คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การเตรียมตัวสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3985

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? เมื่อมารดามีความตั้งใจในการที่จะให้ลูกกินนมแม่แล้ว นอกจากการเตรียมใจคือ ต้องมีความตั้งใจหรือมุ่งมั่นที่จะให้ลูกได้กินนมแม่โดยเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่มีต่อทารกและตัวมารดาเองแล้ว การเตรียมความพร้อมในเรื่องความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้นมลูก ซึ่งมารดาสามารถรับข้อมูลเหล่านี้ได้ขณะที่ทำการฝากครรภ์ ซึ่งในโรงพยาบาลมักจัดการให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตัวในระหว่างการตั้งครรภ์และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่คลินิกฝากครรภ์ โดยประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่งคือ มารดาควรเลือกที่จะฝากครรภ์และคลอดในโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก เนื่องจากจะมีนโยบาย และการบริหารจัดการที่เอื้อในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เมื่อมารดาไปฝากครรภ์ จะมีการตรวจเต้านม สอนและอธิบายถึงความสำคัญและประโยชน์ของการให้ลูกกินนมแม่ มารดาควรแจ้งแผนหรือความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อร่วมกันวางแผนให้มารดาสามารถปฏิบัติตามที่ตั้งใจหรือวางแผนไว้ได้ มารดาควรเข้าร่วมโปรแกรมการจัดการสอนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่โรงพยาบาลจัดไว้ นอกจากนี้หากโรงพยาบาลมีผู้เชี่ยวชาญที่จะให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เฉพาะ หรือมีคลินิกนมแม่ มารดาอาจไปขอคำปรึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม และเมื่อเข้าสู่ระยะของการคลอด มารดาควรแจ้งว่าต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรก ก็คือภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จะได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อการสนับสนุนให้มารดาได้เริ่มให้นมลูกตั้งแต่ในระยะแรกได้ตามต้องการ

ความตั้งใจและความเชื่อมั่นจำเป็นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

IMG_3515

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ก่อนที่มารดาจะมีความตั้งใจและความเชื่อมั่นในการให้นมลูกนั้น มารดาต้องมีความรู้และเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของนมแม่แล้ว จึงนำมาสู่ความตั้งใจที่จะให้ลูกกินนมแม่ และจากความตั้งใจนำไปสู่การใส่ใจ เอาใจใส่ เข้าร่วมรับฟัง เรียนรู้วิธีและเทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อพบปัญหาหรืออุปสรรคก็แสวงหาคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีประสบการณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่มารดาว่าสามารถให้นมลูกได้ ยิ่งให้ได้ก็ยิ่งมั่นใจมากขึ้น ดังนั้น การเริ่มต้นด้วยความตั้งใจเสมือนเป็นก้าวแรกที่สำคัญและยิ่งใหญ่สำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (Good intention is a great start breastfeeding)

ปัจจัยที่มีผลต่อกลไกการหลั่งน้ำนม

IMG_3886

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? กลไกการหลั่งน้ำนม (let-down reflex) หรืออาจเรียกว่า กลไกน้ำนมพุ่ง (milk ejection reflex) เกิดจากกลไกหลักคือฮอร์โมนออกซิโตซินที่ถูกกระตุ้นจากการดูดนมของทารก หรือจากการสั่งงานของสมองเมื่อมารดาคิดถึงลูก หรือสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้คิดถึงลูก ฮอร์โมนออกซิโตซินสร้างจากสมองส่วนไฮโปธาลามัสที่อาจมีปัจจัยที่รบกวนการทำงานของสมองส่วนนี้ได้จาก ความเครียด ความวิตกกังวล ความอาย อุณหภูมิหรืออากาศที่เปลี่ยนแปลง อากาศเย็น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือการใช้ยาบางชนิด ดังนั้น หากมีภาวะดังกล่าวน้ำนมมารดาอาจไหลไม่ดี ส่งผลให้ทารกกินนมได้น้อยและงอแง วัฒนธรรมของไทยยังเห็นว่า เรื่องการให้นมนี้เป็นเรื่องส่วนตัว มารดาควรให้นมลูกที่บ้านในที่มิดชิด หากออกนอกบ้านต้องใช้นมผง ไม่กล้าที่จะให้นมลูกในที่สาธารณะหรือเขินอาย ขณะเดียวกันกับสังคมในยุคใหม่ มารดาต้องออกนอกบ้านหรือทำงาน สิ่งนี้จึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การมีมุมนมแม่ที่จะให้มารดาสามารถให้นมลูกตามที่สาธารณะเป็นทางเลือกหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ยอมรับการให้นมลูกเป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถให้ได้ทุกที่ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แม้จะต้องใช้เวลา แต่น่าจะเป็นสิ่งที่ควรสร้างให้เกิดธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้

