คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การชักนำการคลอดส่งผลให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ปัจจุบันเมื่อมารดาอายุครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้ว หากมารดายังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอด การวางแผนการชักนำการคลอดโดยการให้ยากระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดเป็นหนึ่งในวิธีการดูแลการคลอดที่สูติแพทย์มักนิยมให้การดูแลครรภ์ในครรภ์ที่ครบกำหนด สำหรับยาที่ใช้ในการกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอด ได้แก่ พรอสตราแกลนดิน (prostaglandin) และออกซิโทซิน (oxytocin) มีการศึกษาถึงภาวะเครียดและความวิตกกังวลในมารดาที่อายุครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้วได้รับการกระตุ้นการเจ็บครรภ์หรือการชักนำการคลอด พบว่า มารดากลุ่มนี้มีความเครียดและความวิตกกังวลสูงกว่ามารดาที่ไม่ได้รับการชักนำการคลอด และเมื่อติดตามผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า ในระยะแรกหลังคลอดก่อนมารดากลับบ้านอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในกลุ่มที่ได้รับการชักนำการคลอดกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการชักนำการคลอดไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อติดตามต่อในช่วงหนึ่งถึงสามเดือนพบว่ามารดาในกลุ่มที่ชักนำการคลอดมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ1 เป็นไปได้ว่า การชักนำการคลอดรวมถึงความเครียดของมารดาในกลุ่มที่ได้รับการชักนำการคลอด อาจส่งผลลบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Zanardo V, Bertin M, Sansone L, Felice L. The adaptive psychological changes of elective induction of labor in breastfeeding women. Early Hum Dev 2017;104:13-6.

แก๊สดมสลบอาจไม่ส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?เป็นที่ทราบกันดีว่า การให้ยาระงับความรู้สึกและยาแก้ปวดในระหว่างการคลอดส่งผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาและทารก แต่เนื่องจากการปวดในระหว่างการเจ็บครรภ์คลอดสูง การใช้การแพทย์ทางเลือกหลาย ๆ อย่างจึงถูกนำมาใช้ในการลดความเจ็บปวด เช่น การฝังเข็ม การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การนวด สำหรับยาดมสลบในแพทย์แผนปัจจุบัน แก๊สดมสลบเป็นยาระงับความรู้สึกปวดที่ออกฤทธิ์เร็วและหมดฤทธิ์เร็วเช่นกัน จึงมีผู้นำมาศึกษาถึงผลการใช้แก๊สดมสลบ (Nitrous oxide) กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งผลพบว่าช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างเจ็บครรภ์คลอดได้โดยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้ลดลงเมื่อเทียบกับมารดาที่ไม่ได้ใช้แก๊สดมสลบ1 อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังเป็นการศึกษาแบบศึกษาข้อมูลแบบย้อนหลัง (retrospective) ยังมีอคติ (bias) ในการวิจัยได้สูง การจะนำผลการศึกษานี้ไปใช้อาจต้องรอข้อมูลที่มีการควบคุมตัวแปรที่ดีกว่านี้และมีจำนวนขนาดตัวอย่างที่มากเพียงพอ ดังนั้น ในการอ่านข้อมูลต่าง ๆ ควรพิจารณาในข้อเท็จจริงข้อนี้ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Zanardo V, Volpe F, Parotto M, Giiberti L, Selmin A, Straface G. Nitrous oxide labor analgesia and pain relief memory in breastfeeding women. J Matern Fetal Neonatal Med 2017:1-22.

การใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเหมาะสมช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?ในยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ 5 คล้ายกับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิต การเลือกใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้ชีวิตง่ายขึ้น โดยหากมีการใช้โทรศัพท์มือถือในการช่วยเตือน ส่งเสริมสุขภาพรวมทั้งสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ มีการศึกษาถึงการใช้โทรศัพท์มือถือส่งข้อความเตือนและสื่อสารแบบสองทางในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทุกสัปดาห์ช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้นแม้ว่าจะเป็นมารดาในกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวี1 ดังนั้น จะเห็นว่า การใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นประโยชน์สามารถช่วยให้การใช้ชีวิตที่รวดเร็วง่ายขึ้น ยังคงเปี่ยมไปด้วยคุณค่าและความงดงาม โดยดึงเวลาที่เหลือกลับมาใช้กับการรักษ์สุขภาพ สร้างชีวิต ส่งเสริมสิ่งดี ๆ โดยเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อันเป็นคุณค่าที่ดีที่สุดที่ส่งมอบจากแม่สู่ลูก

เอกสารอ้างอิง

  1. Zunza M, Cotton MF, Mbuagbaw L, Lester R, Thabane L. Interactive weekly mobile phone text messaging plus motivational interviewing in promotion of breastfeeding among women living with HIV in South Africa: study protocol for a randomized controlled trial. Trials 2017;18:331.

มารดาอ้วนก่อนการตั้งครรภ์ทำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่สั้นลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ?น้ำหนักมารดาที่มากหรือมีดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ในภาวะอ้วนส่งผลต่อการตั้งครรภ์และการคลอดรวมทั้งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยในระยะฝากครรภ์จะมีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกตัวโตหรือมีน้ำหนักมากเกิน ที่ส่งผลต่อการคลอด ทำให้คลอดยาก ผ่าตัดคลอดสูงขึ้น การตกเลือดหลังคลอดสูงขึ้น ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตั้งแต่อาจมีผลต่อการเจ็บปวดของมารดา หรือมีผลต่อสติสัมปชัญญะของมารดา ทำให้มีผลต่อการเริ่มต้นการให้ลูกดูดนมช้า ซึ่งทำให้น้ำนมมาช้า เสี่ยงต่อการเกิดทารกตัวเหลืองจากทารกกินนมได้ไม่เพียงพอ หรือการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะพบว่าในมารดาที่มีภาวะอ้วนก่อนการตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ในระยะเวลาที่สั้นกว่าร้อยละ 281 ดังนั้น การสื่อสารและเผยแพร่ความรู้ในเรื่องน้ำหนักของมารดาที่อยู่ในเกณฑ์ชองดัชนีมวลกายที่แสดงว่ามารดามีภาวะอ้วนที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การแนะนำการปฏิบัติตัวของมารดา ได้แก่ การควบคุมอาหารหรือออกกำลังกายให้มีสุขภาพที่ดี จะลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สั้นกว่าที่ควรจะเป็นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Boudet-Berquier J, Salanave B, Desenclos JC, Castetbon K. Association between maternal prepregnancy obesity and breastfeeding duration: Data from a nationwide prospective birth cohort. Matern Child Nutr 2017.

ยิ่งกินนมแม่นานยิ่งลดความเสี่ยงที่เด็กจะอ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? กระบวนการในการให้ลูกกินนมแม่จะช่วยฝึกทารกให้รู้จักควบคุมการกินอาหารตามความต้องการ เมื่อลูกหิวลูกต้องออกแรงดูดนม เมื่อลูกอิ่มลูกก็ไม่จำเป็นต้องดูดนม นอนพักอยู่กับอกมารดา ต่างจากการกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งน้ำนมจะไหนได้เร็วโดยทารกแทบจะไม่ต้องออกแรงดูด ทารกจะกินทั้ง ๆ ที่บางครั้งไม่ได้หิว ซึ่งเป็นการฝึกลักษณะการกินที่ไม่เหมาะสม มีการศึกษาพบว่าหากลูกได้กินนมแม่ 1 เดือนจะลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะอ้วนในวัยเด็กได้ร้อยละ 36 ?หากลูกได้กินนมแม่ 6 เดือนหรือนานกว่านั้นจะลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะอ้วนในวัยเด็กได้ร้อยละ 421 แสดงว่า การกินนมแม่ยิ่งนานน่าจะยิ่งลดความเสี่ยงที่เด็กจะเกิดภาวะอ้วนตามกลไกที่ได้อธิบายไว้แล้วในตอนต้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Wang L, Collins C, Ratliff M, Xie B, Wang Y. Breastfeeding Reduces Childhood Obesity Risks. Child Obes 2017;13:197-204.