คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การให้นมลูกช่วยลดระดับน้ำตาลของมารดาในระยะหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การที่มารดาให้นมลูกจะช่วยในการลดน้ำหนักให้มารดามีน้ำหนักกลับสู่ระยะก่อนการตั้งครรภ์ได้ดีกว่า เนื่องจากมารดามีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นในระหว่างการให้นมลูก ช่วยป้องกันการตกเลือดหลังคลอดได้ ป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม และยังมีแนวโน้มในการช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดในอนาคตได้ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาถึงเรื่องการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของมารดาที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ในช่วงหนึ่งปีหลังคลอด1 ดังนั้น อาจจะเป็นข้อดีเพิ่มเติมในการที่มารดาให้นมลูกแล้ว จะช่วยลดระดับน้ำตาลในกลุ่มมารดาที่มีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Yasuhi I, Soda T, Yamashita H, et al. The effect of high-intensity breastfeeding on postpartum glucose tolerance in women with recent gestational diabetes. Int Breastfeed J 2017;12:32.

การผ่าตัดคลอดซ้ำยังเสี่ยงต่อการลดการให้ลูกกินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การผ่าตัดคลอดนั้นนอกจากมีความเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอดและภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบที่สูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทำให้ลูกได้นมแม่ช้าหรือไม่ได้กินนมแม่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า การเริ่มต้นการให้ลูกได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกเป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่ออัตราและระยะเวลาการกินนมแม่ในเวลาต่อไป นอกจากนี้ เมื่อมารดาผ่าตัดคลอดไปแล้ว โอกาสที่มารดาจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดซ้ำจะมีสูง ในกรณีที่มารดาผ่าตัดซ้ำ ผลของการผ่าตัดคลอดซ้ำยังคงทำให้มารดามีความเสี่ยงต่อการไม่ได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่ามารดาที่คลอดทางช่องคลอดถึงร้อยละ 761 ดังนั้น อย่าไปยึดติดกับค่านิยมการเลือกเวลาหรือนัดผ่าตัดคลอดตามฤกษ์ การผ่าตัดคลอดควรกระทำเมื่อมีข้อจำเป็นหรือข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนเท่านั้น เพื่อประโยชน์ต่อตัวมารดาเองและเพิ่มโอกาสที่ลูกจะได้กินนมแม่ในระยะแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Wallenborn JT, Graves WC, Masho SW. Breastfeeding Initiation in Mothers with Repeat Cesarean Section: The Impact of Marital Status. Breastfeed Med 2017;12:227-32.

ให้ลูกกินนมแม่นานลดความเสี่ยงในนการเกิดหอบหืดในเด็ก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? นมแม่ช่วยลดการเกิดภูมิแพ้และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของทารกต่อโรคต่าง ๆ ที่มารดาเคยเจ็บป่วยและมีภูมิคุ้มกัน การส่งต่อภูมิคุ้มกันจากมารดาสู่ทารกจะผ่านนมแม่ โดยกระบวนการการกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวในระบบน้ำเหลืองที่อยู่ในลำไส้ทารก เม็ดเลือดขาวของมารดาที่อยู่ในนมแม่จะสื่อสารส่งผ่านข้อมูลของเชื้อโรคที่มารดาเคยได้รับการกระตุ้นและก่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยให้เม็ดเลือดขาวของทารกรู้จักเชื้อโรคเหล่านี้และสามารถสร้างเกราะป้องกันในกรณีที่ได้รับเชื้อโรคเหล่านี้ มีผลทำให้ลดหรือป้องกันการติดเชื้อโรคได้ ขณะเดียวกันการกระตุ้นการทำงานของระบบน้ำเหลืองในลำไส้จะช่วยให้กลไกการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ เข้าที่ ลดการเกิดภูมิแพ้ และการเกิดการทำงานที่สับสนของภูมิคุ้มกันที่อาจทำให้มีภูมิต้านต่อร่างกายตนเอง ด้วยกลไกเหล่านี้ การเกิดภูมิแพ้ หรือภาวะภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจะพบได้น้อยกว่าในทารกที่ได้รับนมแม่ แต่ต้องได้รับนมแม่มากแค่ไหนและนานเท่าไรจึงจะช่วยให้กลไกนี้จัดระบบได้ดี มีการศึกษาถึงผลของการกินนมแม่ต่อการเกิดอาการหอบหืด พบว่าทารกที่กินนมแม่ตั้งแต่ 10 เดือนขึ้นไปจะลดความเสี่ยงในการเกิดอาการหอบหืดในเด็กอายุ 3 ปี โดยยิ่งให้นมแม่นานยิ่งลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหอบหืดมากขึ้น1 ดังนั้น ไม่เพียงแค่ การดูแลให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากหกเดือนแรกไปแล้วยังต้องให้นมแม่ต่อเนื่องร่วมกับอาหารตามวัยจนครบสองปีหรือนานกว่านั้น ก็น่าจะได้รับผลดีที่มีประโยชน์จากนมแม่ได้อย่างเต็มที่

