คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีภาวะลิ้นติด

tongue-tie swu

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? โดยทั่วไป หลังจากการคลอด บุคลากรทางการแพทย์จะทำการตรวจร่างกายทารก และตรวจในช่องปากทารก หากพบว่าทารกมีภาวะลิ้นติด จะมีการประเมินเพิ่มเติม คือ ประเมินว่าทารกสามารถเข้าเต้าหรือดูดนมได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ หากมีภาวะลิ้นติดปานกลางถึงมากจะทำให้ยากในการที่จะเข้าเต้าได้อย่างเหมาะสม ทำให้มารดาเจ็บหัวนม หัวนมแตก และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ เต้านมอักเสบหรือฝีที่เต้านม1 อย่างไรก็ตาม การขาดบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญในการประเมินภาวะลิ้นติดส่งผลต่อการขาดการคัดกรองภาวะลิ้นติดในทารกที่ดี ทารกที่มีภาวะลิ้นติดบางคนอาจกลับบ้านไปพร้อมกับมารดาโดยไม่ได้รับการวินิจฉัย แล้วมารดาจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีภาวะลิ้นติด การช่างสังเกตจะช่วยมารดาได้ หากมารดาเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนม เมื่อมารดาสังเกตการดูดนมของลูกแล้ว ลูกดูดเฉพาะหัวนม หลังจากปรับเปลี่ยนท่าที่ให้นมลูกให้ลูกมีโอกาสได้อมหัวนมและลานนมลึกขึ้นแล้ว ยังไม่ได้ผล ลูกยังคงดูดเฉพาะหัวนมและมารดายังเจ็บหัวนมอยู่ ลองสังเกตชณะทารกร้องไห้ หากเห็นพังผืดใต้ลิ้นยึดมาถึงปลายลิ้น แสดงว่าทารกมีภาวะลิ้นติด ซึ่งควรจะกลับไปขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อช่วยประเมินและให้การวินิจฉัยถึงความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดรักษา ซึ่งการผ่าตัดรักษาก็สามารถทำได้ง่ายที่แผนกผู้ป่วยนอก ใช้เวลาราว 5 นาที โดยหลังทำทารกจะเข้าเต้าได้ดีขึ้นและสามารถดูดนมแม่ได้ทันทีโดยไม่ต้องทำการพักฟื้น2

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.

รู้ได้อย่างไรว่า ลูกดูดเฉพาะหัวนม

IMG_2977

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? เมื่อมารดาให้นมลูก การนำลูกเข้าเต้าจะต้องให้ลูกอมหัวนมและลานนมได้ลึก หากมารดามีลานนมไม่กว้าง ขณะทารกดูดนมอาจมองไม่เห็นลานนม แต่ในมารดาที่มีลานนมกว้าง การดูดนมที่เหมาะสมจะเห็นลานนมด้านบนมากกว่าด้านล่าง เนื่องจากการดูดนมของทารกจะเป็นการดูดนมที่ขากรรไกรล่างของทารกจะงับลานนมทางด้านล่างมากว่า เพื่อขยับและไล่น้ำนมจากท่อน้ำนมได้ดีกว่า นอกจากการสังเกตบริเวณลานนมแล้ว หากมารดาเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนม ก็เป็นไปได้ว่าทารกจะดูดนมไม่เหมาะสม คือดูดเฉพาะจากหัวนม การใช้นิ้วที่สะอาดใส่ที่มุมปากทารกให้ทารกอ้าปากคลายหัวนมออก และทำการสังเกตลักษณะของหัวนมก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ โดยหากลักษณะหัวนมมารดาถูกบีบหรือแบนราบ แสดงว่าทารกดูดเฉพาะหัวนม หากหัวนมยังกลม และตั้งเป็นลำที่ดี แสดงว่าทารกดูดอมลานนมได้ลึก ไม่กดหรือดูดเฉพาะหัวนม ดังนั้น การช่างสังเกตและซักถามความรู้สึกของมารดาจะเป็นสิ่งที่ช่วยบ่งบอกการเข้าเต้าที่เหมาะสมของมารดาและทารกได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017

