ความรู้กายวิภาคพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการให้นมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

โครงสร้างที่สำคัญของเต้านม ได้แก่ หัวนม ลานนม เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ต่อมน้ำนม (ที่อยู่ที่ปลายท่อน้ำนมที่จะรวมกันเป็นพวง) ที่ประกอบด้วยเซลล์เยื่อบุกล้ามเนื้อ (myoepithelial cell) ท่อน้ำนม ท่อน้ำเหลือง เอ็นคูเปอร์ (Cooper’s ligament) และไขมัน โดยไขมันจะเป็นตัวกำหนดขนาดและรูปร่างของเต้านม ขณะเดียวกันก็ใช้สำหรับการสร้างไขมันในน้ำนม จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ทารกที่กินนมจากมารดาที่มีขนาดเต้านมเล็กมีแนวโน้มที่จะกินนมบ่อยกว่าทารกที่กินนมจากมารดาที่มีขนาดเต้านมใหญ่ นอกจากนี้ ประสาทรับรู้สัมผัสที่เริ่มต้นมาจากเส้นประสาทระหว่างซี่โครงที่ 3, 4, 5 และ 6 ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างน้ำนมในช่วงของการตั้งครรภ์เช่นกัน โดยจะพบว่ามารดาจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของเต้านม ได้แก่ การเจ็บ การคัดตึง และการขยายตัวของหลอดเลือดบริเวณเต้านมที่เห็นเด่นชัดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ และในขณะที่อายุขึ้นเพิ่มขึ้นมารดาจะเห็นว่าลานนมจะมีการขยายขนาดและมีสีคล้ำขึ้น ต่อมมอนต์โกเมอรี (Montgomery’s gland) ซึ่งเป็นตุ่มเล็ก ๆ ภายในบริเวณลานนมจะเห็นชัดมากขึ้น ซึ่งจะทำหน้าที่หลั่งสารหล่อลื่นที่ช่วยเคลือบและปกป้องหัวนมและลานนม โดยหัวนมตั้งอยู่ตรงกลางของลานนมและมีรูเปิดท่อน้ำนมประมาณ 5-9 ช่อง

กลีบย่อย (lobules) ในเต้านมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประกอบด้วยต่อมน้ำนม ซึ่งเป็นอยู่กลุ่มคล้ายองุ่นโดยทำหน้าที่ผลิตน้ำนมเพื่อตอบสนองต่อฮอร์โมนโปรแลกติน (prolactin) ต่อมน้ำนมจะถูกล้อมรอบด้วยเซลล์เยื่อบุกล้ามเนื้อ (myoepithelial cell) ซึ่งมีโครงสร้างที่เป็นเส้นที่ขึงอยู่รอบ ๆ ต่อมน้ำนม ซึ่งเซลล์นี้จะตอบสนองต่อฮอร์โมนออกซิโตซินโดยการหดตัวและบีบน้ำนมออกจากต่อมน้ำนม ผ่านท่อน้ำนมไปยังหัวนม1

เอกสารอ้างอิง

1.        Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.