รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
ทุก ๆ
ครั้งที่ทารกดูดนมจากเต้าจะมีกระตุ้นการหลั่งโปรแลกติน (ฮอร์โมนที่สร้างน้ำนม)
จากต่อมใต้สมองส่วนหน้าและออกซิโตซิน (ฮอร์โมนที่ขับน้ำนมพุ่ง)
จากต่อมใต้สมองส่วนหลัง
ฮอร์โมนออกซิโตซินจะกระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุกล้ามเนื้อที่อยู่รอบ ๆ
ต่อมน้ำนมหดตัว ส่งให้น้ำนมไหลผ่านท่อน้ำนมไปยังหัวนม โดยเรียกกลไกนี้ว่า
กลไกน้ำนมพุ่ง (milk ejection reflex) หรือกลไกการไหลของน้ำนม
(let-down reflex) ซึ่งมารดาอาจสังเกตได้จากการที่มีความรู้สึกคล้ายมีเข็มหมุดหรือเข็มมาสัมผัสที่ในเต้านม
หรือมีระลอกคลื่นของความร้อนผ่านมาจากในเต้านม
ขณะที่มารดาบางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเลย แต่จะสังเกตเห็นน้ำนมหยดออกมาจากหัวนม
เมื่อน้ำนมเริ่มไหล ทารกจะเปลี่ยนวิธีที่ขยับปากในรูปแบบที่มีการเคลื่อนของขากรรไกรที่กว้างขึ้น
และมีการขยับของลิ้นลง ซึ่งจะส่งผลให้ความดันในช่องปากของทารกลดลง
และเกิดการไหลของน้ำนมเพิ่มขึ้น เมื่อมีการไหลของน้ำนม
จะส่งผลให้ทารกเกิดการกลืนเป็นจังหวะอย่างช้า ๆ และอาจได้ยินเสียง “โกวะฮ์ (cuh)” ที่เป็นเสียงจากการกลืนเบา ๆ
โดยที่การกลืนน้ำนมของทารก จะเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีว่าทารกดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ1
เอกสารอ้างอิง
1. Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study
modules, level 1,
fourth edition. In: International
W, ed.2014.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
หลังคลอดบุตร
มารดาจะมีหัวน้ำนมหรือน้ำนมเหลือง โดยปริมาณน้ำนมเหลืองทั้งหมดที่มีในวันแรกแม้จะมีปริมาณน้อย
(40-50 มล.) แต่จะพอดีกับความจุกระเพาะอาหารของทารกแรกเกิดซึ่งมีขนาดเล็กประมาณ 20
มล. (ประมาณ 4 ช้อนชา) หรือ 5 มล. / กก.
น้ำนมปกติจะเริ่มปรากฎในสองสามวันหลังคลอด (การสร้างน้ำนมระยะที่ 2) ไม่ว่ามารดาจะให้ทารกกินนมแม่หรือไม่ แต่การกระตุ้นโดยการดูดนมจากเต้านมของทารกจะช่วยในการสร้างและคงหรือรักษาการสร้างน้ำนม การสร้างนมแม่จะถูกกำหนดโดย “การกินนมของทารก” ซึ่งก็คือ หากทารกหิวจะกระตุ้นโดยการดูดนมนานและทารกจะหยุดการกระตุ้นเมื่อทารกอิ่ม นมแม่จะย่อยง่าย ดังนั้นทารกจึงส่งสัญญาณว่าต้องดูดหรือกินทุก 2-3 ชั่วโมง (บางครั้งบ่อยกว่านั้น) หรืออย่างน้อย 8 ครั้งในทุก 24 ชั่วโมงในช่วงสัปดาห์แรก ๆ แต่ในทารกบางคนอาจมีลักษณะการกินนมถี่หรือกระจุกตัวอยู่ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก และจะกินนมน้อยลงในช่วง 24 ชั่วโมงที่ถัดไป
ขณะที่มารดาให้นมแม่จะมีปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติและฮอร์โมนที่เป็นตัวกำหนดปริมาณน้ำนม การสร้างน้ำนมได้รับอิทธิพลในเชิงบวกจากการดูดนมตั้งแต่ในระยะแรก ดูดนมบ่อย และดูดนมอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับอิทธิพลเชิงลบจะเป็นผลจากการเริ่มทารกดูดนมช้าและดูดนมไม่บ่อยพอ หรือการให้ทารกกินของเหลวหรืออาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่ก่อนทารกอายุหกเดือน1
เอกสารอ้างอิง
1. Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study
modules, level 1,
fourth edition. In: International
W, ed.2014.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
สรีรวิทยาพื้นฐานที่มารดาควรเข้าใจคือ
เรื่องของกลไกการหลั่งน้ำนม โดยในระหว่างการตั้งครรภ์มีฮอร์โมนหลายชนิดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ฮอร์โมนที่มีความสำคัญ ได้แก่ เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรนและโปรแลกติน
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์จะป้องกันไม่ให้โปรแลกตินกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำนม
แต่หลังการคลอดของรก ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดลงอย่างมาก
ในขณะที่ระดับโปรแลกตินยังคงสูงขึ้น นี่คือสัญญาณให้เต้านมเริ่มสร้างและหลั่งน้ำนม
ซึ่งการที่ร่างกายมารดารับรู้ว่าโปรแลกตินสูงขึ้นเกิดจากตัวรับที่จะตอบสนองการทำงานฮอร์โมนโปรแลกตินในเต้านมจะเพิ่มขึ้นในระยะหลังคลอด
สำหรับหัวน้ำนม (colostrum) จะมีการสร้างและมีอยู่ในเต้านมตั้งแต่ช่วงประมาณสัปดาห์ที่
20 ของการตั้งครรภ์ (การสร้างน้ำนมระยะที่ 1)
โดยหัวน้ำนมจะพร้อมที่จะให้ทารกแรกเกิดในช่วงสองสามวันแรกของชีวิตจนกว่าจะมีการสร้างน้ำนมในระยะเปลี่ยนแปลง
และสร้างน้ำสมสมบูรณ์ที่จะมีปริมาณที่มากขึ้น ทารกปกติที่คลอดกำหนดจะเกิดมาพร้อมกับปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติและพฤติกรรมหลายอย่างที่จะช่วยให้มั่นใจว่าทารกแรกเกิดจะมีชีวิตรอดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในมดลูกสู่ชีวิตนอกมดลูก
โดยปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติเหล่านี้ทำให้ทารกแรกเกิดสามารถเริ่มดูดและกินนมได้ทันทีหลังคลอด1
เอกสารอ้างอิง
1. Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study
modules, level 1,
fourth edition. In: International
W, ed.2014.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
โครงสร้างที่สำคัญของเต้านม
ได้แก่ หัวนม ลานนม เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ต่อมน้ำนม (ที่อยู่ที่ปลายท่อน้ำนมที่จะรวมกันเป็นพวง)
ที่ประกอบด้วยเซลล์เยื่อบุกล้ามเนื้อ (myoepithelial cell) ท่อน้ำนม ท่อน้ำเหลือง เอ็นคูเปอร์ (Cooper’s ligament) และไขมัน โดยไขมันจะเป็นตัวกำหนดขนาดและรูปร่างของเต้านม
ขณะเดียวกันก็ใช้สำหรับการสร้างไขมันในน้ำนม จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ทารกที่กินนมจากมารดาที่มีขนาดเต้านมเล็กมีแนวโน้มที่จะกินนมบ่อยกว่าทารกที่กินนมจากมารดาที่มีขนาดเต้านมใหญ่
นอกจากนี้ ประสาทรับรู้สัมผัสที่เริ่มต้นมาจากเส้นประสาทระหว่างซี่โครงที่ 3,
4, 5 และ 6 ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างน้ำนมในช่วงของการตั้งครรภ์เช่นกัน
โดยจะพบว่ามารดาจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของเต้านม ได้แก่ การเจ็บ การคัดตึง
และการขยายตัวของหลอดเลือดบริเวณเต้านมที่เห็นเด่นชัดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์
และในขณะที่อายุขึ้นเพิ่มขึ้นมารดาจะเห็นว่าลานนมจะมีการขยายขนาดและมีสีคล้ำขึ้น