ท่าให้นมนั้น สำคัญไฉน

IMG_2942

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ในการให้นมแม่ หลักการคือต้องการให้ทารกดูดและกลืนน้ำนมได้สะดวกและดี ซึ่งต้องอาศัยการประกบปากแนบชิดสนิทกับเต้านม โดยตำแหน่งของการอมหัวนมและลานนมทางด้านล่างจะมากกว่าทางด้านบน เนื่องจากทารกต้องใช้ลิ้นยื่นออกมา กดหรือรองรับใต้หัวนมบริเวณลานนม คางทารกที่แนบชิดกับเต้านมจะช่วยไล่นมผ่านการหดรัดตัวของลิ้นเป็นคลื่นจังหวะลงในลำคอ ดังนั้น การจัดศีรษะและลำตัวของทารกจึงต้องอยู่ในแนวเดียวกัน เพื่อการกลืนนมที่สะดวกของทารก

? ? ? ? ? ? ? ?ในช่วงแรกที่มารดาและทารกยังขาดประสบการณ์ การจัดท่าให้นมนั้นจะมีความสำคัญ หากบุคลากรทางการแพทย์ให้การสังเกตสรีระของร่างกายของทั้งมารดาและทารก เลือกท่าให้นมที่จะให้ส่งเสริมการอมหัวนมและลานนมได้ลึก ก็จะช่วยให้การเข้าเต้าเป็นไปด้วยดี เช่น หัวนมของมารดามีขนาดใหญ่หรือทารกตัวเล็ก ปากเล็ก การจัดท่าให้นมในท่าฟุตบอล จะช่วยให้การอมหัวนมและลานนมทำได้ลึก ซึ่งจะลดปัญหาการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม มารดาเจ็บหัวนม หรือทารกกินนมได้ไม่เพียงพอได้ แต่เมื่อมารดาและทารกได้เรียนรู้ท่าหรือลักษณะการดูดนมที่เหมาะสมแล้ว การจัดท่าต่าง ๆ ตามความรู้สึกสบายหรือตามความต้องการของมารดาและทารกก็สามารถทำได้โดยง่ายดาย1 เนื่องจากมารดาและทารกได้ทักษะการเข้าเต้าที่ถูกต้องไปแล้ว ระยะเวลาในการปรับตัวนี้อาจไม่เท่ากันในมารดาและทารกในแต่ละคู่ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ มารดาจะเรียนรู้ได้ด้วยตนเองว่าสามารถให้นมลูกได้ด้วยความมั่นใจและรู้สึกสบาย นั่นคือ การผ่านการรับรองว่าสามารถให้นมลูกด้วยท่าใด ๆ ที่เลือกได้เหมาะสมแล้ว

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Laosooksathit W, Hanprasertpong T, Ketsuwan S. Comparison of Breastfeeding Outcomes Between Using the Laid-Back and Side-Lying Breastfeeding Positions in Mothers Delivering by Cesarean Section: A Randomized Controlled Trial. Breastfeed Med 2017;12:233-7.