เอกสารอ้างอิง

  1. Watanabe JI, Tanaka K, Nagata C, Furukawa S, Arakawa M, Miyake Y. Breastfeeding duration is inversely associated with asthma in Japanese children aged 3 years. J Asthma 2017:1-6.

 

การกินปลามีประโยชน์แต่อาจเสี่ยงต่อการได้รับสารปรอท

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? การรับประทานปลา เป็นสิ่งที่ได้รับการแนะนำว่า มารดาตั้งครรภ์และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรจะรับประทาน เนื่องจากเนื้อปลาย่อยง่ายและยังเป็นแหล่งของกรดไขมันที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาของสมอง ซึ่งได้แก่ ดีเอชเอ อย่างไรก็ตาม การรับประทานปลาในปัจจุบันต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่จะได้รับสารปรอทที่สะสมอยู่ในปลา1 โดยปริมาณปรอทที่พบขึ้นอยู่กับชนิดของปลา ปลาที่ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะพบสารปรอทมาก ได้แก่ ปลาคิงแมกเคอเรล (King mackerel) ปลาฉลาม ปลาทูน่า ดังนั้น การเลือกรับประทานปลาควรต้องเลือกชนิดของปลาที่รับประทานให้เหมาะสมด้วย โดยสามารถดูปริมาณและชนิดของปลาที่แนะนำให้รับประทานได้จากประกาศขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาปี 2017 โดยค้นคำว่า Advice about eating fish

เอกสารอ้างอิง

  1. Yusa V, Perez R, Suelves T, et al. Biomonitoring of mercury in hair of breastfeeding mothers living in the Valencian Region (Spain). Levels and predictors of exposure. Chemosphere 2017;187:106-13.

การได้กินนมแม่ส่งผลให้วัยรุ่นอ้วนลดลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ก่อนหน้านี้ ได้มีการศึกษาถึงผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อดัชนีมวลกายในทารกที่กินนมแม่ โดยพบว่า ในช่วงวัยเด็ก ทารกที่กินนมแม่จะพบมีภาวะอ้วนน้อยกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ แต่ผลต่อดัชนีมวลกายหรือภาวะอ้วนนั้น จะส่งผลต่อเนื่องไปยาวนานแค่ไหน คำตอบของคำถามนี้อาจเป็นเรื่องที่ตอบลำบาก อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาถึงดัชนีมวลกายของวัยรุ่นที่มีประวัติการกินนมแม่ พบว่าวัยรุ่นที่กินนมแม่มีดัชนีมวลกายเฉลี่ยน้อยกว่าวัยรุ่นที่ไม่ได้กินนมแม่ โดยความสัมพันธ์นี้ขึ้นกับความยาวนานของช่วงระยะเวลาที่กินนมแม่ในวัยทารกด้วย1 ดังนั้น การวางแผนป้องกันภาวะอ้วนของลูก เมื่อเจริญเติบโตขึ้น อาจเริ่มได้ตั้งแต่การสนับสนุนให้ลูกได้กินนมแม่ยาวนานตราบเท่าที่ลูกต้องการ ซึ่งหากป้องกันภาวะอ้วนในลูกได้ ก็นับเป็นการเตรียมการสำหรับสุขภาพที่ดีที่จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. Zamora-Kapoor A, Omidpanah A, Nelson LA, Kuo AA, Harris R, Buchwald DS. Breastfeeding in Infancy Is Associated with Body Mass Index in Adolescence: A Retrospective Cohort Study Comparing American Indians/Alaska Natives and Non-Hispanic Whites. J Acad Nutr Diet 2017;117:1049-56.