรนั้น มารดาจะไม่มีประจำเดือนทำให้ไม่มีการเสียเลือด ในน้ำนมแม่จะมีปริมาณธาตุเหล็กต่ำ ธาตุเหล็กสามารถจะดูดซึมได้ดีในลำไส้ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวโดยมีสารในนมแม่ที่ช่วยในกระบวนการการดูดซึมธาตุเหล็ก การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่มปริมาณธาตุเหล็กในน้ำนม1 แต่ในระยะหลังคลอดมารดาควรเสริมธาตุเหล็กเพื่อให้ปริมาณธาตุเหล็กที่สะสมในร่างกายมีเพียงพอ ซึ่งหากมารดาไม่มีภาวะขาดธาตุเหล็กจะไม่ส่งผลต่อการขาดธาตุเหล็กในทารก สำหรับในนมผสมนั้นมักจะมีการเสริมธาตุเหล็กในปริมาณที่สูงเนื่องจากไม่มีสารที่ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กเหมือนในนมแม่

? ? ? ? ? ? ?การช่วยป้องกันภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กในทารกในกระบวนการในการช่วยคลอดอาจทำได้โดยการชะลอการหนีบและตัดสายสะดือ (delayed cord clamping) โดยมีข้อมูลว่าส่งผลดีในการช่วยป้องกันภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กในทารกคลอดครบกำหนดปกติที่กินนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก2 แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลจำนวนการปฏิบัติการชะลอการหนีบและตัดสายสะดือทารกในประเทศไทย และข้อมูลของภาวะขาดธาตุเหล็กของมารดาในระยะหลังคลอด แต่มีข้อแนะนำจากกรมอนามัยที่สนับสนุนให้เสริมธาตุเหล็ก โฟเลต และไอโอดีนให้แก่สตรีตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตรจนถึงหกเดือน3

เอกสารอ้างอิง

  1. Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
  2. Delayed cord clamping benefits babies. Aust Nurs Midwifery J 2013;21:41.
  3. รายงานประจำปี กรมอนามัย 2556. ใน: กองแผนงาน กรมอนามัย, ประเทศไทย: กรมอนามัย; 2556.