ให้นมลูกบ่อยแค่ไหนจึงเพียงพอ

IMG_3962

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? โดยทั่วไป ทารกแรกเกิดมักจะกินนมราว 8-12 ครั้งต่อวัน นั่นคือราว 2-3 ชั่วโมงต่อหนึ่งครั้ง ในช่วงแรกหลังคลอดอาจจำเป็นต้องยึดหลักนี้ แต่เมื่อมารดาและทารกได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน มารดาที่อยู่ด้วยกันกับทารกตลอด 24 ชั่วโมงจะสามารถสังเกตอาการที่จะบ่งบอกว่าลูกหิวได้เร็ว ซึ่งการให้นมที่เหมาะสมก็คือการให้นมตามความต้องการของทารก ทารกแต่ละคนอาจมีลักษณะของการกินนมที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่เมื่อเริ่มต้นมักดูดนมในจังหวะที่เร็ว ต่อมาจังหวะของการดูดนมจะช้าลง จังหวะของการดูดนมของทารกจะสลับกับการกลืนนม ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการดูดนมในแต่ละครั้งราว 15-20 นาที แม้ไม่มีสูตรสำเร็จที่จะกำหนดเวลาการกินนมที่แน่ชัดของทารก แต่การติดตามดูการเจริญเติบโตของทารกก็เป็นหนทางหนึ่งที่ใช้ประเมินความเพียงพอในการที่มารดาให้นมแม่แก่ลูก โดยหากลูกเจริญเติบโตได้ตามเกณฑ์ น่าจะแสดงว่าลูกได้รับนมแม่เพียงพอ

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะการให้นมลูกกับภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดพบว่า ทารกที่เริ่มกินนมแม่ช้า เข้าเต้าได้ไม่ดี กินนมแม่น้อยกว่าวันละ 8 ครั้ง และครั้งหนึ่งนานน้อยกว่า 10 นาทีจะสัมพันธ์กับภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด ซึ่งผลก็น่าจะมาจากการที่ทารกกินนมแม่ได้น้อยหรือไม่เพียงพอ สารเหลืองที่อยู่ในขี้เทาในลำไส้ จึงได้รับการขับถ่ายช้า ลำไส้ทารกดูดซึมสารเหลืองกลับเข้ากระแสเลือดได้มาก ทำให้ทารกเกิดภาวะตัวเหลือง1

เอกสารอ้างอิง

  1. Ketsuwan S, Baiya N, Maelhacharoenporn K, Puapornpong P. The association of breastfeeding practices with neonatal jaundice J Med Assoc Thai 2016;99(suppl.8):s36-42.

สิ่งของเครื่องใช้สำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต้องเตรียมไปโรงพยาบาล

IMG_3453

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? เมื่อมารดาได้เลือกโรงพยาบาลที่จะคลอดบุตรแล้ว มารดาได้มาติดตามการฝากครรภ์ตามกำหนด มาอบรมความรู้และการเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดบุตรและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากใกล้วันครบกำหนดคลอด มารดาควรมีการเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นที่จะต้องใช้เมื่อถึงเวลาคลอดบุตรและต้องให้นมลูก โดยมารดาควรเตรียมสิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้ใส่กระเป๋าที่จะนำไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการเจ็บครรภ์คลอด มีมูกเลือด หรือมีน้ำเดิน สิ่งของเครื่องใช้ที่ต้องเตรียม ได้แก่ ผ้าอนามัยชนิดที่มีสายหรือห่วงที่ใช้ใส่หลังคลอดเพื่อการสังเกตติดตามเลือดที่ออกหลังคลอดหรือน้ำคาวปลา ชุดสำหรับทารก ผ้าอ้อม ผ้าเช็ดตัวของมารดาและของทารก ชุดชั้นในที่เหมาะในการให้นมบุตร หมอนรองสำหรับการให้นมบุตร ชุดสำหรับมารดาที่จะใส่กลับบ้าน รวมทั้งเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการแจ้งเกิดของทารก คือ บัตรประจำตัวประชาชนของมารดาและบิดา ทะเบียนสมรส และสำเนาทะเบียนบ้านที่จะใช้สำหรับโอนชื่อทารกเข้าที่บ้าน ซึ่งหากมารดาได้เตรียมความพร้อมโดยจัดกระเป๋าที่มีของใช้และสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นแล้ว เมื่อถึงเวลาที่มารดาเจ็บครรภ์คลอด มารดาและครอบครัวก็จะไม่เครียดและไม่วิตกกังวลในเรื่องการนอนโรงพยาบาล การที่จะให้ลูกกินนมแม่ รวมถึงการแจ้งเกิดทารกตามระเบียบหรือขั้นตอนของโรงพยาบาลและของกระทรวงมหาดไทย