ต่อมมอนต์โกเมอรี (Montgomery’s gland) ซึ่งเป็นตุ่มเล็ก ๆ
ภายในบริเวณลานนมจะเห็นชัดมากขึ้น ซึ่งจะทำหน้าที่หลั่งสารหล่อลื่นที่ช่วยเคลือบและปกป้องหัวนมและลานนม
โดยหัวนมตั้งอยู่ตรงกลางของลานนมและมีรูเปิดท่อน้ำนมประมาณ 5-9 ช่อง
กลีบย่อย (lobules) ในเต้านมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประกอบด้วยต่อมน้ำนม ซึ่งเป็นอยู่กลุ่มคล้ายองุ่นโดยทำหน้าที่ผลิตน้ำนมเพื่อตอบสนองต่อฮอร์โมนโปรแลกติน (prolactin) ต่อมน้ำนมจะถูกล้อมรอบด้วยเซลล์เยื่อบุกล้ามเนื้อ (myoepithelial cell) ซึ่งมีโครงสร้างที่เป็นเส้นที่ขึงอยู่รอบ ๆ ต่อมน้ำนม ซึ่งเซลล์นี้จะตอบสนองต่อฮอร์โมนออกซิโตซินโดยการหดตัวและบีบน้ำนมออกจากต่อมน้ำนม ผ่านท่อน้ำนมไปยังหัวนม1
เอกสารอ้างอิง
1. Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study
modules, level 1,
fourth edition. In: International
W, ed.2014.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
แม้ว่าปกติแล้วร่างกายของมารดาจะผลิตน้ำนมได้ตามธรรมชาติของการดำรงเผ่าพันธุ์
แต่เทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นทักษะที่ได้จากการเรียนรู้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและมีการฝึกฝน
บิดามารดาส่วนมากต้องการการช่วยเหลือโดยการสนับสนุนข้อมูลในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์
และต้องการที่จะทราบโอกาสที่มารดาจะสามารถเข้าเต้าพร้อมกับมีความสามารถในประเมินการกินนมแม่อย่างมีประสิทธิภาพของทารกได้ในระยะหลังคลอด
การช่วยให้บิดามารดามีความรู้และทักษะเหล่านี้จะทำให้ครอบครัวมีความเชื่อมั่นที่จะให้นมลูกด้วยความสบายใจและมีความพร้อมที่จะสัมผัสกับความรู้สึกของการเป็นพ่อแม่ที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ทั้งบิดามารดาจะได้รับ
กุญแจสำคัญในการช่วยเหลือครอบครัวใหม่ที่เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับกายวิภาคพื้นฐานของเต้านม สรีรวิทยาของกระบวนการสร้างและระบายน้ำนม โดยที่การให้ความรู้นี้จะมุ่งเน้นไปที่ศาสตร์ของการให้นมบุตรและทักษะทางคลินิกในทางปฏิบัติที่จะทำให้มารดาสามารถจะเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ พร้อมกับมีการประสานของความรู้ทั้งทางด้านสูติศาสตร์และกุมารเวชศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อจัดการให้การดูแลมารดาในระยะหลังคลอดและทารกแรกเกิด ซึ่งผลของการดูแลนั้นจะกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกและผลลัพธ์ที่ตามมาของความสำเร็จหรือการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับข้อที่ควรคำนึงถึงเสมอเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็คือ “มารดาและทารกเป็นหน่วยเดียวกันทางชีววิทยา เมื่อเกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดกับมารดาก็ย่อมเกิดผลต่อการให้นมทารกด้วยรวมทั้งผลกระทบในทางกลับกัน”1
เอกสารอ้างอิง
1. Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study
modules, level 1,
fourth edition. In: International
W, ed.2014.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)