หากมารดาคิดถึงลูก ทำไมน้ำนมไหลได้

IMG_3892

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การที่มารดามีน้ำนมไหลออกมาจากเต้านมได้เมื่อคิดถึงลูก ได้กลิ่น หรือเห็นภาพของลูกนั้นเป็นจากกลไกการหลั่งน้ำนม (let-down reflex) หรืออาจเรียกว่า กลไกน้ำนมพุ่ง (milk ejection reflex) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการที่ทารกกระตุ้นดูดนมจากเต้านมข้างหนึ่งและเต้านมอีกข้างมีน้ำนมไหล ผ่านกลไกหลักคือฮอร์โมนออกซิโตซินที่ถูกกระตุ้นจากการดูดนมของทารก หรือจากการสั่งงานของสมองเมื่อมารดาคิดถึงลูก หรือสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้คิดถึงลูก ฮอร์โมนออกซิโตซินนี้นอกจากจะช่วยให้น้ำนมไหลได้ดี ทารกไม่ต้องออกแรงในการดูดนมมากแล้ว ยังช่วยสร้างความรักความผูกพันระหว่างแม่ลูก นอกจากนี้ กลไกนี้อาจเป็นสิ่งที่สะท้อนอย่างหนึ่งว่าน้ำนมมารดาน่าจะมีเพียงพอ แต่หากมีมากตั้งแต่ทารกเริ่มดูดและมารดารู้สึกว่าตึงแน่นบริเวณบริเวณลานนมมาก อาจทำให้ทารกดูดนมได้ลำบากจากการที่น้ำนมไหลเร็วเกินไป การบีบน้ำนมออกก่อนให้ลานนมนุ่มลง จะช่วยให้ทารกสามารถอมหัวนมและลานนมได้ดีขึ้น ไม่สำลักหรืองับหัวนมมารดาจนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มารดาเจ็บหัวนม

หากน้ำนมไหลทั้งสองเต้า ให้นมจากเต้านมทั้งสองเต้าหรือเต้าเดียวดีกว่ากัน

IMG_3522

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? น้ำนมมารดานั้น จะมีน้ำนมส่วนหน้าและน้ำนมส่วนหลัง ซึ่งจะมีส่วนประกอบของสารอาหารที่แตกต่างกัน น้ำนมส่วนแรกที่ลูกกินจากเต้าจะเป็นน้ำนมส่วนหน้าที่มีสัดส่วนของน้ำตาลมากกว่า น้ำนมส่วนที่หลังจากที่ทารกดูดนมไประยะหนึ่งแล้วจะเป็นน้ำนมส่วนหลังที่จะมีสัดส่วนของไขมันที่มากกว่า มารดาควรให้ทารกกินนมทั้งน้ำนมส่วนหน้าและน้ำนมส่วนหลังเพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารครบถ้วน กินอิ่มและหลับได้ดี ไม่งอแงหรือตื่นบ่อยหากทารกกินนมจากน้ำนมส่วนหน้าอย่างเดียว ซึ่งจะย่อยง่ายและถ่ายบ่อย การเลือกให้ทารกกินนมจากเต้าควรเริ่มที่เต้านมด้านใดด้านหนึ่งก่อน กินจนเกลี้ยงเต้าให้ได้ทั้งน้ำนมส่วนหน้าและส่วนหลัง เมื่อเกลี้ยงเต้าแล้ว หากทารกยังไม่อิ่มจึงเปลี่ยนไปกินอีกเต้าหนึ่ง หากทารกกินนมพอแล้วน้ำนมจากเต้านมยังเหลืออาจบีบน้ำนมเก็บ หรือเมื่อให้นมครั้งต่อไปควรให้จากเต้านมข้างที่ยังมีน้ำนมค้างอยู่ เนื่องจากกลไกการสร้างน้ำนมจะขึ้นอยู่กับการให้ทารกกินนมให้เกลี้ยงเต้ากับจำนวนครั้งของการกระตุ้นดูดนมของทารก จึงควรยึดหลักการดูดนมให้เกลี้ยงเต้าและดูดนมบ่อยๆ เพื่อช่วยให้การสร้างน้ำนมทำได้ดี

?????????? ในขณะที่ทารกดูดนมมารดาจากเต้านมด้านหนึ่ง น้ำนมจากเต้านมอีกข้างมักไหลออกมา เป็นกลไกการหลั่งน้ำนม (let-down reflex) หรืออาจเรียกว่า กลไกน้ำนมพุ่ง (milk ejection reflex) ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนอย่างหนึ่งว่าน้ำนมมารดาน่าจะมีเพียงพอ แต่มารดาบางคนเข้าใจผิดคิดว่าน้ำนมข้างที่กินอยู่เดิมน่าจะมีน้ำนมน้อยแล้ว จึงสลับไปให้นมจากเต้านมอีกข้าง ซึ่งกรณีนี้ทารกจะกินแต่น้ำนมส่วนหน้า ทำให้หิวบ่อย ตื่นบ่อย ยิ่งทำให้มารดาเข้าใจว่าน้ำนมไม่เพียงพอเข้าไปอีก เมื่อทารกกินนมไม่เกลี้ยงเต้า สารยับยั้งการสารน้ำนมที่มีอยู่ในน้ำนมเองจะขังอยู่ในเต้านมส่งผลทำให้การสร้างน้ำนมลดลง กระบวนการนี้จะมีผลต่อการลดการสร้างน้ำนม ทำให้มารดามีน้ำนมลดลงและไม่เพียงพอจริงต่างจากในช่วงแรกที่เป็นเพียงเข้าใจผิดว่าน้ำนมไม่เพียงพอ?