ความรู้สรีรวิทยาพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการให้นมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สรีรวิทยาพื้นฐานที่มารดาควรเข้าใจคือ เรื่องของกลไกการหลั่งน้ำนม โดยในระหว่างการตั้งครรภ์มีฮอร์โมนหลายชนิดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ฮอร์โมนที่มีความสำคัญ ได้แก่ เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรนและโปรแลกติน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์จะป้องกันไม่ให้โปรแลกตินกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำนม แต่หลังการคลอดของรก ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดลงอย่างมาก ในขณะที่ระดับโปรแลกตินยังคงสูงขึ้น นี่คือสัญญาณให้เต้านมเริ่มสร้างและหลั่งน้ำนม ซึ่งการที่ร่างกายมารดารับรู้ว่าโปรแลกตินสูงขึ้นเกิดจากตัวรับที่จะตอบสนองการทำงานฮอร์โมนโปรแลกตินในเต้านมจะเพิ่มขึ้นในระยะหลังคลอด สำหรับหัวน้ำนม (colostrum) จะมีการสร้างและมีอยู่ในเต้านมตั้งแต่ช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ (การสร้างน้ำนมระยะที่ 1) โดยหัวน้ำนมจะพร้อมที่จะให้ทารกแรกเกิดในช่วงสองสามวันแรกของชีวิตจนกว่าจะมีการสร้างน้ำนมในระยะเปลี่ยนแปลง และสร้างน้ำสมสมบูรณ์ที่จะมีปริมาณที่มากขึ้น ทารกปกติที่คลอดกำหนดจะเกิดมาพร้อมกับปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติและพฤติกรรมหลายอย่างที่จะช่วยให้มั่นใจว่าทารกแรกเกิดจะมีชีวิตรอดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในมดลูกสู่ชีวิตนอกมดลูก โดยปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติเหล่านี้ทำให้ทารกแรกเกิดสามารถเริ่มดูดและกินนมได้ทันทีหลังคลอด1

เอกสารอ้างอิง

1.        Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.